๑. ชื่อข้อมูลวัดพระพุทธบาทดงหลวง
๒. รายละเอียดข้อมูล
๒.๑ ประวัติความเป็นมา/สภาพทั่วไป
ประวัติความเป็นมา
วัดพระพุทธบาทดงหลวง เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ตามประวัติเชื่อว่าตั้งมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๑๐ – ๒๔๒๐ นับเป็นวัดที่มีความสำคัญอีกวัดหนึ่งของชุมชนบ้านโพนสว่าง โดยเฉพาะการมีรอยพระพุทธบาท ๕ รอย สลักบนลานหิน นับว่าเป็นพุทธสถานสำคัญในศาสนาพุทธ นายด้วง เชื้อคำฮด อายุ ๖๐ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๖๕ หมู่ ๖ บ้านโพนสว่าง ตำบลพังแดง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ได้ให้ข้อมูลว่า บริเวณวัดพระพุทธบาทดงหลวง เดิมทีเป็นสถานที่ที่ผู้แสวงหาความสงบแวะเวียนกันมาพำนักปฏิบัติธรรมเป็นครั้งคราว เนื่องจากบริเวณนั้นมีถ้ำเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่มีความสงบเหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม ท่านแรก ที่ทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นที่รู้จักของชาวบ้านและเริ่มมีการพัฒนาเรื่อยมา คือ ตาผ้าขาวบุญมา ต่อมาถ้ำดังกล่าวได้ถูกปิดลงโดยธรรมชาติ แต่ก็มีการสร้างเสนาสนะขึ้นมาเพื่อเป็นที่พำนักปฏิบัติธรรมของผู้แสวงหาความสงบเรื่อยมา กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ได้ตั้งเป็นวัด โดยมีเจ้าอาวาสเท่าที่จำได้ คือ หลวงพ่อผุย พระครูสิม พระอาจารย์แพง หลวงปู่ขัน พระอาจารย์โต้ง และปัจจุบัน คือ พระอธิการนรินทร์ ฐิติญาโน
สภาพทั่วไป
วัดพระพุทธบาทดงหลวง ตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดเขา ซึ่งมีความสูงประมาณ ๒๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล โดยรอบเป็นภูเขาและป่าไม้ มีอ่างเก็บน้ำห้วยไรทางด้านทิศเหนือของพื้นที่ รวมถึงมีลำห้วยสายเล็ก ๆ ไหลผ่านพื้นที่ในฤดูฝน บริเวณวัดมีสถานที่สำคัญ ได้แก่ ศาลาอเนกประสงค์ เรือนครัว กุฏิสงฆ์ รอยพระพุทธบาท หลุมอุกกาบาต หลักเสไม้ พระพุทธรูปปางประธานพร (สร้างขึ้นมาใหม่)
๒.๒ เส้นทางเข้าถึง
ออกจากอำเภอดงหลวง ไปทางทิศใต้ตามเส้นทางหมายเลข ๒๑๐๔ ระยะทางประมาณ ๗ กิโลเมตร จะถึงสามแยกบ้านก้านเหลืองดงบริเวณวัดโพธิ์ศรีแก้ว เลี้ยวขวาไปตามถนนหมายเลข ๒๒๘๗ (ดงหลวง-พังแดง) ระยะทางประมาณ ๑๒ กิโลเมตร จะผ่านบ้านหนองแคน บ้านโพนไฮ จะถึงบ้านโพนสว่าง เลี้ยวขวาไปตามป้ายบอกทาง ประมาณ ๒ กิโลเมตร จะถึงวัดรอยพระพุทธบาทดงหลวง
๒.๓ สถานที่สำคัญ
รอยพระพุทธบาทเป็นรอยพระพุทธบาท ๕ รอย สลักลงไปบนพื้นหิน รอยพระพุทธบาทขอบนอกสุดยาว ๓๖๕ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๑๘๕ เซนติเมตร ส่วนรอยพระพุทธบาทในสุด รอยลึกสุด เป็นรอยพระพุทธบาทด้านขวา ปลายพระบาทหันไปทางทิศตะวันออก ยาวประมาณ ๒๕๐ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๗๐ เซนติเมตร นับเป็นรอยพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นใหม่ นายด้วงฯ ได้ให้ข้อมูลว่า เดิมทีรอยพุทธพระบาทนั้น เป็นรูปรอยเท้าขนาดเล็ก กว้างประมาณ ๑ คืบ ยาวประมาณ ๑ ศอก ผู้ค้นพบ คือ ตาผ้าขาวบุญมา และเป็นผู้นำพาชาวบ้านสลักทับรอยเท้าเดิมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นเป็นพุทธบูชา
หลักเสไม้เป็นหลักไม้ที่สลักจากท่อนไม้เป็นรูปธาตุเจดีย์แบบอีสาน ทรงสูงชะลูด บางหลักมีการเจาะช่องสำหรับบรรจุอัฐิธาตุของผู้เสียชีวิตไปแล้ว บางหลักใช้ปักแสดงตำแหน่งที่มีการฝังเถ้ากระดูกของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว นายด้วงฯ ได้ให้ข้อมูลว่า หลักเสไม้ที่พบในวัดพระพุทธบาทดงหลวงนั้น มีที่มาจากเมื่อสมัยก่อนในวันธรรมสาวนะ ชาวบ้านโพนสว่างจะรวมตัวกันขนทรายเข้าวัดและก่อเจดีย์ทรายมีรูปทรงเหมือนภูเขา นำดอกไม้ในป่ามาประดับให้สวยงานม จากนั้นจะทำหลักเสไม้ไปปักในที่สูงสุดของเจดีย์ทรายนั้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของธาตุเจดีย์ที่บรรจุอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้าเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อเสร็จแล้วก็ได้ถวายเจดีย์ทรายนั้นให้วัด ต่อมาทรายที่ก่อเจดีย์นั้นวัดได้นำไปใช้ประโยชน์และบางส่วนได้ถูกน้ำกัดเซาะหายไป เหลือเพียงหลักเสไม้ จึงได้นำไปตั้งไว้ใกล้กับรอยพระบาท โดยใช้ก้อนหินยึดไว้ จนปัจจุบัน
หลุมอุกกาบาตมีจำนวน ๕ หลุม กระจายอยู่บนลานหินบริเวณเดียวกันกับรอยพระพุทธบาท แต่ละหลุมมีขนาดกว้างใหญ่ไม่เท่ากัน ลักษณะเป็นโขดหินนูนสูงขึ้น ตรงกลางเป็นหลุมลึกลงไป ปัจจุบันกลายเป็นแอ่งบัว ที่มีน้ำขังอยู่ภายในตลอดทั้งปี
๓. คำสำคัญวัดพระพุทธบาทดงหลวง หลักเสไม้ ธาตุเจดีย์ไม้ หลุมอุกกาบาต รอยพระพุทธบาท
๔. สถานที่ตั้งวัดรอยพระพุทธบาทดงหลวง ตั้งอยู่ หมู่ ๖ บ้านโพนสว่าง ตำบลพังแดง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
๕. ผู้ให้ข้อมูลนายด้วง เชื้อคำฮด อายุ ๖๐ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๖๕ หมู่ ๖ บ้านโพนสว่าง ตำบลพังแดง อำเภอดงหลวงจังหวัดมุกดาหาร
๖. หนังสืออ้างอิงหนังสือรายงานสำรวจแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานในจังหวัดมุกดาหาร โครงการสำรวจและขุดค้นโบราณคดีเพื่อศึกษาแหล่งผลิตกองมโหระทึกในพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงตอนกลาง ปี พ.ศ.๒๕๕๖ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม