การตีกลองหลวง เป็นประเพณีของคนล้านนา ในภาคเหนือตอนบน ๘ จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายคงมีอำเภอเชียงแสนพยายามจะรื้อฟื้นให้เป็นมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านศิลปะการแสดง ประเพณี พิธีกรรมและเทศกาลให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอเชียงแสน
กลองหลวงล้านนา มีเอกลักษณ์โดดเด่น สร้างโดยภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนล้านนา เนื่องจาก กลองหลวง เป็นกลองหน้าเดียวที่มีขนาดใหญ่ ตัวกลองทำด้วยไม้ประดู่ท่อนเดียว ความยาวตั้งแต่ ๑.๓๐ เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๒๐ นิ้ว ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับขนาดของไม้และความต้องการของช่าง ที่ทำกลอง หน้ากลองทำด้วยหนังวัวตัวเมีย เพราะหนังวัวตัวเมียเป็นหนังที่ไม่มีรอยเฆี่ยนตี ไม่เหมือนหนังวัวตัวผู้ที่มีรอยเฆี่ยนตีจากการใช้งาน
เดิมการตีกลองหลวงจะเป็นการตีเพื่อแข่งขัน ต่อมาขาดการสานต่อจึงได้เป็นการตีเฉพาะวันสำคัญทางศาสนา และในประเพณีต่างๆ เช่น การตีกลองหลวงในงานสลากภัต งานสงกรานต์ งานสรงน้ำพระธาตุ งานลอยกระทง งานฟ้อน งานเซิ้ง เพราะเดิมไม่มีแผ่นเสียง ก็จะใช้กลองหลวงตีเป็นจังหวะ
การตีกลองหลวงจะตีไปพร้อมกับกลองตะโล้ดโป๊ดซึ่งเป็นกลองสองหน้า ทำหน้าที่ตีขัดสอดแทรกไปกับกลองหลวง ฉลา(ฉาบใหญ่) และฆ้องโหม่งซึ่งมีขนาดเล็กไปจนถึงใหญ่ จำนวน ๒ - ๙ ใบ ต่อกลองหลวงแต่ละใบหรือแต่ละคณะศรัทธาวัดนั้นๆ
อำเภอเชียงแสนเป็นอีกแห่งหนึ่งในล้านนา ที่ได้พยายามรื้อฟื้นและอนุรักษ์เพื่อรักษาประเพณีการ ตีกลองหลวง โดย ท่านเจ้าคุณพระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ได้สนับสนุนให้มีการตั้งชมรมกลองหลวงขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เพื่อร่วมฉลอง ๗๕๐ ปีเมืองเชียงราย โดยมีนายวงศ์ ทาลังกา เป็นตัวแทนกลองหลวงวัดผ้าขาวป้าน เป็นประธานชมรมกลองหลวงเชียงแสน และได้รวมตัวกันในชุดการแสดง “กลองหลวง ๑๒ ราศี” นับแต่บัดนั้นจนกลายเป็นอัตลักษณ์ด้านศิลปะการแสดงของชาวอำเภอเชียงแสน และได้สืบทอดมาจนปัจจุบัน
กลองหลวงมาจากไหนและเข้ามาเชียงแสนเมื่อใด?
กลองหลวงมาจากจังหวัดลำพูน โดยวัดปางหมอปวงได้ซื้อมาจากจังหวัดลำพูน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ในราคา ๘๐,๐๐๐ บาท (แปดหมื่นบาทถ้วน) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ แล้ววัดต่างๆในอำเภอเชียงแสนก็หาซื้อมาเป็นลำดับ จวบจนตั้งเป็นชมรมกลองหลวงเชียงแสน
ในปัจจุบันหากขาดการสนับสนุนและอนุรักษ์กลองหลวงล้านนาไว้ก็จะสูญหายไปเนื่องจาก
๑. ไม้ประดู่ต้นใหญ่ หน้ากว้าง ไม่สามารถหาได้แล้ว
๒. ขาดผู้ชำนาญการในการทำกลอง (การขุดเจาะ ขึ้นรูป ขึ้นเสียง)
๓. ขาดผู้สืบทอด เพราะผู้ฝึกสอนมีอายุมากแล้ว
รายชื่อวัด กลองหลวง ๑๒ ราศี แต่ละราศี
๑. วัดพระเจ้าล้านทอง หมู่ ๒ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน ปีชวด
๒. วัดเจดีย์หลวง หมู่ ๓ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน ปีฉลู
๓. วัดผ้าขาวป้าน หมู่ ๒ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน ปีขาล
๔. วัดปงสนุก หมู่ ๓ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน ปีเถาะ
๕. วัดพระธาตุผาเงา หมู่ ๕ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน ปีมะโรง
๖. วัดป่าสักหางเวียง หมู่ ๙ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน ปีมะเส็ง
๗. วัดปางหมอปวง หมู่ ๖ ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน ปีมะเมีย
๘. วัดป่าคา หมู่ ๓ ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน ปีมะแม
๙. วัดดอยจำปี หมู่ ๓ ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน ปีวอก
๑๐. วัดบ้านทุ่ง หมู่ ๒ ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน ปีระกา
๑๑. วัดดอยจัน หมู่ ๑ ตำบลโยนก อำเภอเชียงแสน ปีจอ
๑๒. วัดบ้านแซว หมู่ ๑ ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน ปีกุน