ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 55' 24.7303"
13.9235362
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 23' 40.9618"
100.3947116
เลขที่ : 196683
ข้าวอีกา (เปิงคะด็อจก์)
เสนอโดย นนทบุรี วันที่ 9 มิถุนายน 2565
อนุมัติโดย นนทบุรี วันที่ 9 มิถุนายน 2565
จังหวัด : นนทบุรี
0 340
รายละเอียด
"เปิงคะด็อจก์”คือชื่อในภาษามอญ จัดเป็นอาหารหวานที่น่าจะเรียกว่าขนมสิ้นคิดหรือขนมจนตรอกก็ได้ ทำนองว่าอยากกินของหวานแก้เลี่ยนหรือเพราะปากว่าง หันซ้ายแลขวาไม่มีอะไร เห็นข้าวสาร มะพร้าว และน้ำตาลในครัวก็ลงมือทันทีใครหุงข้าวได้ต้องทำ "เปิงคะด็อจก์” เป็นแน่นอน
เริ่มกันตั้งแต่ตวงข้าวสารลงหม้อ ซาวให้สะอาด เติมกะทิลงไป กะน้ำให้มากเท่าๆ กับการหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ หากใครคุ้นเคยกับการหุงข้าวด้วยหม้อไฟฟ้าที่ไม่ต้องเช็ดน้ำ ก็กะให้น้ำกะทิมากกว่าข้าวสัก 3 เท่า บางคนมีข้าวสุกเหลือมาก จะเอาข้าวสุกมาทำก็จะเป็นการย่นระยะเวลา บางคนใช้วิธีต้มข้าวสารกับน้ำแต่น้อยก่อนพอเมล็ดข้าวบานค่อยเติมกะทิลงไป วิธีนี้จะสะดวกตรงที่ไม่ต้องคอยกวน เพราะหากต้มกับกะทิตั้งแต่แรกจะต้องคอยกวน ไม่เช่นนั้นกะทิจะจับตัวไหม้อยู่ก้นหม้อ ดังนั้นตั้งแต่ข้าวเดือดจึงต้องหมั่นเอาพายกวน เคี่ยวจนแห้ง กะให้ข้าวเละกว่าข้าวต้ม เวลาเคี้ยวไม่รู้สึกเป็นเม็ด แต่ไม่ต้องถึงกับเป็นโจ๊ก เหยาะเกลือเล็กน้อยให้รสเค็มพอปะแล่ม ยกลงเทใส่ถาด เกลี่ยให้เรียบ ทิ้งไว้จนเย็น เมื่อข้าวจับตัวเป็นก้อน ใช้มีดหรือช้อนตักใส่ชาม ส่วนวิธีของคนขี้เกียจ หลังกวนได้ที่แล้วยกลงจากเตาปล่อยมันเอาไว้คาหม้ออย่างนั้น ใครจะกินเละแบบโจ๊กก็ตักเอาไปกินทั้งยังร้อน ใครอยากกินเป็นก้อนก็รอตักเมื่อเย็นปัจจุบัน คนมอญในเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ยังนิยมทำ "เปิงคะด็อจก์" เลี้ยงแขกในงานศพ โดยเฉพาะศพเด็กที่อายุไม่เกิน 12 ขวบ เว้นแต่การตายโหง โดยจะไม่ทำพิธีเกี่ยวกับศพอื่นใด มีเพียงการใส่บาตรกรวดน้ำให้เท่านั้น ด้วยมอญถือว่าการตายในวัยเด็กนั้นไม่สมควร เรียกว่า "ตายไม่ดี” ถ้าในกรณีคนแก่คนเฒ่าป่วยตาย ถือว่า "ตายดี” คืนวันแรกของการตายก็จะมีการทำ เปิงคะด็อจก์ และมักแจกเด็กมากกว่า ผู้ใหญ่ไม่นิยมกิน และขนมอย่างนี้จะทำกินกันกันอีกทีก็ในงานทำบุญครบปี ในบางแห่งนิยมทำกินในวันเด็กทารกคลอด ซึ่งในกรณีที่มีเด็กเกิดใหม่ พ่อแม่จะต้องทำอาหารเลี้ยงแขกเหรื่อญาติพี่น้องติดต่อกัน 3 วันเลยทีเดียว อาหารแต่ละวันไม่ซ้ำกัน
วันแรก "เปิงคะด็อจก์” (คงเนื่องจากคนเจ็บท้องเอาแน่ไม่ได้ เด็กอาจคลอดฉุกละหุก ส่วนผสมที่หาได้ง่ายๆ ในครัว วันถัดมาค่อยหาของดีๆ เลี้ยงแขก)
วันที่ 2 "ผะนิมผะเจิ่ก” เป็นข้าวต้มใส่เครื่องหลายอย่าง ไม่นิยมใช้เนื้อสัตว์อย่างอื่น นอกจากเป็ดหรือไก่ โรยหน้าด้วยต้นหอม ผักชี
