๑. ชื่อข้อมูลวัดโพธิ์ชัย
๒. รายละเอียดข้อมูล
๒.๑ ประวัติความเป็นมา/สภาพทั่วไป
ประวัติความเป็นมา
วัดโพธิ์ชัย เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญของชุมชนบ้านหนองหนาว ตั้งอยู่เลขที่ 116 บ้านหนองหนาว หมู่ที่ ๒ตำบลหนองบัว อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2439 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๔ เมตร ยาว ๘ เมตร
การบริหารการปกครองตามที่ปรากฏในเอกสารหลักฐาน วัดโพธิ์ชัยมีเจ้าอาวาสปกครองตามลำดับ ดังนี้
รูปที่ 1 พระครูพุทธวงศ์ ปกครอง พ.ศ. 2456 - 2478
รูปที่ ๒ พระแก้ว ขนฺติธโร ปกครอง พ.ศ. 2479 - 2482
รูปที่ 3 พระศรี เขมวณฺโณ ปกครอง พ.ศ. 2484 - 2498
รูปที่ 4 พระสุ สุวโจ ปกครอง พ.ศ. 2500 - 2506
รูปที่ 5 พระไข ฐานุตฺตโม ปกครอง พ.ศ. 2507 - 2518
รูปที่ 6 พระมงคลสมณคุณ (ล้วน กลฺยาณคุโณ) ปกครอง พ.ศ. 2534 - 2561
รูปที่ ๗ พระครูโพธิชัยกิจ (สมทรัพย์) ปกครอง พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน
หนังสืออ้างอิง : อัตชีวประวัติ พระครูมงคลสมณคุณ (ปู่ล้วน กัลฺยาณคุโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย บ้านหนองหนาว ตำบลหนองบัว อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร โดย อาจารย์อนุชา พละกุล รวบรวม และเรียบเรียง หน้า 8 - 9
สภาพทั่วไป
วัดโพธิ์ชัยตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านหนองหนาวซึ่งเป็นที่ราบ ด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก เป็นบ้านเรือนราษฎร ด้านทิศตะวันออกและด้านทิศใต้เป็นพื้นที่นา ห่างจากอ่างเก็บน้ำห้วยชะโนดมาทางทิศตะวันออก ประมาณ ๕๐๐ เมตร มีลำห้วยชะโนดไหลผ่านทางทิศใต้ของพื้นที่ บริเวณวัดมีกำแพงล้อมรอบพื้นที่ประมาณ ๔ ไร่ ๒ งาน ภายในบริเวณวัดมีสิ่งก่อสร้างสำคัญ ได้แก่ อุโบสถ อาคารปริยัติธรรม ศาลาการเปรียญ หอระฆัง ศูนย์เด็กเล็ก กุฏิสงฆ์
๒.๒ เส้นทางเข้าถึง
ออกเดินทางจากอำเภอดงหลวง ไปทางทิศเหนือตามเส้นทางหมายเลข ๒๑๐๔ ระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร เลี้ยวขวาบริเวณสามแยกตามเส้นทาง ๒๑๐๔ ต่อไปอีกระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร จะถึงสี่แยกบ้านน้ำบ่อ เลี้ยวขวาไปทางบ้านหนองหนาวระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร จะถึงสี่แยกบ้านหนองหนาว ตรงเข้าไปในหมู่บ้าน ประมาณ ๓๐๐ เมตร วัดโพธิ์ชัยจะตั้งอยู่ทางซ้ายมือของถนนหมู่บ้าน
๒.๓ เสนาสนะที่สำคัญ
อุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๓ ห้อง ด้านหน้าหันไปทาง ทิศตะวันตก มีบันไดทางขึ้นผายออก ทำราวบันไดเป็นพญานาคทั้ง ๒ ข้าง ส่วนฐานเป็นชุดฐานบัวงอนลูกแก้วอกไก่ ประตูอุโบสถทำด้วยไม้ ๒ บานเปิดเข้า เหนือกรอบประตูมีป้ายข้อความระบุ “สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ บูรณะครั้งที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑” เหนือขึ้นไปทำเป็นซุ้มปีกกาเชื่อมระหว่างช่วงเสา หน้าบันอุโบสถด้านหน้า ทำพระพุทธรูปปูนปั้นนูนต่ำประทับนั่งขัดสมาธิพนมมือบนดอกบัว สองฝากข้างทำเป็นนาคเกี้ยว หัวเสาทำเป็นกลีบบัวแวง ทาด้วยสีทอง ผนังด้านข้างอุโบสถจำนวน ๓ ช่วงเสา โดยช่วงเสาที่ ๑ และ ๓ ทำเป็นช่องแสง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กเรียงต่อกัน ๓ ช่องในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กเรียงต่อกัน ๓ ช่องในกรอบสี่เหลี่ยม เหนือช่องแสงทำเป็นซุ้มปีกกาเชื่อมระหว่างเสา ส่วนช่วงเสาที่ ๒ ทำเป็นช่องหน้าต่างไม้แบบ ๒ บานเปิดเข้า เหนือกรอบหน้าต่างทำเป็นซุ้มปีกกาทำเป็นซุ้มปีกกาเชื่อมระหว่างช่วงเสา เสาทุกต้นมีคันทวยรูปนาครองรับแปหัวเสา ผนังด้านหลังก่อปิดทึบ ส่วนหน้าบันด้านหลังทำปูนนูนต่ำรูปอมนุษย์คายนาคเทินเรือบรรทุกต้นไม้ทอง สองฝากข้างทำเป็นรูปนาคเกี้ยวทาด้วยสีทอง หัวเสาทั้งสองมุมทำบัวแวงทาสีทอง ส่วนหลังคา เป็นเครื่องไม้ มุงแป้นเกล็ดไม้ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แบบภาคกลางประดับ
อาคารปริยัติธรรม (หลังเก่า)เป็นอาคารทรงแปดเหลี่ยมชั้นเดียวใต้ถุนสูง วางตัวยาวตามแนวทิศตะวันออก - ตะวันตก มีบันใดทางขึ้นที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนใต้ถุนยกพื้นเตี้ย ๆ ระหว่างช่วงเสาทำเป็นวงโค้งทุกช่วงเสา ประตูทางขึ้นชั้นบนชำรุดทั้งสองด้าน สันนิษฐานว่าเป็นไม้ เหนือกรอบประตูด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีข้อความระบุ “เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๓” ส่วนหน้าอาคารทุกช่วงเสาทำเป็นวงโค้ง มีราวระเบียง เหนือวงโค้งทำคิ้วบัวโค้งตามแนววงโค้งทุกช่วงเสา พื้นอาคารปูด้วย ไม้กระดาน ส่วนหลังของอาคารก่อกำแพงกั้นเป็นห้อง ผนังด้านหลังอาคารทุกช่วงเสาเจาะทำหน้าต่างไม้ แบบ ๒ บาน เปิดออก หัวเสาทำเป็นบัวแวงทาสีน้ำเงินสลับสีน้ำตาลประดับ ตัวอาคารทาสีเหลือง ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงปั้นหยา ปัจจุบันมุงสังกะสี
๓. คำสำคัญวัดโพธิ์ชัย อาคารปริยัติทรงแปดเหลี่ยม อุโบสถวัดโพธิ์ชัย
๔. สถานที่ตั้งวัดโพธิ์ชัย ตั้งอยู่หมู่ ๒ บ้านหนองหนาว ตำบลหนองบัว อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
๕. ผู้ให้ข้อมูลพระสว่าง กันตสีโล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย บ้านหนองหนาวตำบลดงหลวง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
๖. หนังสืออ้างอิงหนังสือรายงานสำรวจแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานในจังหวัดมุกดาหาร โครงการสำรวจและขุดค้นโบราณคดีเพื่อศึกษาแหล่งผลิตกองมโหระทึกในพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงตอนกลาง ปี พ.ศ.๒๕๕๖ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม หน้า ๒๑๙ – ๒๒๒