ถนนยนตรการกำธร : ซื่อนี้มีที่มา
ถนนยนตรการกำธรคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 406เมื่อแรกสร้างมีต้นทางที่สถานีรถไฟควนเนียง จังหวัดสงขลา และมีปลายทางที่ด่านศุลกากรเกาะนก จังหวัดสตูล ระยะทาง กว่า 90กิโลเมตร ใช้เวลาก่อสร้างนานนับสิบปี เพราะการสร้างทางสมัยก่อนนั้น ไม่มีเครื่องจักรที่มีความสามารถเท่าปัจจุบัน เครื่องจักรกลแต่ละชิ้นใหญ่เทอะทะ ทำงานช้า และต้องซ่อมแซมบ่อย การทำทางบางตอนต้องบุกเบิกไปตามป่าเขา ซึ่งเคยเป็นทางเดินเท้าแคบๆที่ผู้คนใช้สัญจรมาแต่เดิม ภารกิจควบคุมงานตลอดระยะเวลาสร้างทางสายนี้ อยู่ในความรับผิดชอบของ ขุนยนตรการกำธร นายช่างสร้างทางของกรมทาง กระทรวงคมนาคม มีต้นสังกัดอยู่ที่มณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา
ขุนยนตรการกำธรมีชื่อตัวว่า “มล” ภูมิลำเนาเดิมเป็นชาวยะลา เรียนวิชาช่างโยธามาจากที่นั่น เช่นเดียวกับนายมิตร บุญปถัมภ์ ช่างโยธาลูกน้องของท่าน เมื่อมาสร้างทางสายควนเนียง-สตูล ทีมช่างและคนงานต้องสร้างค่ายพักอาศัยตามป่าเขาเคลื่อนย้ายไปตามทางที่สร้างนานหลายปี กว่าทางจะเสร็จ
การสร้างทางเริ่มจากหน้าสถานีรถไฟควนเนียง ตัดมายังคูหา รัตภูมิ ท่าชะมวง นาสีทอง เขาพระ เขาสอยดาว คลองกั่ว ทุ่งนุ้ย ช่วงที่ถึงทุ่งนุ้ย นายมิตร บุญปถัมภ์ ลูกน้องของท่านได้พบรักกับสาวมุสลิมเชื้อสายจีนชื่อนางสาวแม๊ะ มรรคาเขต ซึ่งมีมารดาเป็นคนจีน ทั้งสองได้แต่งงานกันตามประเพณีอิสลาม และมีบุตรสาวด้วยกันหนึ่งคนชื่อเด็กหญิงละม่อม บุญปถัมภ์
เดือนธันวาคมปี 2459ระหว่างที่กำลังสร้างทางสายควนเนียง-สตูลนั้น ขุนยนตรการกำธรได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขนานนามสกุลตามชื่อทวดของขุนยนตรการกำธร ซึ่งมีชื่อว่า”โต๊ะหร่น” นามสกุลนั้นคือ “รณะนันทน์” ทรงสะกดเป็นภาษาอังกฤษว่า “Ranananda”
ทางกว่า 90กิโลเมตรสร้างเสร็จสมบูรณ์ถึงด่านศุลกากรเกาะนกเมื่อกลางปี 2466เป็นถนนดินอัดแน่นเรียบ บางตอนใช้ช้างลากเครื่องบดถนน บางตอนใช้รถบดเครื่องจักรไอน้ำ ถนนส่วนใหญ่ใช้แรงงานมนุษย์ถางป่า และช่วยทุบหินให้ละเอียดเพื่อให้”รถบด” อัดหินก้อนเล็กนั้นให้แน่นเป็นเนื้อเดียวไม่ร่วนซุย ถนนยาวเกือบร้อยกิโลเมตรไม่มีช่วงไหนราดยางหรือเทคอนกรีต
แต่ปีที่สร้างทางเสร็จช่างมิตร บุญปถัมภ์ ก็หย่ากับนางแม๊ะภรรยาชาวทุ่งนุ้ย เมื่อพ่อแม่แยกทางกัน เด็กหญิงละม่อม บุญปถัมภ์ อยู่ในความอุปการะของขุนยนตรการกำธรผู้บังคับบัญชาของบิดา ซึ่งเลี้ยงเธอมาเหมือนลูกคนหนึ่งทั้งที่”ขุนยนตร์”ก็มีครอบครัวมีบุตรธิดาของตนเองแล้ว
หลังจากยกเลิกระบบมณฑลเทศาภิบาลในปี 2475-2476ได้มีการจัดตั้งเขตการทางสงขลาในปี 2480ขุนยนตรการกำธรได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงยนตรการกำธร (มล รณะนันทน์ ) ได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาเขตการทางสงขลาตั้งแต่ปี 2480จนเกษียณอายุราชการในปี 2490
ปลายปี 2493ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป พิบูลสงคราม* รัฐบาลมีแนวคิดตั้งชื่อถนนต่างๆตามชื่อนายช่างผู้สร้าง จึงมีการตั้งชื่อทางหลวง 44สาย ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา** ตัวอย่างชื่อทางหลวงที่เรารู้จักกันดี ได้แก่
1ทางหลวงสายกรุงเทพ - ชลบุรี-ระยอง-ตราด ตั้งชื่อว่า “ถนนสุขุมวิทย์” ตามราชทินนามของ พระพิศาลสุขุมวิทย์ ( ประสพ สุขุม) อดีตอธิบดีกรมทาง ในราชกิจจานุเบกษาสะกด”สุขุมวิทย์” แต่ปัจจุบันสะกดเป็น”สุขุมวิท”