วันที่ 3 "อะลอญย์กอสะเปรี่ย” (ข้าวเหนียวนึ่งคลุกมะพร้าว กินกับน้ำตาล)
"เปิงคะด็อจก์" ของมอญเมืองมอญจะมีลักษณะข้นกว่าโจ๊ก บางรายอาจใส่มะพร้าวขูดลงไปขณะกวนด้วยจะทำให้เคี้ยวมัน อร่อยยิ่งขึ้น สุกแล้วเทลงบนใบตอง โรยน้ำตาล งาดำ ปล่อยแห้งตัดแบ่งกันกิน

โอกาสในการกิน "เปิงคะด็อจก์" ของมอญเมืองมอญสอดคล้องกับมอญเมืองไทย (แถมทำกินเล่นได้ด้วย) ที่จะทำกินเฉพาะงานศพ แต่ของมอญเมืองไทยเป็นงานศพทั่วไป ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นเด็กเท่านั้น
จำได้ว่า ตอนเด็กๆ เวลาที่บ้านไม่มีอะไรจะกิน ก็จะนึกถึง "เปิงคะด็อจก์" เป็นสิ่งแรก และคนแถวบ้านทั้งคนไทยและคนมอญเวลาเรียกมันด้วยภาษาไทยจะเรียกมันว่า "ข้าวอีกา"
ไม่รู้ว่าทำไมเรียก "ข้าวอีกา” ทั้งที่ไม่มีอะไรสีดำเลย พอทำเสร็จหน้าตาขาวจั๊วะ ยิ่งสมัยก่อนงาก็ไม่ใส่ คนยุคหลังมาใส่กันเพราะจะได้มีสีสัน เพิ่มความหอม แต่ชื่อ "ข้าวอีกา” นี้เรียกกันมานานแสนนาน ไม่เกี่ยวกับ "งา” อย่างแน่นอน ถามผู้หลักผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครตั้งใจตอบ
สมัยนี้ ทั้ง "เปิงคะด้อจก์" และ "ข้าวอีกา" หายไปจากหมู่บ้านผู้เขียนนานโขแล้ว และมาคิดหาคำตอบเอาตอนโต น่าเชื่อว่า ชื่อที่ต่างกันอยู่ตรงคำเรียกระหว่างภาษามอญกับภาษาไทย เนื่องจากคนมอญเรียกว่า เปิงคะด็อจก์ ซึ่งมีความหมาย ดังนี้ เปิง แปลว่า ข้าว คะด็อจก์ แปลว่า ทำให้ป่น แหลก ละเอียดเชื่อว่าคนมอญยุคหลังๆ จำนวนมากไม่รู้ภาษาเขียน เด็กรุ่นใหม่ยิ่งพูดไม่ชัด ไม่รู้ที่มาที่ไป คงจะฟังเพี้ยนจาก "คะด็อจก์" เป็น "คะด้าจก์" (หรือจงใจเรียกให้เพี้ยนแบบเด็กๆ คุยเล่นสนุกกัน) พอเข้าใจว่าขนมชนิดนี้เรียกว่า "คะด้าจก์" เสียแล้ว เวลามีคนมาถามคำแปลก็คงแปลให้ว่า "อีกา” ขนมชนิดนี้ในภาคภาษาไทยจึงกลายเป็น "ข้าวอีกา” ทั้งที่มันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับอีกา หรือ คะด้าจก์ ตัวดำๆ แม้แต่นิดเดียว
ที่มา :https://www.facebook.com/RamannMon/posts/2524685174272986/
หมวดหมู่
ชาติพันธุ์
สถานที่ตั้ง
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนนทบุรี
จังหวัด นนทบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
https://www.facebook.com/RamannMon/posts/2524685174272986/
บุคคลอ้างอิง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด นนทบุรี อีเมล์ nontculture@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนนทบุรี อีเมล์ nontculture@gmail.com
จังหวัด นนทบุรี รหัสไปรษณีย์ 11000
โทรศัพท์ 025801348 โทรสาร 025802764
เว็บไซต์ www.m-culture.go.th/nonthaburi
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่