แกงบวนเป็นแกงแบบโบราณ ทำโดยตำเครื่องแกงอันมีกะปิเผา หอมเผา กระเทียมเผา ข่าเผา ตะไคร้ พริกไทย ปลาสลาดแห้งป่นให้ละเอียด เอาละลายในน้ำคั้นใบมะตูม ใบตะไคร้ และใบผักชีผสมกัน ตั้งไฟจนเดือด ใส่หมูสามชั้น และเครื่องในหมูต้มหั่นชิ้นใหญ่ๆ เคี่ยวไปจนนุ่ม ปรุงรสให้หวานนำเค็มตาม พอเปื่อยได้ที่ น้ำข้นดีแล้ว จึงเติมใบมะกรูดฉีก ตะไคร้ซอย พริกชี้ฟ้าหั่นแว่น จากนั้นก็ตักใส่ชาม โรยผักชี
แกงแบบนี้ไม่ได้ทำกินกันเป็นปรกติสามัญ เพราะสำหรับชาวบ้าน การจะได้กินหมูในสมัยก่อนเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก นอกจากจะมีงานบุญในวาระต่างๆ หรือช่วงเทศกาลสำคัญ ที่มีการล้มสัตว์ใหญ่เพื่อทำอาหารเลี้ยงพระเลี้ยงคนจำนวนมากเท่านั้น
นอกจากนี้ การเตรียมเครื่องในหมูให้สามารถเอามาปรุงกับข้าวได้ ตั้งแต่ล้างอย่างมีขั้นตอนกระบวนการอันซับซ้อน จนถึงต้มตุ๋นให้เปื่อย ก็ไม่ใช่เรื่องหมูๆ จำต้องมีเคล็ดลับ ฝีมือ และมีลูกมือมากพอ การปรุงแกงบวนแต่ละครั้งในสมัยก่อนจึงไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ เสียเมื่อไร
งานวิจัยเรื่อง อาหารชาติพันธุ์ชาวไทยเขมรจังหวัดสุรินทร์ ของ คุณสมนึก รัตนกำเนิด (สถาบันราชภัฏสุรินทร์, 2542) ถึงกับระบุว่า "…หากงานแต่งงานรายใดมีแกงบวนเป็นอาหารคาว จะถือว่าเป็นงานแต่งงานที่ยิ่งใหญ่มาก เนื่องจากแกงบวนมีวิธีการทำที่ยุ่งยากซับซ้อน…”ที่มา : https://www.silpa-mag.com/from-the-fingertip/article_9604