ผ้าทอ ลาวครั่ง ตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ผ้าทอลาวครั่ง เกิดจากฝีมือของช่างทออันเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน ของกลุ่มชนที่สืบเชื้อสายจากลาวครั่ง ชาวลาวครั่ง มีความสามารถในการทอผ้า เมื่อมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ก็นำเอาประเพณี วัฒนธรรมสิ่งของเครื่องใช้มาด้วย โดยเฉพาะด้านการทอผ้า และยังคงรักษาวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อไว้ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะผ้าทอเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวลาวครั่งในอดีตนั้นชาวลาวครั่งจะทอผ้ากันทุกครัวเรือนเพื่อเป็นเครื่องนุ่งห่มของทุกคนในครอบครัว และใช้ในพิธีกรรมตามคติความเชื่อดั้งเดิมที่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อดวงวิญญาณพิธีกรรมเกี่ยวการเกิด การตาย และประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ของลาวครั่งจะมีเรื่องราวของผ้าทอเข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ ผ้าทอลาวครั่งจึงมีความสำคัญผูกพันกลมกลืนต่อวิถีชีวิตชาวลาวครั่งมาตั้งแต่อดีตและยังถ่ายทอดให้ลูกหลานได้สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
สภาวัฒนธรรมอำเภอท่าตะโก มีความตั้งใจที่จะร่วมส่งเสริมสนับสนุนกลุ่ม "กลุ่มผ้าทอ ลาวครั่ง บ้านหัวถนนกลาง" ให้มีชื่อเสียง สามารถประกอบเป็นอาชีพหลัก มีรายได้ที่ดีให้กับชาวบ้านกลุ่มทอผ้าบ้านหัวถนนกลางให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลาย พร้อมทั้งยอดภูมิปัญญาพื้นถิ่นด้วยการพัฒนาชุมชน นำความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ พร้อมบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกัน เพื่อเป็นการสร้างให้ชุมชนบ้านหัวถนนกลาง สามารถมีรายได้จากการประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน มั่นคง
ผ้าทอ ลาวครั่ง ตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ผ้าทอลาวครั่ง เกิดจากฝีมือของช่างทออันเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน ของกลุ่มชนที่สืบเชื้อสายจากลาวครั่ง ชาวลาวครั่ง มีความสามารถในการทอผ้า เมื่อมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ก็นำเอาประเพณี วัฒนธรรมสิ่งของเครื่องใช้มาด้วย โดยเฉพาะด้านการทอผ้า และยังคงรักษาวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อไว้ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะผ้าทอเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวลาวครั่งในอดีตนั้นชาวลาวครั่งจะทอผ้ากันทุกครัวเรือนเพื่อเป็นเครื่องนุ่งห่มของ ทุกคนในครอบครัว และใช้ในพิธีกรรมตามคติความเชื่อดั้งเดิมที่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อดวงวิญญาณพิธีกรรมเกี่ยวการเกิดการตาย และประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ของลาวครั่งจะมีเรื่องราวของผ้าทอเข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ ผ้าทอลาวครั่งจึงมีความสำคัญผูกพันกลมกลืนต่อวิถีชีวิตชาวลาวครั่งมาตั้งแต่อดีตและยังถ่ายทอดให้ลูกหลานได้สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
๑. เส้นใยที่ใช้ในการทอผ้าฝ้ายและใยสังเคราะห์
ไหมประดิษฐ์ หรือไหมสำเร็จรูป เป็นเส้นใยสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติเด่นคือมีความเหนียวเส้นเล็ก สีสันสดใส ซักแล้วสีไม่ตก เส้นใยทนทาน รีดเรียบได้ง่าย สามารถซักด้วยเครื่องซักผ้าได้ สีไม่ตกมีทั้งที่ย้อมสีสำเร็จรูป และราคาย่อมเยาว์ ผ้ามัดหมี่ เป็นผ้าทอด้วยไหมประดิษฐ์ผสมกับด้าย โดยใช้ด้ายเป็นเส้นยืนและใช้ไหมประดิษฐ์ซึ่งมัดเป็นเปลาะๆ นำไปย้อมสีให้เป็นลายใช้เป็นเส้นพุ่ง ซึ่งจะมีลวดลายที่แตกต่างกันแต่ละพื้นที่ อาทิเช่น ลายน้ำไหลหรือลายสายฝน ผ้ามัดหมี่ลายโลด (หมี่โลด) ผ้ามัดหมี่ลายเปี่ยง (หมี่เปี่ยง) ผ้ามัดหมี่ลาย(หมี่ลายหรือ หมี่ตา) เป็นต้น
๒. การทอผ้า
จะใช้การทอผ้าแบบ ๒ ตะกอ ผิวเรียบ หน้า–หลังสีเหมือนกัน บางกว่า ๔ ตะกอเมื่อใช้เส้นด้ายชนิดเดียวกัน
ผ้าทอที่แบ่งตามกรรมวิธีในการทอ ซึ่งมีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามลวดลายที่เกิดจากการทอบนผืนผ้า เช่น
- ผ้ามัดหมี่ มีกรรมวิธีการทอที่ทำให้ให้เกิดลวดลายโดยการย้อมเส้นฝ้ายให้ด่าง โดยการผูกมัดให้เกิดช่องว่าง การทอผ้ามัดหมี่แต่ละผืนต้องใช้เวลาและความประณีต โดยจัดเรียงเส้นไหมและฝ้ายให้สม่ำเสมอ คงที่ กรรมวิธีต้องเรียงลำดับก่อนหลังให้ถูกต้อง เพื่อทำให้เกิดลวดลายสวยงามตามต้องการ
- ผ้าจก การทอจกเป็นกรรมวิธีของการทอและการปักผ้าไปพร้อมๆกัน การทอลวดลายใช้วิธีการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าเป็นช่องๆไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า ซึ่งจะทำได้โดยใช้ไม้หรือขนเม่น หรือนิ้วมือยกขึ้น เป็นการทอผสมการปักกลายๆ
- ผ้ายกดอก มีกรรมวิธีการทอให้เกิดลวดลายในการยกตะกรอแยกด้ายเส้นยืน แต่ไม่ได้เพิ่มเส้นด้ายยืน หรือ เส้นพุ่งพิเศษเข้าไปในผืนผ้า แต่ในบางครั้งจะยกดอกด้วยการเพิ่มเส้นพุ่ง จำนวน สองเส้น หรือมากกว่านั้นเข้าไป
๓. สีที่ใช้ย้อม
การย้อมสีเส้นไหม คือ การทำให้เส้นไหมมีสีสันต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการสร้างสีสันและลวดลายให้กับผ้า ซึ่งมีหลายวิธีการ เช่น การจุ่มย้อมสี การแต้มสี การเขียนสี เป็นต้น สีที่ใช้ย้อมมี 2 ประเภทที่ใช้กัน คือ สีธรรมชาติและสีสังเคราะห์
การย้อมสีธรรมชาติ โดยส่วนใหญ่ได้มาจากส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น เปลือกไม้ ใบไม้ ผล ลำต้น แก่น ต้นไม้และรากไม้ ซึ่งจะมีกรรมวิธีในการเตรียมน้ำย้อมสีและวิธีการย้อมสีที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชและส่วนที่นำมาใช้ในการย้อมสี
สังเคราะห์หรือสีเคมี เป็นสีที่มีความบริสุทธิ์ของตัวสีมาก สามารถนำสีเหล่านั้นมาผสมให้ได้สีตามที่ต้องการและปรับระดับความเข้มของสีได้ วิธีการย้อมทำได้ง่ายและสะดวก สีที่ย้อมได้จะมีความสดสวยและมีความทนทานของสีดี สีสังเคราะห์ที่นำมาย้อมมีหลายประเภท แต่ละประเภทจะมีคุณสมบัติของสีย้อม กรรมวิธีการย้อม คุณภาพสีย้อมที่แตกต่างกัน ดังนั้น การนำมาใช้ประโยชน์จะต้องให้เหมาะสม
๔. ความหมายของสีที่นำมาใช้ทอผ้า
-สีแดงความหมายของสีแดง สื่อความหมายแทน “ดวงอาทิตย์” เนื่องจากบรรพบุรุษย้ายอพยพมาจากทิศตะวันออก และสีแดงจะใช้เฉพาะในส่วนตีนซิ่นเท่านั้น
-สีขาวความหมายของสีขาว สื่อความหมายแทน “เชื้อชาติ”บอกถึงชาติพันธุ์หรือชนเผ่าของบรรพบุรุษคือ “ลาวพุทธ”
-สีเหลืองความหมายของสีเหลือง สื่อแทน “ดอกจำปา” บอกถึงเอกลักษณ์ชุมชนคือ ความเป็นลาว
-สีดำความหมายของสีดำ แทน “เมือง” ที่มีลักษณะอุดมสมบูรณ์มี “ดินดำน้ำชุ่มสีดำ และยังสื่อถึงความตาย ความลึกลับ เป็นสัญลักษณ์ของความเศร้าโศก เสียใจ
-สีเขียวความหมายของ สีเขียว หรือ สีสิ้ว สื่อแทน “การดำรงชีวิต” บอกถึงความเป็นธรรมชาติ
๕. ชื่อลายผ้า
-ลายหมี่สำเภาเป็นมัดหมี่ลายโบราณ ที่ช่างทอจินตนาการถึงเรือสำเภากางใบพัด แล่นกลางแม่น้ำใหญ่ สำเภายังเปรียบเสมือน ธุรกิจ การค้า การงาน ให้ประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ปราศจากอุปสรรคต่าง ๆ
-ลายหมี่ตาเอกลักษณ์ของลายหมี่ตา คือ โครงสีของผ้าซิ่นจะเป็นสีเอกรงค์โดยนิยมใช้สีแดงเป็นหลักซึ่งย้อมจากครั่ง ส่วนตัวซิ่นจะทอด้วยเทคนิคมัดหมี่สลับขิด ลายขิดขนาดใหญ่เรียก “ตาใหญ่” ลายขิดขนาดเล็กหรือเป็นเพียงลายริ้วเรียก “ตาน้อย”
- ลายดอกแก้วลายดอกแก้ว ถือได้ว่าเป็นลวดลายดั้งเดิมแต่โบราณจัดอยู่ในประเภทแม่ลาย หรือลายพื้นฐานสําหรับการสร้างหรือตกแต่งลวดลายบนผืนผ้า ซึ่งมีทั้งการตกแต่งลวดลายด้วยกรรมวิธีมัดหมี่ จก และขิด
- ลายดอกพิกุลลายดอกพิกุล เป็นลวดลายผ้าโบราณที่มีการออกแบบสำหรับทอผ้ายกลำพูนในอดีต ซึ่งต่อมาได้มีการออกแบบลวดลายดอกพิกุลที่ หลากหลายมากขึ้น เช่น พิกุลเครือ พิกุลมีขอบ พิกุลก้านแยง พิกุลเชิงใหญ่ พิกุลเล็ก พิกุลสมเด็จ เป็นต้น
-ลายข้าวหลาม
๘. ขั้นตอนการทอ
การทอผ้าหรือ "การทอ" ถือเป็นศิลปะและหัตถกรรมหรืองานฝีมืออย่างหนึ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นกรรมวิธีการผลิตผืนผ้าโดยใช้เส้นด้ายพุ่งและเส้นด้ายยืนมาขัดประสานกันจนได้เป็น ผืนผ้า ทั้งนี้ต้องมีเครื่องมือในการทอ เรียกว่าหูกหรือ กี่
อุปกรณ์การทอผ้า
-เฝือ ทำหน้าที่ ขึ้นด้ายยืนเพื่อเรียงเส้นด้าย ให้ได้ขนาดหน้าผ้าที่ต้องการ
-ฟันหวี (ฟืม) ทำหน้าที่ ร้อยเส้นด้ายให้เรียงกัน
-กังหัน ทำหน้าที่ หมุนด้ายยืนที่สะดวกในการทอ
-ไม้ก้ามปู ทำหน้าที่ บังคับความกว้างของการเก็บตะกอ
-ไม้ทะนัด และไม้แซ่ ทำหน้าที่ รองรับเส้นด้ายย้ายจากการเก็บตะกอ
-กรง ทำหน้าที่ สำหรับมัดหมี่
-กี่กระตุก ทำหน้าที่ ทอผ้า
ขั้นตอนการทอผ้าแบบมัดหมี่
ขั้นตอนที่ ๑ การกรอด้าย
การกรอเส้นด้ายหรือการปั่นกรอเส้นด้าย เข้าในหลอด (ท่อพลาสติก) มีทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ด้ายหลอดเล็ก จะใช้สำหรับทอผ้าพื้น ด้ายหลอดใหญ่ให้เป็นด้ายยืน
ด้ายหลอดใหญ่หรือด้ายยืนนั้น ช่างจะใช้เวลาปั่นกรอทั้งหมด ๗๖ หลอด ใช้ด้าย ๑,๑๒๐ เส้น จะได้ความกว้างของหน้าผ้าเมื่อทออกมาแล้วประมาณ ๓๙ นิ้วครึ่ง เป็นขนาดมาตรฐาน แต่เดิมเครื่องกรอเส้นด้ายยืนนี้ เรียกว่า ไน และระวิง หรือหลากรอเส้นด้าย ใช้มือหมุน แต่ปัจจุบันช่างได้คิดค้นโดยนำมอเตอร์ไฟฟ้าของจักเย็บผ้ามาใช้การกรอด้ายช่างจะไล่ด้ายขึ้น – ลง สลับหัว – ท้ายไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ด้ายที่พันมีความเสมอกัน
ขั้นตอนที่ ๒ การเดินด้ายยืน หรือค้นเส้นด้ายยืน
-นำหลอดด้ายใหญ่ทั้งหมดไปตั้งบนแผงที่มีขาตั้งหลอดมีความยาวประมาณ ๑๐ เมตร
-นำปลายเส้นด้ายทั้งหมดที่ตั้งอยู่บนขาตั้งหลอดมามัดรวมกันแล้วดึงไปมัดกับแคร่เดินเส้นด้าย เดินเส้นด้ายโดยใช้ไม้ปลายแหลมตรึงเส้นด้ายเข้ากับหลักค้น ทั้งเที่ยวขึ้นและเที่ยวลงจนครบ ทุกหลัก เมื่อเดินเส้นด้ายครบแต่ละเที่ยวจะต้องเก็บไขว้เส้นด้ายด้วยการใช้หัวแม่มือเกี่ยวเส้นด้ายแล้วนำไปคล้องกับหลักเก็บไขว้
- เดินเส้นด้ายและเก็บไขว้เส้นด้ายสลับกันไป จนครบตามความต้องการ จากนั้นนำเส้นด้ายออกจากเครื่องเดินด้ายแล้วถักเส้นด้ายรวมกัน
- เส้นด้ายที่ออกจากหลักเก็บไขว้ สอดเข้าฟันหวีจนครบทุกเส้น โดยใช้ไม่ไผ่แบน ๆ สำหรับคล้องเส้นด้ายเข้ากับฟันหวี
ขั้นตอนที่ ๓ การร้อยฟันหวี หรือการหวีเส้นด้าย
การหวีเส้นด้าย คือการจัดเรียงเส้นด้าย และตรวจสอบเส้นด้ายไม่ให้ติดกันหรือพันกันจนยุ่งก่อนที่จะนำเข้าเครื่องทอนำเส้นด้ายที่เดินครบทุกเส้นมาพันเข้ากับหลักบนม้าก๊อบปี้ ตอกสลักม้าก๊อปปี้ให้แน่น
จากนั้นช่างร้อยฟันหวี จะทำหน้าที่คัดเส้นดายออกทีละเส้น เพื่อให้ด้ายตรงกับช่องฟันหวีแล้ว นำเส้นด้ายมาร้อยใน “ไม้ร้อยฟันหวี” ซึ่งมีลักษณะโค้งงอเหมือนเคียว แต่อันเล็กกว่าจะเป็นเหล็กหรือไม้ไผ่ก็ได้) โดยนำมาสอดร้อยเข้าไปในฟันหวีที่ละเส้นจะเริ่มจากด้านซ้ายไปขวา โดยฟันหวีนี้จะมีทั้งหมด ๑,๑๒๐ ซี่ ความยาวเท่ากับ ๔๓ นิ้วครึ่ง ความกว้างของหน้าผ้า ประมาณ ๓๙ นิ้วครึ่ง
เมื่อร้อยเส้นด้ายเข้าฟันหวีเสร็จแล้ว ช่างจะดึงเส้นด้ายมาพันเข้ากับใบพัดม้วนด้ายหรือม้ากังหัน จากนั้นช่างจะดันฟันหวีจากม้ากังหันเข้าไปหาม้าก็อปปี้พร้อมกับใช้ไม้แหลมแหลมเส้นด้ายให้แยกออกจากกัน ป้องกันเพื่อไม่ให้เส้นด้ายพันกัน โดยจะกรีดเส้นด้ายจากใบพัดม้วนจนถึงตัวม้าก็อปปี้ เสร็จแล้วปล่อยสลักม้า ก็อปปี้ หมุนเส้นด้ายพันเข้ากับพัดจนครบหมดทุกเส้น แล้วนำม้วนด้ายที่ได้รับการหวีเสร็จแล้วมาวางบน “ กี่ ” (เครื่องทอผ้า)
ขั้นตอนที่ ๔ การเก็บตะกอ
การเก็บตะกอเป็นการเก็บด้ายยืน โดยจะนำด้ายที่ผ่านการหวีมาแล้ว และใช้ด้ายขวา ๘๐ % ซึ่งเป็นด้ายที่มีความมันน้อย มาร้อยสลับด้ายยืน เพื่อทำหน้าที่สลับเส้นด้ายขึ้น- ลง โดยใช้เครื่องมือที่เป็นไม้ไผ่ เรียกว่า ไม้ก้ามปูมาใช้ในการเก็บตะกอ
ขั้นตอนการเก็บตะกอ
- นำม้วนด้ายที่ได้รับการหวีมาแล้ว วางบนเครื่องทอผ้า (กี่) โดยวางม้วนด้ายให้เข้ากับสลักของเครื่องทอ
