ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 20° 14' 42.0832"
20.2450231
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 6' 35.4175"
100.1098382
เลขที่ : 197141
ประเพณีทำบุญเมือง สะเดาะเคราะห์และถวายทานสลาก ๒๕
เสนอโดย เชียงราย วันที่ 27 กรกฎาคม 2565
อนุมัติโดย เชียงราย วันที่ 27 กรกฎาคม 2565
จังหวัด : เชียงราย
0 663
รายละเอียด

เมืองเชียงแสนเป็นเมืองประวัติศาสตร์มีอายุเก่าแก่ร่วม ๒,๐๐๐ ปี มีมหากษัตริย์ปกครองรวม ๑๕๐ พระองค์ แต่เดิมไม่มีผู้ใดคิดจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่พระมหากษัตริย์แม้แต่ครั้งเดียว ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนจึงได้ปรึกษาหารือกันโดยมี สภาวัฒนธรรมอำเภอเชียงแสนเป็นแกนนำ ประกอบกับเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนทุกหนทุกแห่ง และภูมิอากาศแห้งแล้ง ในที่ประชุมมีความเป็นว่าควรจะมีการทำบุญเมือง สะเดาะเคราะห์เมืองและประชาชน รวมถึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่บูรพมหากษัตริย์ที่ปกครองเมืองเชียงแสนทุกพระองค์ตลอดอริราชศัตรูและพญานาคทั้งหลาย ดังนั้น ร.ต.ต.สุดใจ เชื้อเจ็ดตน จึงได้เสนอให้นำประเพณีถวายทานสลาก ๒๕ ซึ่งเป็นฮีตฮอยของชาวไต ทั้งไตใหญ่ และไตลื้อ มาทำพิธีทำบุญให้บูรพมหากษัตริย์ โดยกำหนดและทำมาแล้วเป็นเวลา ๓ ปี ติดต่อกัน แต่เมื่อครบ ๓ ปีแล้ว ชาวบ้านเห็นว่าประเพณีนี้เป็นสิ่งที่ดีจึงขอให้ทำตลอดไป

สืบเนื่องมาจากเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ชาวบ้านได้จัดงานประเพณีเลี้ยงเจ้าพ่อประตูป่าสักและเจ้าแม่นางเซิ้ง ขึ้นในเดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ ซึ่งขณะกำลังทำพิธีอยู่ได้เกิดเหตุการณ์ขึ้นกับผู้หญิงท่านหนึ่งที่เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ ได้มีร่างทรงประทับร่างผู้หญิงดังกล่าวที่หน้าศาลเจ้าแม่นางเซิ้ง แล้วขอน้ำกินและนำมารดตัวเองจนเปียก ชาวบ้านที่มาร่วมพิธีได้ถามว่า เป็นใคร ร่างทรงได้บอกว่าเขาคือ พญานาค และยังกล่าวว่า
เจ้าบ้าน เจ้าเมืองและบรรพบุรุษที่ได้ล้มตายจากไปหลายชั่วอายุคน ไม่มีใครคิดจะทำบุญ ทำทาน อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้

หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีนายวีระพล กัลป์ที (กำนันตำบลเวียงในขณะนั้น) อาจารย์บุญส่ง เชื้อเจ็ดตน ลุงหนานสุดใจ เชื้อเจ็ดตน และคณะกรรมการวัด ทั้ง ๔ วัด ประมาณ ๒๐ คน มาร่วมประชุมกันที่วัดผ้าขาวป้าน ในที่ประชุมมีมติลงความเห็นว่า ควรทำสลากซาวห้า เพื่อทำบุญให้แก่ บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว สลากซาวห้า ก๋วยสลากนั้นต้องเขียนชื่อของกษัตริย์หรือบรรพบุรุษที่สร้างบ้าน
สร้างเมือง ทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองเชียงแสน จำนวน ๒๕ ท่าน ดังนี้

ก๋วยที่ ๑ ตานหา เจ้าสุวรรณโคมคำ กษัตริย์แห่งแคว้นสุวรรณโคมคำ พญาสัตนาคผู้ดูแลแม่น้ำโขง ตลอดจนข้าทาสบริพาร แห่งแคว้นสุวรรณโคมคำ

ก๋วยที่ ๒ ตานหา พระเจ้าสิงหนวัติ ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรโยนกนาคนคร พญาพันธุนาค ผู้กำหนดเขตแคว้นโยนกนาคนคร ตลอดจนข้าทาสบริพาร

