ประเพณีแห่นาคโบราณ
ประเพณีแห่นาคโบราณ มีคุณค่าภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ต่อบุคคล ครอบครัว และชุมชน ทำให้ประชาชน ญาติสนิท มิตรสหายในหมู่บ้าน ได้มาร่วมพบปะสังสรรค์แสดงถึงความรักความสามัคคีตั้งแต่การประดิษฐ์ตัวม้า โดยการทำม้าต้องมีความประณีตและแข็งแรง ทุ่มเทแรงกายแรงใจ มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ตัวม้ามีความสวยงาม เมื่อพ่อนาคได้ขึ้นไปนั่งบนหลังม้าก็จะเกิดความสง่างาม
ภูมิปัญญาประเพณีแห่นาคโบราณและการประดิษฐ์ม้า
งานประเพณีแห่นาคขี่ม้า เกิดขึ้นที่บ้านอ่างทอง หมู่ที่ ๓ ตำบลอ่างทอง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ การแห่นาคโบราณนี้จะใช้ชาวบ้านจำนวนมาก ประมาณ ๘-๑๐ คนต่อการแห่นาค ด้วยม้าที่ประดิษฐ์ขึ้นด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่น หญ้าคา หญ้าแฝก ไม้ไผ่ เป็นต้น ช่วยกันหามขึ้นและแห่นาคโบราณตามหมู่บ้านของตนเอง เมื่อถึงบ้านคนผู้สูงอายุก็จะนำพ่อนาคลงจากหลังม้าประดิษฐ์ เพื่อนำไปขอขมาในการอุปสมบท ประเพณีนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว และยังคงสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้
ผู้ที่เริ่มต้นนำประเพณีแห่นาคโบราณนี้เข้ามา คือ
๑. ปู่ดำ พลีสัตย์ ภูมิปัญญาในการทำม้าประดิษฐ์ขึ้นด้วยวัสดุธรรมชาติ คือ นางคำวงษ์ แพงผล บุตรหลาน ซึ่งประเพณีนี้ยังคงสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
๒. ปู่อ่อง พลีสัตย์ ปัจจุบันท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ตอนนั้นอายุ ๘๗ ปี ดังนั้นงานประเพณีขี่ม้าแห่นาคโบราณนี้มีการสืบทอดกันมาไม่ต่ำกว่า ๘๐ ปี
ความเป็นมา/แรงบันดาลใจ/เหตุผลที่ทำ
จากการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนตำบลอ่างทอง ทำให้ทราบว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุในตำบลมีอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมากด้วยประสบการณ์ จึงถือได้ว่าเป็น “คลังปัญญาของชุมชน” การที่จะนำความรู้/ภูมิปัญญาที่อยู่ในตัวผู้สูงอายุมาทำการถ่ายทอด เพื่อมิให้สูญหายไปจากวิถีชีวิตของคนในชุมชน จึงถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ซึ่งในสมัยก่อนชุมชนบ้านอ่างทอง จะจัดทำม้าไม้ไผ่ที่ตกแต่งอย่างสวยงามเพื่อใช้สำหรับแห่นาคไปอุปสมบท ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานานกว่า ๑๐๐ ปี และยังเป็นอัตลักษณ์ประจำชมรม TO BE NUMBER ONE ชุมชนบ้านอ่างทอง อีกด้วย
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาการจัดทำผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ (ม้าไม้ไผ่)
๒. เพื่อเป็นการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม รวมถึงการสร้างสัมพันธภาพให้ชุมชน
๓. เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ให้ชุมชน เพื่อการสร้างการตลาด
๔. เพื่อเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชน (ผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ)
วัตถุดิบ
ไม้ไผ่ (ถ้าเป็นไผ่สีสุกจะมีคุณภาพดี)
อุปกรณ์
มีดจักตอก หญ้าแฝก/หญ้าคา ผ้า กระดาษอังกฤษ กระดาษว่าว ไหมพรม ผ้าขาวม้า เข็ม ด้าย กาว เชือกไนล่อน กาว กรรไกร