- นำปลายเส้นด้ายมารวมกันทุกเส้นแล้วดึงมาผูกกับไม้รองเท้าด้านบนเครื่องทอผ้าให้ตึงแน่นเสมอกันทุกเส้น
- ใช้ด้ายสีขาว ๘๐ เปอร์เซ็นต์ สำหรับเก็บตะกอแล้วผูกติดกับไม้ที่ใช้เท้าเหยียบให้เส้นด้ายสามารถขยับขึ้นลงได้ การเก็บตะกอผ้านี้ ช่างจะกลับม้วนด้ายยืนด้านบนขึ้นเพื่อทำการเก็บตะกอด้านล่างก่อนเพราะการเก็บตะกอด้านล่างจะเก็บยากกว่าด้านบน เมื่อเสร็จแล้วจึงจะเก็บด้นบนที่หลัง
ขั้นตอนที่ ๕ การมัดลายมัดหมี่ (การเตรียมมัดหมี่)
- ลายผ้าที่สวยงามจะต้องได้รับการออกแบบอย่างถูกต้อง หรือมีการคิดค้นประยุกต์ลายให้เหมาะสมก่อที่จะนำมาทอเป็นผืนผ้า การออกแบบลายผ้ามีอุปกรณ์ ๓ อย่าง คือ สมุดกร๊าฟ ๑ เล่ม ดินสอดำ ยางลบ สีเทียน ๑ กล่อง การออกแบบมีขั้นตอนดังนี้
๑) ออกแบบผ้ามัดหมี่บนกระดาษกร๊าฟด้วยดินสอดำ ตามแต่จะต้องการแต่ละลาย เช่น มัดหมี่ชนิด ๓,๗,๙,/๑๓,๑๕ และ ๒๕ ลำ
๒) ระบายสีตามลวดลายที่ได้ออกแบบไว้ด้วยสีเทียนเพื่อให้มองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น
วิธีการค้นลายผ้ามัดหมี่ และมัดหมี่ทำได้โดย
- นำเส้นด้ายสำหรับมัดหมี่ มาเข้าหลักมัดหมี่โดยสอดสลักเข้าไปที่หัวและท้ายแล้วขึงให้ตึงกับหลักทั้ง ๒ ข้าง เอาเชือกฟางมัดด้ายหมี่ตามที่ออกแบบไว้ การมัดนี้เพื่อป้องกันสีไม่ให้ซึมผ่านบริเวณที่ถูกมัดสีที่ติดอยู่จะติดอยู่กับบริเวณที่ไม่ถูกมัด
ขั้นตอนที่ ๖ การย้อมด้ายมัดหมี่
๑) ต้มน้ำในกะละมังให้เดือดประมาณ ๕ นาที ผสมสีเคมีตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้ของแต่ละประเภท คนสีเคมีให้ละลายเข้ากับน้ำเดือดที่ต้มไว้
๒) นำเส้นด้ายหมี่สีขาวที่มัดเชือกฟางเสร็จแล้วมาแช่ในน้ำเปล่าธรรมดา เพื่อเส้นด้ายหมี่อิ่มตัว เพื่อเวลาย้อมเส้นหมี่ สีจะได้ซึมเข้าไปในเส้นด้ายทั้งด้านใน และ นอกเสมอกันทั้งเส้น
๓) นำด้ายมัดหมี่ที่ทำการมัดลายที่ต้องการย้อมแต่ละสีต้องการใส่ในกะละมังที่ผสมสีเคมีไว้ แล้วเพื่อทำการย้อม ระหว่างย้อมให้ใช้ไม้ไผ่คนด้ายหมี่กลับไป – มาตลอดเวลา เพื่อให้สีที่ต้องการย้อมซึมเข้าเส้นหมี่เสมอกันทุกเส้น ไม่กระดำกระด่างไว้เวลาประมาณ ๕ – ๑๕ นาที จึงนำด้ายหมี่ขึ้นล้างด้วยน้ำเย็นนำไปซักตากให้แห้ง
๔) นำด้ายหมี่ที่ย้อมสีเสร็จแล้วไปตากแดดผึ่งให้แห้งสนิท นำมาแกะเชือกฟางออกเพื่อนำมัดหมี่มามัดลายเพื่อย้อมสีอื่นที่ต้องการอีกต่อไป นำอย่างนี้จนครบจำนวนสีต้องการ การย้อมด้ายหมี่นี้จะย้อมจากสีอ่อนไปหาสีแก่ เช่น สีเหลือง แดง เขียว ฯลฯ