ก๋วยที่ ๓ ตานหา พระเจ้าอชุตราชราชโอรสของพระเจ้าสิงหนวัติ ผู้สร้างพระธาตุดอยตุง

ก๋วยที่ ๔ ตานหา พระยามังรายนรราช พระองค์พิง พระองค์พัง เรื่อยมาจนถึงพระองค์เพียงตลอดจนข้าทาสบริพาร

ก๋วยที่ ๕ ตานหา พระเจ้าพังคราช ผู้สร้างพระธาตุจอมกิตติ ร่วมกับพระเจ้าพรหมมหาราช ราชโอรส ตลอดจนพระองค์ทุกขิตกุมาร พระองค์ไชยศิริ พระองค์มหาวันต๋น ลูกของพระองค์ทุกขิตกุมารตลอดจนข้าทาสบริพาร

ก๋วยที่ ๖ ตานหา พระเจ้าพรหมมหาราช ราชโอรสพระเจ้าพังคราช ผู้ร่วมกันสร้างพระธาตุจอมกิตติ และผู้ทรงขับไล่ขอมดำออกจากโยนกนาคนครตลอดจนข้าทาสบริพาร

ก๋วยที่ ๗ ตานหา พระเจ้ามหาไชยชนะ ขุนนาง เสนาอำมาตย์ ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์และข้าราชบริพารที่สูญหายไปพร้อมกับเมืองนครโยนกนาคนครที่ล่มสลายกลายเป็นเวียงหนองหล่ม

ก๋วยที่ ๘ ตานหา ขุนลัง ตลอดจนขุนทั้งหลายที่ปกครองเวียงปรึกษาพร้อมข้าทาสบริพาร

ก๋วยที่ ๙ ตานหา พญาวะจักราช ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหิรัญนครเงินยาง พร้อมด้วยพญาลาวเกื้อ ลาวก่อต๋นลูกทั้งสองตลอดจนข้าทาสบริพาร

ก๋วยที่ ๑๐ ตานหา พญาลาวเก้าแก้วมาเมือง ราชโอรสของพญาลวะจักราช ผู้สร้างพระธาตุปูเข้า และวัดผ้าขาวป้านตลอดจนข้าทาสบริพาร

ก๋วยที่ ๑๑ ตานหา พญาลาวเส้า ลาวซิน เรื่อยมาจนถึงลาวจอมธรรม แห่งอาณาจักรหิรัญนครเงินยาง ตลอดจนข้าทาสบริพาร

ก๋วยที่ ๑๒ ตานหา พญาลาวเจื้องหรือขุนเจืองธรรมิกราช ผู้ที่สามารถป้องกันเมืองเงินยางจากการรุกรานของบ้านเมืองแมนต๋าออก ขอบฟ้าต๋ายืนได้ ตลอดจนข้าทาสบริพาร

ก๋วยที่ ๑๓ ตานหา พญาลาวเงินเรือง ลาวเชียง ลาวเม็ง ผู้เป็นพระราชบิดาของพญามังราย ตลอดจนข้าทาสบริพาร

ก๋วยที่ ๑๔ ตานหา พญามังรายมหาราช ผู้รวบรวมหัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งหลายทั่วสารทิศเป็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่คือ อาณาจักรล้านนา ตลอดจนข้าทาสบริพาร

ก๋วยที่ ๑๕ ตานหา พญามังเครื่อง พญามังคม และพญามังเครือ ราชโอรสของพญามังรายมหาราช ตลอดจนข้าทาสบริพาร

ก๋วยที่ ๑๖ ตานหา พญาแสนพู ราชโอรสของพระยามังคาม ซึ่งเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองเงินยางที่ทำให้อาณาประชาราษฎร์อยู่เย็นเป็นสุข บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ที่สุดและเป็นผู้สร้างวัดป่าสัก วัดเจดีย์หลวง และกำแพงเมืองเชียงแสน ตลอดจนข้าทาสบริพาร

ก๋วยที่ ๑๗ ตานหา พญาแสนคำฟู ราชโอรสองค์สุดท้ายของพญาแสนพู ผู้สร้างวัดแสนคำฟูเรื่อยมาจนถึงหมื่นเชียงสง ผู้สร้างวัดหมื่นเชียง ตลอดจนข้าทาสบริพาร