2ทางหลวงสายกรุงเทพ-หาดใหญ่ ตั้งชื่อว่า “ถนนเพชรเกษม” ตามราชทินนามของหลวงเพชรเกษมวิถีสวัสดิ์ ( แถม เพชรเกษม ) อดีตอธิบดีกรมทาง
3ทางหลวงสายมีนบุรี - ฉะเชิงเทรา - ปราจีนบุรี ชื่อ”ถนนสุวินทวงศ์”เพื่อเป็นเกียรติแก่นายเกษม สุวินทวงศ์ นายช่างกำกับเขตการทางปราจีนบุรี
4ทางหลวงสายนนทบุรี - ปากเกร็ด - ปทุมธานี ตั้งชื่อว่า “ถนนติวานนท์” ตามนามสกุลของ ขุนชิดชาญตรวจ (เชี่ยวชาญ ช ติวานนท์)อดีตนายช่างกำกับเขตการทางกรุงเทพ
5ทางหลวงสายอนุสาวรีย์หลักสี่ - ปากเกร็ด ตั้งชื่อว่า “ถนนแจ้งวัฒนะ” เป็นเกียรติแก่นายชลอ แจ้งวัฒนะ นายช่างกำกับแขวงการทางกรุงเทพที่ 2
6ทางหลวงสายบางเขน - นนทบุรี ตั้งชื่อว่า “ถนนงามวงษ์วาน” เพื่อเป็นเกียรติแก่นายดำรง งามวงษ์วาน อดีตช่างกำกับหมวดการทางนนทบุรี
7ทางหลวงสายปัตตานี - ยะลา ตั้งชื่อว่า “ถนนสิโรรส”เพื่อเป็นเกียรติแก่นายสุบิน สิโรรสนายช่างแขวง
8ทางหลวงสาย เด่นไชย - แพร่ - น่าน ตั้งชื่อว่า “ถนนยันตรกิจโกศล” ตามราชทินนามของหลวงยันตรกิจโกศล (วารี ยันตรกิจโกศล ) นายช่างกำกับแขวงการทางแพร่
9ทางหลวงสายยะลา - เบตง ตั้งชื่อ”ถนนสุขยางค์”ตามนามสกุลของพระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์ ) อดีตนายช่างทางเอก
10ทางหลวงสายสงขลา-สะเดา ตั้งชื่อว่า “ถนนกาญจนวณิชย์ ” ตามนามสกุลของ พระยาประกิตกลศาสตร์ ( ประกิต รณชิต กาญจนวณิชย์ ) อดีตนายช่างทางสงขลา
และทางหลวงหมายเลข 406สายควนเนียง - สตูล ตั้งชื่อว่า “ถนนยนตรการกำธร” ตามราชทินนามของหลวงยนตรการกำธร ( มล รณะนันทน์ )*** นายช่างผู้ก่อสร้าง
ข้อมูลส่วนตัวของหลวงยนตรการกำธร (มล รณะนันทน์)นั้นหายากมาก ทั้งหมดมาจากคำบอกเล่าของครูละมัย (สกุลสันต์) สัสดี มารดาของ ”โฟล์ค” - กำพลศักดิ์ สัสดี ฮีโร่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน และหนึ่งในทีมบุกเบิกการท่องเที่ยว”เขาบอฆ้ะ”ของชาวควนโดน ครูละมัยเป็นบุตรสาวของ เด็กหญิงละม่อม บุญปถัมภ์ บุตรบุญธรรมของหลวงยนตรการกำธร ผู้ซึ่งเมื่อโตเป็นสาวได้แต่งงานกับครูสมบูรณ์ สกุลสันต์ ชาวควนโดน
โฟล์ค-กำพลศักดิ์ สัสดีจึงมีศักดิ์เป็น”เหลน”ของหลวงยนตรการกำธร (มล รณะนันทน์) นายช่างผู้สร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 406ซึ่งปัจจุบันได้ขยายเส้นทางไปถึงปากทางเข้าด่านศุลกากรตำมะลัง มีระยะทางรวม 99.890กิโลเมตร
—————————————
*เป็นรัฐบาล จอมพล ป พิบูลสงคราม ชุดที่ 4 (28มิถุนายน 2492 - 29พฤศจิกายน 2494)
**ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 17ลงวันที่ 12ธันวาคม 2493 (ดูรายละเอียดทั้งหมดในภาพที่ 11 - 18ของโพสต์นี้ )
***ทางหลวงหมายเลข 406มีระยะทางรวม 99.890กิโลเมตร ช่วงจากควนเนียงมาถึงเชิงสะพานตายายฝั่งทิศเหนือซึ่งอยู่ในเขต ตำบลคลองขุด มีชื่อว่าถนนยนตรการกำธร จากเชิงสะพานตายายฝั่งทิศใต้อยู่ในเขตตำบลพิมาน อำเภอเมืองจังหวัดสตูลมีชื่อว่า ถนนสตูลธานี สิ้นสุดที่สามแยกวงเวียนมังกรหน้าศาลเจ้าโป้เจ้เก้ง เลี้ยวขวามีชื่อว่าถนนสมันตประดิษฐ์ ระยะทางประมาณร้อยเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปด่านศุลกากรเกาะนก ช่วงนี้มีชื่อว่าถนนศุลกานุกูล ระยะทางประมาณ 3กิโลเมตร
—————————————
ขอขอบพระคุณ : คุณครูละมัย สัสดี ผู้ให้ข้อมูลครอบครัว