การทำขวัญข้าวนั้น เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวนาให้รู้ว่า การทำนาปลูกข้าวของตนเองนั้น จะไม่สูญเปล่า เพราะพระแม่โพสพจะเป็นผู้ดูแล และเมื่อมีการเกี่ยวข้าวชาวบ้านก็จะมาช่วยกันเกี่ยวข้าว เป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีและที่สุดคือการสร้างความสุข เชื่อว่าถ้าได้ทำขวัญข้าวและถ้า พระแม่โพสพได้รับเครื่องสังเวยแล้ว จะไม่ทำให้เมล็ดข้าวล้ม หนอนไม่มาก่อกวน ไม่มีสัตว์มากล้ำกราย ได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์
ความเชื่อ
แม่โพสพเป็นวิญญาณของข้าว ฉะนั้นจึงเกิดความเคารพยำเกรง และต้องการที่จะแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อแม่โพสพ จึงมีการบวงสรวงบูชาแม่โพสพขึ้น นอกจากนั้นชาวบ้านยังเชื่อว่าข้าวมี "ขวัญ” สิงสถิตย์อยู่ประจำไม่หลีกหนีไปไหน การที่ข้าวมีขวัญสิงอยู่จะทำให้ต้นข้าวงอกงามสมบูรณ์ให้ผลผลิตสูง และไม่มีโรคภัยเบียดเบียนหรือเฉาแห้งตาย
ประเพณีทำขวัญข้าว ทำกันทุกท้องที่และแทบทุกครัวเรือนที่มีการทำนา ทำแล้วอุ่นใจว่าเป็นสิริมงคล ไม่ประสบภาวะอดอยาก ทำนาได้ผล มีข้าวกินตลอดปี เพราะแม่โพสพจะประทานความสมบูรณ์พูนสุขให้ ทั้งอิ่มใจที่ได้สืบทอดประเพณีของบรรพบุรุษ จริงอยู่ประเพณีดังกล่าว หากมองด้วยทัศนะวิทยาศาสตร์ อาจเห็นเป็นเรื่องเหลวไหล แต่หากมองให้ลึกก็ให้คุณค่าทางใจ
การทำขวัญข้าว เป็นประเพณีบวงสรวงแม่โพสพ ผู้เป็นวิญญาณแห่งข้าว โดยเชื่อว่าถ้าข้าวมีขวัญสิงอยู่ประจำไม่หลีกลี้ไปไหน ต้นข้าวก็จะงอกงามสมบูรณ์ ให้ผลสูง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน หรือเฉาตาย ส่วนที่เก็บเกี่ยวขึ้นสู่ยุ้งฉางแล้ว แม้จะจำหน่ายขายหรือกินก็สิ้นเปลืองไปน้อยที่สุด ชาวบ้านในสมัยก่อนเชื่อกันว่า แม่โพสพเป็นวิญญาณของข้าว ฉะนั้นจึงเกิดความเคารพยำเกรง และต้องการที่จะแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อแม่โพสพ จึงมีการบวงสรวงบูชาแม่โพสพขึ้น นอกจากนั้นชาวบ้านยังเชื่อว่าข้าวมี "ขวัญ” สิงสถิตอยู่ประจำไม่หลีกหนีไปไหน การที่ข้าวมีขวัญสิงอยู่จะทำให้ต้นข้าวงอกงามสมบูรณ์ ให้ผลผลิตสูง และไม่มีโรคภัยเบียดเบียนหรือเฉาแห้งตาย
บททำขวัญข้าว
เป็นบทร้องประกอบพิธีทำขวัญข้าวของชาวนา ในแต่ละท้องถิ่นเรียกแตกต่างกันไป ภาคเหนือ เรียกว่า คำสู่ขวัญข้าว ภาคกลางและภาคใต้เรียกว่า บททำขวัญข้าว ชาวนาในแต่ละภาคประกอบพิธีทำขวัญข้าวไม่พร้อมกัน แต่ที่พบว่ามีลักษณะคล้ายกันคือ การทำขวัญข้าวตอนข้าวตั้งท้อง และการทำขวัญข้าวตอนขนข้าวขึ้นยุ้งแล้ว
บททำขวัญข้าวมีทั้งลักษณะที่คล้ายกันและแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ส่วนที่คล้ายคลึงกันก็คือ ส่วนที่กล่าวเชิญขวัญหรือเรียกขวัญ ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่เรียกขวัญแม่โพสพ และอีกส่วนหนึ่งคือ ส่วนที่เป็นการขอพรหรือการขอร้องแม่โพสพ ส่วนนี้เป็นส่วนที่แสดงถึงความปรารถนาของชาวนาที่ต้องการให้ขวัญข้าวหรือแม่โพสพ ดลบันดาลในสิ่งที่เขาต้องการ ส่วนเนื้อหาที่แตกต่างกันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่น น่าจะเป็นสิ่งที่มีเฉพาะในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ชื่อพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่มีประจำถิ่น หรือตำนานเกี่ยวกับข้าวหรือแม่โพสพที่เป็นเรื่องเล่าที่รับรู้กันในท้องถิ่นนั้นๆเป็นต้น
บททำขวัญข้าว มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนไทยที่มีอาชีพเกษตรกรรมมาอย่างยาวนาน แสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อม ความเคารพนบน้อมข้าวในฐานะที่เป็นผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญในการเป็นบันทึกความรู้หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน ๔ ประการ คือ เป็นบันทึกความรู้ชื่อพันธุ์ข้าวในแต่ละถิ่นเป็นบันทึกความรู้ด้านการประกอบพิธีทำขวัญข้าว เป็นบันทึกความเชื่อของชาวนา และเป็นบันทึกแสดงขั้นตอนต่าง ๆ ของการทำนา
นอกจากนี้ บททำขวัญข้าวยังเป็นส่วนหนึ่งของพิธีทำขวัญข้าว ที่เป็นกลไกอย่างหนึ่งของสังคมในการช่วยลดหรือบรรเทาความเครียดให้กับชาวนา เนื่องมาจากการทำนาในแต่ละครั้ง ต้องลงทุนลงแรงจำนวนมาก ชาวนาจึงเกิดความไม่มั่นใจและรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจว่า การทำนาในครั้งนั้นๆ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ พวกเขาจึงต้องอาศัยการทำขวัญข้าวเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับตนเอง ดังนั้น บททำขวัญข้าวหลายๆ บท จึงแสดงให้เห็นความคิดและความคาดหวังของชาวนา ดังที่ปรากฏในส่วนเนื้อหาที่เป็นการขอร้องหรือขอพรจากแม่โพสพ ที่ล้วนแต่มีเนื้อหาที่ต้องการให้ได้ผลผลิตจำนวนมากในการทำนาแต่ละครั้ง
ในปัจจุบัน การทำขวัญข้าวค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมชาวนาไทย ชาวนาในภูมิภาคต่างๆ ประกอบพิธีทำขวัญข้าวน้อยลง เพราะชาวนาต้องเร่งรีบทำนาให้ได้ ๓ ครั้งต่อปี จึงไม่มีเวลาประกอบพิธีทำขวัญข้าว เมื่อไม่มีการประกอบพิธีกรรม ย่อมหมายถึงการเลือนหายไปของบททำขวัญข้าวด้วย เพราะไม่มีผู้สนใจเรียนรู้และสืบทอดบททำขวัญข้าว
ปัจจุบัน ได้มีหน่วยงานต่าง ๆ เล็งเห็นความสำคัญของพิธีทำขวัญข้าว จึงได้มีการฟื้นฟู อนุรักษ์ สาธิต รวมทั้งจัดพิธีทำขวัญขึ้นในโอกาสต่าง ๆ เพื่อรื้อฟื้นให้บททำขวัญข้าวได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่งแม้ว่าชาวนาไทยจะประกอบพิธีทำขวัญข้าวน้อยลง