ขนมต้มยวน“ยวน” แปลว่า เย้ายวน เป็นขนมที่ทานแล้วจะมีรสชาติ
กลมกล่อม นุ่มนวลเย้ายวน ชวนให้หลงใหล ชวนให้ลิ้มลอง เป็นขนมไทยพื้นบ้าน
ทำจากแป้งข้าวเหนียวมีลักษณะคล้ายขนมบัวลอย แต่ว่ามีขนาดใหญ่กว่าและ
มีไส้ถั่วเหลืองอยู่ข้างใน
เป็นขนมหวาน พื้นบ้านของอำเภอพยุหะคีรี ที่สืบสานถ่ายทอดกันมาสมัย
ปู่ย่าตายาย จากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน มากกว่า ๘๐ ปี ปัจจุบันยังมีการทำขายอยู่บ้างแต่จำนวนผู้ที่ทำขนมต้มยวนลดน้อยลง
ลักษณะเด่นของขนมต้มยวน
ด้วยลักษณะของขนมต้มยวน มีหลากหลายสีสัน เช่น สีเขียว จากใบเตย สีเหลือง จากฟักทอง สีน้ำเงิน จากดอกอัญชัน สีชมพู จากดอกเฟืองฟ้า สีม่วงอ่อนๆๆ จากเผือกเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งในการทำขนมที่เชิญชวนให้คนอยากทาน ซึ่งมีสีสันหลากหลาย คล้ายบัวลอย แต่มีขนาดใหญ่มีไส้ถั่วเหลืองอยู่ข้างในโดยเฉพาะจะมีกลิ่นหอมของควันเทียน
องค์ประกอบของขนมต้มยวน มีดังต่อไปนี้
๑. แป้งข้าวเหนียว ๑ กก.
๒. น้ำกะทิ ๒ กก.
๓. ถั่วเหลือง ๑ กก.
๔. น้ำตาลปี๊บ ๑/๒ กก.
๕. น้ำตาลทราย ๓ ขีด
๖. เทียนอบ ๑ อัน
๗. เกลือป่น
๘. น้ำลอยดอกมะลิ
๙. น้ำขิง
๑๐. งาขาวคั่ว
๑๑. หากต้องการให้แป้งมีสีสัน ใช้สมุนไพรแทนสีผสมอาหาร ได้แก่ ใบเตย ฟักทอง ดอกอัญชัน ดอกเฟื่องฟ้า เผือก ลูกตาลสุก ใบย่านาง แครอท ขมิ้น ฯลฯ
ขั้นตอนและวิธีการทำ
ส่วนผสมของไส้ขนม
๑. แช่ถั่วเหลืองไว้ค้างคืน หรือแช่น้ำอุ่นประมาณ ๒ ชั่วโมง นำถั่วเหลืองที่แช่ไว้ล้างให้สะอาดนำไปหุงให้สุกเหมือนหุงข้าว แล้วนำไปดงไฟให้แห้ง
๒. นำถั่วเหลืองที่ดงไฟให้แห้งแล้ว ใส่น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทรายกวนไปทางเดียวกัน ทิ้งไว้ให้ไส้เกือบเย็นดีแล้วจึงนำไปอบควันเทียนประมาณ ๒๐ นาที จากนั้นนำมาปั้นเป็น
ก้อนกลมๆ เพื่อทำเป็นไส้ ใส่ในแป้ง
ส่วนผสมของแป้ง
๑. นำแป้งข้าวเหนียวนวดกับน้ำต่างๆ
สีเขียว จากน้ำใบเตย สีน้ำเงิน จากน้ำดอกอัญชัน สีเหลือง จากฟักทอง สีม่วงอ่อนๆ จากเผือก ฯลฯ (ทั้งนี้สามารถใช้สีต่างๆ จากพืชผักสมุนไพร มาผสมได้ตามใจชอบ)
๒. นำแป้งแต่ละสีมาปั้นเป็นก้อนกลมเล็กๆ จากนั้นกดแผ่แป้งให้เป็นแผ่นบางๆ วางไส้ถั่วเหลืองกวนตรงกลาง ค่อยหุ้มแป้งให้ปิดไส้ คลึงให้เป็นก้อนกลม
๓. จากนั้นนำไปต้มที่น้ำเดือดจนขนมลอย ตักขึ้นแช่น้ำเย็น
๔. นำน้ำกะทิตั้งไฟใส่เกลือเล็กน้อย และน้ำตาลทราย พอเดือดยกลง คนอย่าให้แตกมัน ทิ้งไว้ให้เย็น (ใส่เนื้อมะพร้าวน้ำหอมเพิ่มเติมได้)
๕. จากนั้นตักตัวขนมจากที่แช่น้ำเย็น ใส่ลงในน้ำกะทิเตรียมไว้ ตักเสิร์ฟโรยด้วยงาขาวคั่ว