ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 15° 22' 48.9626"
15.3802674
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 15' 6.1254"
100.2517015
เลขที่ : 197417
การเล่นกลองยาว
เสนอโดย นครสวรรค์ วันที่ 20 กันยายน 2565
อนุมัติโดย นครสวรรค์ วันที่ 20 กันยายน 2565
จังหวัด : นครสวรรค์
0 616
รายละเอียด

กลองยาวโขนบ้านหนองโพเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเรียนรู้ สืบทอดกัน และมีการสอนเป็นหลักสูตรในโรงเรียน โดยมีปราชญ์ชาวบ้านเป็นวิทยากรท้องถิ่น รวมทั้งแต่ดั้งเดิม มีการทำกลองยาวขึ้นเอง จึงทำให้กลองยาวบ้านหนองโพเป็นที่แพร่หลาย เป็นการละเล่นที่ใช้ในเทศกาลรื่นเริง เช่น บวชนาค แต่งงาน เทศกาลประเพณี เช่น สงกรานต์ แห่พระ เป็นต้น ดังนั้น ชุมชนหนองโพจึงสามารถรักษาการเล่นกลองยาวให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง

กลองยาวเป็นศิลปะ ชนิดหนึ่งของชาวมอญหม่องสุใดเกิงชาวพม่า นำกลองยาวเข้ามาเล่นในประเทศสยาม ในสมัยพระจุลจอมเกล้า รัชกาลที่ ๕ หม่องสุใดเกิงนี้ เข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในประเทศสยาม อยู่แถว ๆ ตำบล วัดมะหรร หม่องสุใดเกิงได้สอนให้คนไทย ในแถบนั้นได้เล่นกลองยาวกันเป็นที่แพร่หลาย คนไทยเรียกกันว่าการเล่นเทิดเทิง หรือบ้างเรียกกันว่า ปะเท้งปะ หรือ โหม่งเท้งโหม่ง นั้นหมายความว่าเรียกตามเสียงตี ในสมัยก่อนนี้นิยมเล่นเฉพาะผู้ชาย กลองยาว นิยมเล่นกันตามงานวัด หรืองานรื่นเริงต่าง ๆ เช่น งานแห่นาค งานแห่ขบวนขันหมากงานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานลอยกระทง งานปีใหม่ งานแห่ขบวนองค์กฐิน งานแห่ขบวนองค์ผ้าป่า หรืองานสงกรานต์ เหล่านี้เป็นต้น ต่อมากลองยาวได้พัฒนาขึ้นมาตามลำดับจนเป็นที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายในภาคกลาง จนเป็นศิลปะประจำภาคกลางไปในที่สุด ต่อมามีการเล่นกันมาก และแพร่หลายไปตามหัวเมืองต่าง ๆ จึงได้ชักชวนให้สุภาพสตรี เข้ามามีส่วนร่วมการเล่นกลองยาว และให้สุภาพสตรีเป็นนางรำประจำการเล่นกลองยาว มาจนถึงปัจจุบันนี้

อุปกรณ์ของกลองยาวประกอบด้วย

๑. กลองเล็ก หรือ กลองยาว ตั้งแต่ ๗ ใบขึ้นไป

๒. โหม่ง

๓. ฉาบเล็ก

๔. ฉาบใหญ่

๕. ฉิ่ง

๖. กลับ หรือ แกระ

สำหรับอุปกรณ์อื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากอุปกรณ์เหล่านั้น เช่น ปี่ ขลุ่ย ซอ ซึง แคน หรือเครื่องดนตรีชนิดอื่นที่สามารถจัดหามาได้ในหมู่บ้านสามารถนำมาเล่นประกอบการเล่น กลองยาวได้ แต่ไม่ได้จัดอยู่ในอุปกรณ์ของกลองยาว

หากจัดประกวดการแข่งขันกลองยาว ก็จะยึดถือเอาอุปกรณ์ของกลองยาว ๖ อย่าง ข้างต้นเท่านั้นมาเป็นหลักเกณฑ์ในการประกวดการแข่งขันกลองยาว เพราะยึดถือเอารูปแบบของการเล่นกลองยาวสมัยก่อน เอาไว้เป็นหลัก และจะไม่ให้เสียรูปแบบของการเล่นกลองยาวไปจากเดิม

