จังหวัดสกลนคร ได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของชาวภูไทที่สั่งสม สืบทอดกันมา ทั้งประเพณี ความเชื่อ ตำนาน ประวัติศาสตร์ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น ความหลากหลาย เป็นเสน่ห์ที่ยากที่จะลอกเลียนแบบได้ การพัฒนาของโลกด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงสามารถใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เป็นพื้นฐานในการพัฒนาต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
งานประเพณีภูไทรำลึกเป็นงานประเพณีของชาวภูไทวาริชภูมิ ที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นประจำ ทุกปี ซึ่งชาวภูไทมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เช่น วัฒนธรรมการแต่งกายภูไทถิ่น วัฒนธรรมการนับถือหลักเมือง โดยแต่ละปีจะมีการจัดงานภูไทรำลึกเพื่อเป็นการนมัสการเจ้าปู่มเหสักข์ ในงานจัดให้มีการฟ้อนรำถวายเจ้าปู่มเหสักข์ และผู้ที่มาร่วมงานจะแต่งตัวในชุดภูไทหรือภูไทประยุกต์ ส่วนลูกหลานชาววาริชภูมิที่ย้ายถิ่นฐานหรือไปทำงานต่างจังหวัด จะเดินทางกลับมาร่วมงานทุกปี ซึ่งเป็นการแสดงถึงการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีของชาวภูไทวาริชภูมิ ตลอดมา
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสกลนครจึงได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร สภาวัฒนธรรมจังหวัดสกลนครและอำเภอวาริชภูมิ กำหนดจัดงานประเพณีภูไทรำลึก (The Phu Tai Remembrance Festival) ประจำปี พ.ศ. 2565 ขึ้น ระหว่างวันที่ 4 – 6 เมษายน 2565 ณ ศาลเจ้าปู่มเหสักข์ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เพื่อสืบทอดวิถีชีวิต สืบสาน ฟื้นฟูและพัฒนาประเพณี วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้เรียนรู้ สืบทอด และพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประชาชนในท้องถิ่น รวมถึงส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมทั้งเด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมวัฒนธรรม อันจะนำไปสู่ความรัก ภูมิใจ หวงแหน และร่วมกันสืบสานสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นไว้สืบต่อไป
ในการจัดงานครั้งนี้ มีการนำเอาวิถีชีวิตของชาวภูไททั่วทั้งภูมิภาคทั้งในประเทศและต่างประเทศมารวมไว้ในงานเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัด สามารถสร้างคุณค่า และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนให้คนในชุมชน สังคม เกิดความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น และมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดสกลนครให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
กิจกรรมภายในงาน
ในการจัดงานประเพณีภูไทรำลึก (The Phu Tai Remembrance Festival) ประกอบด้วย :
– การบวงสรวงเจ้าปู่มเหสักข์
- ขบวนแห่นางรำภูไท จากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตอำเภอวาริชภูมิ
- นางรำ รำถวายเจ้าปู่มเหสักข์
- การแสดงนิทรรศการวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ภูไท 4 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธ์
- การสาธิตและจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม (CPOT) และสินค้า 0T0P
- การแสดงของศิลปินที่มีชื่อเสียงและศิลปินพื้นบ้าน
- การเดินแบบอัตลักษณ์ 8 ชาติพันธุ์
- การประกวดเดินแบบผ้าไทยการกุศล (กิ่งกาชาดอำเภอวาริชภูมิ)
- กิจกรรมมอบรางวัลคนดีศรีภูไท