๑. ชื่อข้อมูลวัดมะนาว
๒. รายละเอียดข้อมูล
๒.๑ ประวัติความเป็นมา/สภาพทั่วไป
ประวัติความเป็นมา
วัดมะนาว ตั้งอยู่บ้านมะนาว หมู่ที่ ๒ ตำบลพังแดง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๔ ไร่ ๒ งาน อาณาเขต ทิศเหนือจรดลำห้วย ทิศใต้จรดที่ดินนายเตย ทิศตะวันออกจรดที่ดินนางมี ทิศตะวันตกจรดที่ดินนายทอง อาคารเสนาสนะประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ เจดีย์ทองหรือธาตุทอง
วัดมะนาว ตั้งเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๘๐ โดยมีพระพลพินิจ ขนฺติธโร เป็นผู้นำในการสร้างวัด การบริหารการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม ดังนี้
รูปที่ ๑ พระสอน สนฺตจิตโต พ.ศ. ๒๔๘๐ - ๒๕๐๙
รูปที่ ๒ พระแก้ว พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๕
รูปที่ ๓ พระค่าย พ.ศ. ๒๕๑๗ - ๒๕๒๒
รูปที่ ๔ พระน่าน นนฺทปญฺโญ พ.ศ. ๒๕๒๓ - ๒๕๒๘
รูปที่ ๕ พระเลี้ยง โอภาโส พ.ศ. ๒๕๒๙ - ๒๕๓๔
รูปที่ ๖ พระแม้ว ขนฺติธโร พ.ศ. ๒๕๓๕ -
รูปที่ ๗ พระอธิการไสว สุจิตโต ปัจจุบัน
นายนา ลาภโพธิ์ อายุ ๙๐ ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๕ หมู่ ๒ บ้านมะนาว ตำบลพังแดง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหารได้ให้ข้อมูลว่า เดิมทีบริเวณวัดมะนาวนั้น เป็นที่พำนักปฏิบัติธรรมของตาผ้าขาวแก้ว (ฤาษีแก้ว) ซึ่งเป็นหลานของปู่ผ้าดำ (อาจารย์กัณหาอาญาผ้าดำ) ที่ชาวตำบลพังแดงเชื่อว่าท่านบรรลุธรรมชั้นสูง และคอยช่วยเหลือชาวบ้านเรื่อยมา จึงให้ความเคารพนับถือท่านเป็นอย่างมาก ต่อมาที่ตรงนั้นได้รับการพัฒนามาเรื่อย ๆ กระทั่งเป็นวัดในปัจจุบัน
สภาพทั่วไป
วัดมะนาว นับว่าเป็นวัดเก่าแก่และมีตความสำคัญกับชุมชนบ้านมะนาวหรือบ้านโนนสะอาดสมศรี มีชื่อเรียกต่างออกไปอี ๒ ชื่อ ได้แก่ วัดสะอาดสมศรี และวัดธาตุทอง ทั้งนี้ตามประวัติหมู่บ้านระบุว่า เริ่มมีการเข้ามาอาศัยอยู่ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๐ นับเป็นเวลากว่า ๑๓๕ ปีแล้ว ในชื่อว่า “บ้านสะอาดสมศรี” แต่เมื่อมีเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองคอมมิวนิสต์ หมู่บ้านจึงร้างไป และเมื่อเหตุการณ์สงบชาวบ้านจึงอพยพเข้ามาอาศัยในพื้นที่ใหม่ในชื่อ “บ้านมะนาว” โดยเจดีย์หรือธาตุสีทอง เป็นสิ่งก่อสร้างสำคัญของหมู่บ้านมะนาว จึงมีชื่อต่างออกไปอีก ๒ ชื่อดังกล่าว
วัดมะนาว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน ลักษณะที่ตั้งเป็นพื้นที่ราบระหว่างหุบเขา แวดล้อมไปด้วยบ้านเรือนราษฎร ป่าไม้ และภูเขา เช่น ภูค้อทางทิศตะวันออก ภูหินโง้นทางทิศใต้ ภูนาทางทิศเหนือ ด้านทิศใต้มีลำห้วยทรายไหลผ่าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของพื้นที่ บริเวณวัดมีกำแพงก่ออิฐล้อมรอบ มีพื้นที่ประมาณ ๔ ไร่เศษ ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างสำคัญได้แก่ เจดีย์ธาตุทอง ศาลาอเนกประสงค์ กุฏิสงฆ์