เครื่องแต่งกาย

ผู้ชายแต่งกายได้หลายรูปแบบ เช่น

- นุ่งผ้าโสร่งใส่เสื้อมอฮ่อม

- นุ่งกางเกงขาสามส่วน ใส่เสื้อคอกลม แขนกว้าง

- นุ่งผ้าโจงกระเบน ใส่เสื้อคอกลมแขนกว้าง โดยจะไม่บังคับหรือมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนแล้วแต่ความสวยงาม หรือความเหมาะสมของงานนั้น ๆ

ผู้หญิงจะมีการแต่งกายที่แน่นอนและมีรูปแบบที่ชัดเจน

- เสื้อคอกลม หรือ เสื้อคอจีนก็ได้ แขนจะต้องเป็นแขนสามส่วนเท่านั้น

- ผ้านุ่งจะเป็นผ้าถุง นุ่งเลยตาตุ่มขึ้นมาประมาณหนึ่งฝ่ามือ หรือ ประมาณสามนิ้ว

- มีเข็มขัดคาดทับผ้าถุง

- มีผ้าสไบพาดเฉียง หรือ มีผ้าสไบห่อตัวก็ได้แต่จะต้องเปิดไหล่ขวา

- มีดอกไม้ทัดที่ผมด้านซ้าย หรือ ด้านขวาก็ได้ แล้วแต่ความสวยงาม หรือ ความเหมาะสมสำหรับเครื่องประดับอื่น ๆ จะไม่บังคับแล้วแต่จะจัดหามาได้ เช่น สร้อยสังวาล สร้อยคอ ต่างหู สร้อยมือ รองเท้าใส่ก็ได้ ไม่ใส่ก็ได้ แล้วแต่ความสวยงาม หรือ ความเหมาะสม ของงานที่ไปทำการแสดง

การเล่นกลองยาว แบ่งออกได้ ๔ ขั้นตอนด้วยกัน

๑. โหมโรงและรำแม่บท

เมื่อนักแสดงพร้อม ก็จะโห่ ๓ ลา ขึ้น ๓ ครั้ง

- ครั้งที่ ๑ เมื่อโห่เสร็จ ผู้ร่วมแสดงกลองยาวก็จะรับพร้อม ๆ กัน ด้วยคำว่า “เฮ้ว” แล้วจะรัวโหม่งและกลอง

- ครั้งที่ ๒ และ ๓ ก็จะโห่เหมือนครั้งที่ ๑ ผู้ร่วมแสดงก็จะรับพร้อม ๆกันด้วยเสียง “เฮ้ว” เหมือนเดิม เมื่อเสียงโห่ หรือ เสียงรับคำว่า “เฮ้ว” สิ้นสุดลง เสียงโหม่งก็จะดังขึ้นพร้อมด้วยเสียงกลองยาว และอุปกรณ์อื่น ๆ นั้นหมายความว่าจะเริ่มทำการแสดงกลองยาวโหมโรง นั่นเองใช้เวลาประมาณ ๑ นาที แล้วก็จะเริ่มรำแม่บท หรือ ที่เราเรียกกันว่ารำไหว้ครูกลองยาว

๒. เมื่อรำไหว้ครูสิ้นสุดลงก็จะเริ่มรำลีลาของกลองยาวด้วยท่าต่าง ๆ เช่น การรำคาบกลองต่อด้วยท่ากวางเดินดง ท่าต่อกลอง ท่าคาบเงิน ท่าหกตัว ท่ารอดบ่วง

๓. เมื่อรำลีลากลองสิ้นสุดลงก็จะเป็นช่วงของนางรำนางรำก็จะออกมารำกี่ท่าก็ได้แล้วแต่เวลาจะอำนวยให้ เมื่อการรำของนางรำสิ้นสุดลงก็จะลงกลองพร้อม ๆ กับนางรำก็จะนั่งลงไหว้ท่านผู้ชม