ก๋วยที่ ๑๘ ตานหา หมื่นงั้วหรือพญาตรีรัชฎเงินกอง ผู้สร้างวัดล้านทอง เรื่อยมาจนถึงพญารัตนกำพล กษัตริย์องค์สุดท้ายของเมืองเงินยาง ก่อนที่เมืองเงินยางหรือเมืองเชียงแสนจะตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของพม่าในปี พ.ศ. ๒๑๐๑ ตลอดจนข้าทาสบริพาร

ก๋วยที่ ๑๙ ตานหา พระเจ้ากาวิละ เจ้าครองนครเชียงใหม่ที่ยกกองทัพมาขับไล่พม่าในปี พ.ศ. ๒๑๒๐ พร้อมด้วยเหล่าทหารกล้าที่ตายในสนามรบ ตลอดจนชาวเมืองเชียงแสนที่ถูกพม่าเข่นฆ่า

ก๋วยที่ ๒๐ ตานหา อุราชธรรมลังกา แม่ทัพแห่งกองทัพล้านนา อันประกอบด้วยกองทัพจากเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน หลวงพระบาง เมืองเทิงและเมืองเชียงของ ยกทัพสมทบกับกองทัพแห่งกรุงสยาม ซึ่งนำโดยกรมหลวงเทพหริรักษ์ และพญายมราช เพื่อขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสนใน พ.ศ. ๒๓๔๗พร้อมด้วยแม่ทัพนายทองและอาณาประชาราษฎรที่ล้มตายในสงครามครั้งนั้น

ก๋วยที่ ๒๑ ตานหา ผู้เฒ่า ผู้แก่ คนป่วย คนพิการที่ถูกบังคับให้ลงเรือ แล้วปล่อยให้เรือไหลไปตามน้ำของ และลูกเล็กเด็กแดงที่ถูกนำไปปล่อยทิ้งไว้หนองกลางเวียงแล้วถูกน้ำท่วมตายในคราวที่ขับไล่พม่าออกจากเมือง แล้วเผาเมือง แล้วนำคนออกจากเมืองให้หมดในปี พ.ศ. ๒๓๔๗

ก๋วยที่ ๒๒ ตานหา เจ้าหนานอินต๊ะ หรือพระยาราชเดชดำรง ผู้กลับมาสร้างบ้านแปงเมืองใน พ.ศ. ๒๔๒๑ สมัยราชกาลที่ ๕ ตลอดจนข้าทาสบริพาร

ก๋วยที่ ๒๓ ตานหา นายอำเภอเชียงแสนทุกท่านที่เสียชีวิตไปแล้ว

ก๋วยที่ ๒๔ ตานหา ขอมดำและชาวขอมดำที่ยึดเมืองโยนกนาคนครจากพระเจ้าพังคราชแล้วถูกพระเจ้าพรหมมหาราชขับไล่และเข่นฆ่า ตลอดจนแม่ทับนายกองของพม่าทุกคนที่เข่นฆ่าในคราวขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสน ในปี พ.ศ. ๒๓๗๔

ก๋วยที่ ๒๕ ตานหาพญานาคน้ำทุกต๋นทุกตัว ตลอดจนเจ้ากรรมนายเวรและสรรพสัตว์ทั้งหลาย

ครั้งแรกได้ทำพิธีที่ลานหอพระหน้าอำเภอเชียงแสน ปีที่สอง ทำพิธีที่วัดกาเผือก ในปีที่ ๓ – ๗ ทำพิธีที่วัดเจดีย์หลวง ต่อมาเกิดปัญหาขึ้นในหลายๆ ด้าน คณะกรรมการได้ประชุมและเสนอว่า ให้เปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพวัดละปีเวียนแต่ละวัด ทั้ง ๔ วัด ได้แก่ วัดเจดีย์หลวง วัดล้านทอง วัดผ้าขาวป้าน และวัดปงสนุก

สถานที่ตั้ง
วัดเจดีย์หลวง
เลขที่ 635 ถนน พหลโยธิน
ตำบล เวียง อำเภอ เชียงแสน จังหวัด เชียงราย
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง นางนงเยาว์ ปงลังกา
ชื่อที่ทำงาน สภาวัฒนธรรมเทศบาลเวียงเชียงแสน
เลขที่ 434 หมู่ที่/หมู่บ้าน หมู่ที่ 3 บ้านเวียงเหนือ ซอย 3 ถนน หนองมูต
ตำบล เวียง อำเภอ เชียงแสน จังหวัด เชียงราย รหัสไปรษณีย์ 57150
โทรศัพท์ 089-7570664
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่