๒.๒ เส้นทางเข้าถึง
ออกเดินทางจากอำเภอดงหลวงไปทางทิศใต้ ตามเส้นทางหมายเลข ๒๑๐๔ ระยะทางประมาณ ๗ กิโลเมตร จะถึงสามแยกบ้านก้านเหลืองดง บริเวณวัดโพธิ์ศรีแก้ว เลี้ยวขวาไปตามถนนหมายเลข ๒๒๘๗ (ดงหลวง – พังแดง) ระยะทางประมาณ ๒๕ กิโลเมตร จะผ่านบ้านโพนไฮ บ้านโพนสว่าง บ้านนาหลัก บ้านป่าติ้ว บ้านพังแดง จะถึงบ้านมะนาว วัดบ้านมะนาวจะอยู่ซอยบริเวณหัวโค้งถนน โดยในแผนที่จะระบุว่า “วัดศรีสะอาด”
๒.๓ เสนาสนะที่สำคัญ
เจดีย์ทองหรือธาตุทองลักษณะคล้ายกับพระธาตุพนม ตัวเจดีย์ทาสีทองทั้งองค์ ส่วนฐานเจดีย์สูง ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ละด้านแบ่งออกเป็น ๕ ห้อง แต่ละห้องวาดภาพด้วยเทคนิคสมัยใหม่แสดงเรื่องราว ของท้องถิ่น เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยม กึ่งกลางแต่ละด้านทำเป็นซุ้ม ภายในซุ้มระบุข้อความดังนี้ ด้านทิศเหนือ “สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ ปฏิสังขรณ์ พ.ศ. ๒๕๒๘” ด้านทิศใต้ “พร้อมญาติสหธรรมิก ปฏิสังขรณ์ พ.ศ. ๒๕๒๘” ด้านทิศตะวันออก “ ธาตุอัฐิอาจารย์กัณหาอาญาผ้าดำ” ทิศตะวันตก “พระอาจารย์พลพินิจ ขนฺติธโร (ไชยสุนทร) สร้างถวายวัดธาตุทอง พ.ศ. ๒๔๙๔” ส่วนยอดจำลองเรือนธาตุขึ้นไป ปลายเป็นกรวยแหลมประดับเม็ดน้ำค้าง องค์เจดีย์มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ทิศตะวันตก ขององค์เจดีย์ทำรูปเหมือนอาจารย์กัณหาอาญาผ้าดำในท่านั่งชันเข่ามือขวาถือไม้เท้า
เจดีย์ทองหรือธาตุทอง เป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิอาจารญ์กัณหาอาญาผ้าดำ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่ผู้คนบริเวณบ้านมะนาวให้ความเคารพนับถือ ซึ่งจะมีการทำพิธีสักการะในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปี เจดีย์ทองหรือธาตุทอง จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่สำคัญของชุมชนบริเวณนี้
๓. คำสำคัญวัดมะนาว วัดสะอาดสมศรี วัดธาตุทอง อาจารย์กัณหาอาญาผ้าดำ
๔. สถานที่ตั้งวัดมะนาว ตั้งอยู่ หมู่ ๒ บ้านมะนาว ตำบลพังแดง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
๕. ผู้ให้ข้อมูลสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดมุกดาหาร
นายนา ลาภโพธิ์ อายุ ๙๐ ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๕ หมู่ ๒ บ้านมะนาว ตำบลพังแดง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
๖. หนังสืออ้างอิงหนังสือรายงานสำรวจแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานในจังหวัดมุกดาหาร โครงการสำรวจและขุดค้นโบราณคดีเพื่อศึกษาแหล่งผลิตกองมโหระทึกในพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงตอนกลาง ปี พ.ศ.๒๕๕๖ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม หน้า ๒๓๖ – ๒๓๘