๔. เมื่อนางรำไหว้ท่านผู้ชมเสร็จ โหม่งก็ดังขึ้นอีกครั้ง พร้อมทั้งเสียงกลองยาว นางรำก็เดินนารถ หรือเดินรำลงจากเวที หรือลานที่ทำการแสดงนี้เป็นขั้นตอนสุดท้าย หรือ ท่าลา ของการเล่นกลองยาว

ทุกขั้นตอนในการเปลี่ยนจังหวะจะต้องโห่ ๓ ลาทุกครั้ง

ชุมชนวัดหนองโพ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี ซึ่งผู้คนในชุมชนเป็นชาวบ้านที่อพยพมาจากบ้านเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนผู้นำชุมชน คือ หลวงพ่อเฒ่า (รอด) พระสงฆ์ผู้มีวิชาความรู้ด้านพระปริยัติธรรม คาถาอาคม รวมทั้งศิลปศาสตร์ต่าง ๆ ครบถ้วน ดังนั้น การสืบทอดด้านการเล่นกลองยาวในเทศกาลประเพณีต่าง ๆ จึงมีมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป็นการละเล่นที่สนุกสนาน มีอุปกรณ์ที่สามารถประดิษฐ์และหาได้ไม่ยาก มีท่าร่ายรำและคำร้องที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของชาวชุมชนที่สามารถแต่งขึ้นเป็นมุขปาฐะได้

กลองยาว บ้านหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ จึงเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ต่อเนื่องกันมากกว่า ๒๐๐ ปีและรุ่งเรืองที่สุดในยุคสมัยของพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร) เจ้าอาวาสวัดหนองโพ ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๓๕ - ๒๔๙๔ ในสมัยนั้นมีคณะกลองยาวสมโพช เพ็ชรแจ่ม หัวหน้าคณะกลองยาวที่นำคณะ ไปแข่งขันได้รับรางวัลต่าง ๆ โดยเป็นกลองยาวประยุกต์ในการแต่งกายคล้ายลิเก การเล่ากลองยาวผาดโผน กระโดดข้ามบ่วงไฟ ต่อตัว ตีลังกา หกคะเมน เป็นที่เร้าใจผู้ชม ในปัจจุบันมีการสืบทอดกลองยาวเรื่อยมา โดยครูจอน เพ็ชรแจ่ม ครูกิตติศักดิ์ แสงจันทร์ (ครูอ๊อฟ) ครูแก้วลดา นิลกล่ำ (ครูแก้ว) ซึ่งมีการสอนทั้งในหลักสูตรการศึกษา และอบรมให้แก่เยาวชน สืบมา

การเผยแพร่ความรู้ด้านภูมิปัญญา บ้านแสงจันทร์ได้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้และส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม ตามโครงการเที่ยวชุมชนยลวิถี ซึ่งเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมกลองยาวของชุมชนให้ปรากฏสืบไป

ลักษณะเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านหนองโพ คือ กลองทำจากไม้แต่ละประเภทที่แตกต่างกัน โดยมีคุณสมบัติเสียงที่มีลักษณะเด่นไม่เหมือน เช่น ไม้ตะค้ำ ให้เสียงบ่อมเด่น ไม้ขนุน ให้เสียงเปิ้งเด่น ไม้มะม่วงให้เสียงปะเลิ้งเด่น โดยชาวหนองโพเป็นผู้ทำกลองขึ้นเอง ตกแต่งเสียงให้ได้ไพเราะ

งานศิลปะการแสดงกลองยาว และการรำกลองยาวของชุมชนวัดหนองโพเป็นมรดกด้านศิลปะการแสดงที่มีเพลง ท่าทางรำเป็นของตนเอง มีการถ่ายทอดให้เยาวชนในปัจจุบัน จึงสามารถรักษาให้เป็นมรดกของชุมชนได้สืบไป

สถานที่ตั้ง
ตำบล หนองโพ อำเภอ ตาคลี จังหวัด นครสวรรค์
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง อวยพร พัชรมงคลสกุล อีเมล์ paitoog@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่