ขั้นตอนที่ ๗ การปั่นหมี่
เมื่อได้เส้นด้ายหมี่ตามสีที่ย้อมแล้ว นำด้ายหมี่มาแกะเชือกฟางออกจะนำด้ายหมี่มาใส่เครื่องกรอด้าย โดยนำปลายเส้นด้ายหมี่พันรอบหลอดด้ายพุ่ง (เป็นหลอดเล็ก ๆ ) ใส่เป็นรูปกรวยเรียงซ้อนกัน ตามลำดับโดยจะเรียงจากด้านล่างขึ้นบนไปเรื่อย ๆ การกรอด้ายหมี่จะกรอที่ละหลอด เมื่อเติมหลอดด้ายพุ่งแล้วจึงกรอใส่หลอดอื่น ๆ ต่อไป ด้ายหมี่แต่ละหลอดนั้น นอกจากจะเรียงลำดับจากด้านล่างขึ้นด้านบนแล้วจะต้องใส่เข้ากับเชือกห้อยเรียงไว้ตามลำดับก่อน – หลัง จึงจะทอเป็นลายผ้าหมี่ได้ถูกต้อง
ขั้นตอนที่ ๘ การทอผ้าเป็นผืนผ้า
นำหลอดด้ายมัดหมี่ที่กรอเสร็จเรียบร้อยแล้ว ใส่กระสวยสำหรับทอผ้า ซึ่งควรเลือกกระสวยที่มีปลายแหลมทั้งหัวและท้าย ผิวเรียบ นำกระสวยด้ายพุ่งใส่รางกระสวย ใช้มือกระตุกพาเส้นด้ายวิ่งผ่านไปมาให้ขัดกับเส้นด้ายยืน ดึงฟันหวีกระแทกใส่เส้นด้ายพุ่งกับเส้นด้ายยืนแน่นยิ่งขึ้น ใช้เหยียบไม้พื้นที่ผูกติดกับตะกอด้ายให้สลับขึ้นลงโดยให้สัมพันธ์กับการใช้มือกระตุกให้กระสวยพาด้ายวิ่งผ่านไปมา ขัดกับเส้นด้ายยืน เมื่อได้ผ้าทอเป็นผืนแล้วใช้กรรไกรตัดตกแต่งผืนผ้าทีมีเส้นด้ายซึ่งเป็นเศษด้ายริมขอบผ้าให้สวยงามจึงได้ผ้าทอมือที่สวยงาม
9.เทคนิคพิเศษที่ใช้ในการทอผ้า
การทอมัดหมี่
ผ้ามัดหมี่มีกรรมวิธีการทอผ้าที่ใช้เทคนิคการมัดและการย้อม เริ่มจากนำเส้นด้ายหรือไหมมาย้อมสีแล้วมัดบริเวณที่ ต้องการเก็บไว้ เมื่อนำไปย้อมสีอื่นจะได้ไม่ติดสี เพียงซึมเข้ามาบางส่วน โดยย้อมเรียงลำดับจากสีอ่อนไปหาสีเข้มจนครบ ตามลวดลายที่กำหนด หลังจากนั้นจึงนำด้ายกรอเข้าหลอดตามลำดับ แล้วนำไปทอจะเกิดลวดลายบนผืนผ้าที่มีลักษณะคลาดเคลื่อนเหลื่อมล้ำ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมัดหมี่ การทอผ้าชนิดนี้จึงต้องอาศัยความชำนาญในการมัดย้อมและทอเป็นอย่างมาก ผ้ามัดหมี่มีอยู่หลายชนิด ได้แก่
๑. มัดหมี่เส้นพุ่ง
๒. มัดหมี่เส้นยืน
๓. มัดหมี่เส้นพุ่งและเส้นยืน
การขิด
ขิด หมายถึง กรรมวิธีในการทอผ้าเพื่อให้เกิดลวดลายต่างๆ ขึ้นมา โดยวิธีการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษ ในระหว่างการ ทอ เพื่อให้เกิดลวดลายที่โดดเด่นกว่าสีพื้น วิธีการทำคือ ใช้ไม้เขี่ยหรือสะกิด เพื่อช้อนเส้นด้ายยืนขึ้น แล้วสอดเส้นด้ายพุ่ง ไปตามแนวที่ถูกจัดช้อน จังหวะการสอดเส้นด้ายพุ่งนี่เอง ที่ทำให้เกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ การจกเป็นเทคนิคการทอผ้าเพื่อให้เกิดลวดลายต่างๆ โดยเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษสอดขึ้นลง วิธีการคือ ใช้ขนเม่น ไม้หรือนิ้ว สอดเส้นด้ายยืนขึ้น แล้วสอดเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไป ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นลวดลายเป็นช่วง ๆ สามารถทำสลับสีลวดลายได้หลากสี ซึ่งจะแตกต่างจากการขิดตรงที่ขิดที่เป็นการใช้เส้นด้ายพุ่งพิเศษเพียง สีเดียว การทอผ้า วิธีจกใช้เวลานานมากมักทำ เป็นผืนผ้าหน้าแคบใช้ต่อกับตัวซิ่น เรียกว่า “ ซิ่นตีนจก ”
การทอผ้ายก
เป็นกรรมวิธีการทอให้เกิดลวดลายโดยการยกตะกอแยกด้ายเส้นยืน และในบางครั้งการยกดอกจะมีการเพิ่มด้ายเส้น พุ่งจำนวนสองเส้น หรือมากกว่านั้นเข้าไปในผืนผ้า ลวดลายที่ทอจะเป็นลายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และความเชื่อทางศาสนา ซึ่งได้แก่ ลายปราสาท ลานธรรมาสน์ ลายสัตว์ ลายพืช ลายจากสิ่งของเครื่องใช้ และลายเรขาคณิต
ผ้าทอลาวครั่งมีความสำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งทอในครัวเรือนเพื่อเป็นเครื่องนุ่งห่มใช้สอยภายในบ้าน ใช้ในพิธีกรรม เช่น พิธีไหว้ผีบรรพบุรุษ ยังใช้เพื่อการศาสนา ได้แก่ การทำธง อาสนะ ผ้าคลุมหัวนาค ผ้าติดธรรมาสน์ ส่วนผ้าตีน กลุ่มชนไทครั่งหรือลาวครั่ง มีพื้นฐานมาจากความเลื่อมใส ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และความเชื่อในสิ่งลึกลับ จกจะทอขึ้นเพื่อใช้ในเวลามีงานบุญ งานมงคลสมรส เป็นต้น ภูมิปัญญาที่เป็นรากเหง้าในการสร้างสรรค์งานทอของ เช่น ผีสาง เทวดา และผีบรรพบุรุษ เป็นต้น ประกอบกันจนกระทั่งกลาย เป็นแรงบันดาลใจที่ก่อให้เกิดลวดลายที่แฝงไว้ด้วยความหมาย
ผ้าทอลาวครั่ง ภูมิปัญญาด้านการทอผ้าภูมิปัญญาที่เป็นรากเหง้าในการสร้างสรรค์งานทอของ กลุ่มชนไทครั่งหรือลาวครั่ง มีพื้นฐานมาจากความเลื่อมใส ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และความเชื่อในสิ่งลึกลับ เช่น ผีสาง เทวดา และผีบรรพบุรุษ เป็นต้น ประกอบกันจนกระทั่งกลาย เป็นแรงบันดาลใจที่ก่อให้เกิดลวดลายที่แฝงไว้ด้วยความหมาย โดยในยุคแรกนั้น มีทวดกล่ำ สุขวิญญา ผู้ริเริ่มการทอผ้า ลาวครั่ง บ้านหัวถนน โดยได้ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งในปัจจุบัน มีนางลำพึง อินทะชุบ และนางวันเพ็ญ ยอดฉิมมา เป็นผู้ดูแล กลุ่มผ้าทอ ลาวครั่ง บ้านหัวถนน