กระบวนการ/ขั้นตอน การประดิษฐ์ม้า
๑. การทำโครงร่างของตัวม้า
- ตัดไม้ไผ่ทั้งลำยาวประมาณ ๔ เมตร จำนวน ๒ ท่อน (ใช้สำหรับทำเป็นคานหาม)
- ตัดไม้ไผ่ทั้งลำยาวประมาณ ๘๐ เซนติเมตร จำนวน ๒ ท่อน (ใช้สำหรับยึดขาม้า)
- ตัดไม้ไผ่ทั้งลำยาวประมาณ ๔๐ เซนติเมตร จำนวน ๔ ท่อน (สำหรับทำขาม้า)
- ตัดไม้ไผ่ทั้งลำยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร จำนวน ๑ ท่อน (สำหรับทำตัวม้า)
- ตัดไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ ที่มีแขนงแยกออกมา ยาวประมาณ ๘๐ เซนติเมตร (สำหรับทำคอม้า)
- ไม้ไผ่ผ่าซีก ขนาดประมาณ ๒ นิ้ว ยาวประมาณ ๗๐ เซนติเมตร (สำหรับทำแผงคอของม้า)
- ไม้ไผ่ผ่าซีก ขนาดประมาณ ๒ นิ้ว ยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร (สำหรับทำหน้าส่วนจมูกม้า)
- ไม้ตอกยาวพอประมาณใช้สำหรับผูกมัดยึดลำตัวม้าและส่วนต่าง ๆ
๒. การประกอบตัวม้า
ใช้หญ้าแฝก/หญ้าคา เป็นมัดโดยการหุ้มโครงไม้ไผ่ (ตัวม้า) ทำให้แลดูเป็นส่วนของเนื้อม้า/กล้ามเนื้อ โดยให้เหมาะสมกับขนาดตัวของม้า และอาจใช้ใบตองแห้งมาเสริมในบางส่วนของตัวม้าทำให้แลดูมีเนื้อของม้าที่สมบูรณ์
๓. การตกแต่งตัวม้า
ใช้ผ้าหุ้มตัวม้า (เดิมเป็นหญ้าแฝก/หญ้าคา) เย็บติดให้สวยงาม ตกแต่งอานม้าด้วยผ้าขาวม้า ติดกระดาษสีที่เป็นรูปร่างต่าง ๆ ให้สวยงาม ติดหาง-ผมม้าที่ทำจากเชือกไนล่อนถักเป็นเปีย ไม้ไผ่ตกแต่งเป็นบังเหียน ตกแต่งตาม้า หูม้า ด้วยกระดาษเสริมโครงไม้ไผ่ ตกแต่งเต่ารั้งที่คอของม้า ตกแต่งด้านหน้าของม้าด้วยก้านดอกไม้+เต่ารั้ง และก้านดอกไม้+ดอกตะวันที่ตกแต่งก้านหลอดและแมงดา
๔. การทำชฎา
ใช้ตอกไม้ไผ่สานแบบลายชะลอมครึ่งใบ ตกแต่งด้วยกระดาษลวดลายต่าง ๆ ยอดบนประดับด้วยก้านดอกไม้+ดอกตะวันที่ตกแต่งก้านหลอดและแมงดา จำนวน ๔ ก้าน
ข้อพึงระวัง
การตัดกระดาษให้เป็นลวดลายให้พึงระวังอย่าตัดจนขาดจนเสียรูปร่าง ช่วงการตกแต่งควรแขวนไว้ที่สูง เพราะถือว่า “ชฎา” คือของสูงอย่างหนึ่ง
ปัจจุบัน นอกจากจะมีการนำประเพณีบวชนาคโบราณ ขี่ม้าแห่นาค ในพิธีบวชนาคของชาวบ้านอ่างทอง ตำบลอ่างทอง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ แล้ว สภาวัฒนธรรมอำเภอบรรพตพิสัย นำโดย นายสรสิทธิ์ อินทร ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอบรรพตพิสัย ได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ประเพณีท้องถิ่น ที่ดีงาม ควรค่าแก่การอนุรักษ์ สืบทอดไปยังรุ่นต่อไป จึงได้มีการอนุรักษ์ สืบทอด มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม นำม้าประดิษฐ์ประเพณีแห่นาคโบราณ มาเป็นศิลปะการแสดงทางวัฒนธรรม ในขบวนแห่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ต้อนรับประธานในพิธี งานกิจกรรมต่างๆ ตามความเชื่อที่ว่า ผู้ที่ได้ขี่ม้าประดิษฐ์ จำลองการแห่นาค ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบทอด ขนบธรรมเนียมประเพณี และเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน ต่อยอด มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ให้คงอยู่สืบไป และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย