ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 15° 41' 14.2357"
15.6872877
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 7' 31.859"
100.1255164
เลขที่ : 197438
ประเพณีสารทจีน
เสนอโดย นครสวรรค์ วันที่ 21 กันยายน 2565
อนุมัติโดย นครสวรรค์ วันที่ 21 กันยายน 2565
จังหวัด : นครสวรรค์
0 333
รายละเอียด

ประเพณีสารทจีนเป็นการทำบุญกลางปีของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่สืบทอดกันมาช้านานจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาถึงประวัติความเป็นมาของเทศการสารทจีนดังนี้

จากฤดีภูมิคูถาวร1 ได้กล่าวถึงประเพณีสารทจีนไว้ว่า วันสารทจีนเป็นวันที่เงี่ยมล้อเทียนจือ (ยมบาล) จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์และส่งวิญญาณร้ายลงนรก ชาวจีนทั้งหลายรู้สึกสงสารวิญญาณร้ายจึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ดังนั้นเพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญนี้จึงต้องมีการเปิดประตูนรกนั่นเอง จากตำนานวันสารทจีน มีชายหนุ่มผู้หนึ่งมีนามว่า “มู่เหลียน” (พระมหาโมคคัลลานะ) เป็นคนเคร่งครัดในพุทธศาสนามาก ผิดกับมารดาที่เป็นคนใจบาปหยาบช้า ไม่เคยเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์มีจริง ปีหนึ่งในช่วงเทศกาลกินเจนางเกิดความหมั่นไส้คนที่นุ่งขาวห่มขาวถือศีลกินเจ นางจึงให้มู่เหลียนไปเชิญผู้ถือศีลกินเจเหล่านั้นมากินอาหารที่บ้าน โดยนางจะทำอาหารเลี้ยงหนึ่งมื้อ ผู้ถือศีลกินเจต่างพลอยยินดีที่ทราบข่าวว่ามารดาของมู่เหลียนเกิดศรัทธาในบุญกุศลครั้งนี้ จึงพากันมากินอาหารที่บ้านของมู่เหลียน แต่หาทราบ ไม่ว่าในน้ำแกงเจนั้นมีน้ำมันหมูเจือปนอยู่ด้วย การกระทำของมารดามู่เหลียนนั้นถือว่าเป็นกรรมหนัก เมื่อตายไปจึงตกนรกอเวจี มหานรกขุมที่ 8 เป็นนรกขุมลึกที่สุด ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส เมื่อมู่เหลียนคิดถึงมารดาก็ได้ถอดกายทิพย์ลงไปในนรกภูมิ จึงได้รู้ว่ามารดาของตนกำลังอดอยาก จึงป้อนอาหารแก่มารดา แต่ได้ถูกบรรดาภูตผีที่อดอยากรุมแย่งไปกินหมด และเม็ดข้าวสุกที่ป้อนนั้นกลับเป็นไฟเผาไหม้ริมฝีปากของมารดา จนพอง แต่ด้วยความกตัญญูและสงสารมารดาที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส มู่เหลียนได้เข้าไปขอ พญาเหงี่ยมล่ออ๊อง (ยมบาล) ว่าตนขอรับโทษแทนมารดา ซึ่งก่อนที่มู่เหลียนจะถูกลงโทษด้วยการนำร่างลงไปต้มในกระทะทองแดง พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาโปรดไว้ได้ทัน โดยกล่าวว่ากรรมใดใครก่อก็ย่อมจะเป็นกรรมของผู้นั้นและพระพุทธเจ้าได้มอบคัมภีร์อิ๋ว หลันเผิน ให้มู่เหลียนท่อง เพื่อเรียกเซียนทุกทิศทุกทางมาช่วย ผู้มีพระคุณให้หลุดพ้นจากการอดอยากและทุกข์ทรมานต่าง ๆ ได้ โดยที่มู่เหลียนจะต้องสวดคัมภีร์อิ๋ว หลันเผินและถวายอาหารทุกปีในเดือนที่ประตูนรกเปิด จึงจะสามารถช่วยมารดาของเขาให้พ้นโทษได้ จากนั้นเป็นต้นมา ชาวจีนจึงถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมา ด้วยการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ โดยมีอาหารคาวหวาน กระดาษเงินกระดาษทอง ให้กับบรรดาวิญญาณญาติของตน รวมถึงนำไปวางไว้หน้าบ้านหรือตามทางแยกที่ไม่ไกลบ้านนัก เพื่อให้กับบรรดาวิญญาณเร่ร่อนด้วย

ตำนานทางพระพุทธศาสนาที่ว่า ครั้งหนึ่งพระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าที่มีอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์มากรูปหนึ่งสามารถขึ้นสู่สวรรค์และลงนรกได้ ได้ไปพบพระมารคาที่กำลังได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ในนรก แต่พระโมคคัลลานะไม่สามารถช่วยพระมารดาให้พ้นจากทุกข์นั้นได้ จึงกลับมาเรียนถามพระพุทธเจ้าถึงวิธีการที่จะช่วยให้พระมารดาหลุดพ้นจากความทุกข์นั้น เนื่องจากพระมารดาของพระโมคคัลลานะมีกรรมหนักมาก การสงเคราะห์จึงจำเป็นต้องประกอบพิธีประชุมสงฆ์ ซึ่งมีสงฆ์จำนวนมากพระพุทธองค์ จึงได้นัดประชุมสงฆ์ขึ้น ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบอันเป็นระยะกึ่งกลางของปีตามคตินิยมของชาวอินเดีย แล้วให้พระโมคคัลลานะทำสังฆทานด้ายภัตราหารพร้อมเครื่องบริขาร อานิสงฆ์แห่งการทำสังฆทานบำเพ็ญบุญในครั้งนั้นได้ช่วยให้พระมารดาของพระโมคกัลลานะได้หลุดพ้นจากความทุกข์ ชาวพุทธในประเทศจีนจึงได้ทำการบวงสรวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในวันที่15 เดือน 7 ซึ่งเป็นวันครึ่งปีตามคตินิยมฝ่ายจีนถือเป็นวันสารทกลางปี

เทศกาลสารทจีนตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจีน เป็นเทศกาลใหญ่ 1 ใน 8 เทศกาลสำคัญประจำปีของจีน ส่วนในไทยสารทจีนถือเป็นเทศกาลจีนสำคัญอันดับ 2 รองจากตรุษจีนเท่านั้น เทศกาล สารทจีนมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “จงหยวนเจี๋ย” ชาวจีนแต้จิ๋วเรียก “ตงหง่วงโจ๊ย” ชาวจีนไหหน่ำเรียก “เซ็ดเว้ยโต้ย” ซึ่งวันนี้ถ้าไปถามคนจีนแถบภาคเหนือจะไม่รู้จักเลย เพราะนิยมทำกันเฉพาะคนจีนภาคใต้ ฮ่องกง และไต้หวันเท่านั้น

สำหรับเทศกาลสารทจีนจะมีเทพเจ้าประจำเทศกาล นามว่า“เทพจงหยวน”หรือชื่อเต็มว่า“จงหยวนต้าตี้”มีหน้าที่ควบคุมดูแลเทพแห่งมหาบรรพตทั้งห้า (ของจีน) ภูเขาและแม่น้ำ เจ้าที่ประจำเมืองทุกเมือง เทพในเมืองที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ตรวจดูโชคเคราะห์ของสรรพสัตว์ ตรวจบัญชีความดีความชั่วของมนุษย์ และหน้าที่สำคัญคือให้อภัยโทษแก่ผู้รู้ผิดกระทำพลีบูชาท่าน 15 ค่ำ วัน เดือน 7 ท่านจะลงมาตรวจบัญชีชั่วดีของมนุษย์แล้วประทานอภัยให้ และท่านยังเป็นประธานดูแลการไหว้ผีไม่มีญาติด้วย

การไหว้สารทจีน จะต่างจากการไหว้ในเทศกาลอื่นๆ ตรงที่แบ่งการไหว้ออกเป็น 3 ชุด ดังนี้

๑. ชุดสำหรับไหว้เจ้าที่

จะไหว้ในตอนเช้า มีอาหารคาวหวานกุยช่ายส่วนขนมไหว้พิเศษที่ต้องมีซึ่งเป็นประเพณีของสารทจีนคือขนมเทียนขนมเข่งซึ่งต้องแต้มจุดสีแดงไว้ตรงกลาง เนื่องจากชาวจีนมีความเชื่อที่ว่าสีแดงเป็นสีแห่งความเป็นศิริมงคล นอกจากนั้นก็มีผลไม้ น้ำชา หรือเหล้าจีน และกระดาษเงินกระดาษทอง

๒. ชุดสำหรับไหว้บรรพบุรุษ

ไหว้ในช่วงสาย ประมาณ 09.00-11.00 น. ลักษณะสำรับคล้ายของไหว้เจ้าที่ แต่จะมีกับข้าวที่บรรพบุรุษชอบเพิ่มมาด้วย และต้องมีน้ำแกง หรือขนมใส่วางข้างชามข้าวสวย และถ้วยน้ำชาต้องตรงตามจำนวนบรรพบุรุษ และขนมเทียนขนมเข่ง ผลไม้กระดาษเงิน กระดาษทอง

๓. ชุดสำหรับไหว้สัมภเวสี

ช่วงบ่ายๆ ประมาณหลังบ่ายโมง หรือบ่าย 2 โมงไปแล้ว วิญญาณเร่ร่อนหรือวิญญาณไม่มีญาติ เรียกว่า สัมภเวสี หรือ ไป๊ฮ๊อเฮียตี๋ แปลว่า ไหว้พี่น้องที่ดี เป็นการสะท้อนความสุภาพและให้เกียรติของคนจีน เรียกผีไม่มีญาติว่าพี่น้องที่ดีของเรา โดยการไหว้จะไหว้นอกบ้าน ของไหว้จะมีทั้งของคาว-หวาน และผลไม้ ตามต้องการและที่พิเศษคือ มีข้าวหอมแบบจีนโบราณ คอปึ่ง เผือกนึ่งผ่าซีกเป็นเสี้ยวใส่ถาด เส้นหมี่ห่อใหญ่ เหล้า น้ำชา และกระดาษเงิน กระดาษทอง จัดทุกอย่างวางอยู่ด้วยกัน สำหรับเซ่นไหว้

ในสมัยโบราณชาวจีนใช้ขนมไหว้ 5 อย่าง เรียกว่า โหงวเปี้ย หรือเรียกชื่อเป็นชุดว่า ปัง เปี้ย หมี่ มั่ว กี

· ปัง คือขนมทึงปัง เป็นขนมที่ทำมาจากน้ำตาล

· เปี้ย คือขนมหนึงเปี้ย คล้ายขนมไข่

· หมี่ คือขนมหมี่เท้า ทำมาจากแป้งข้าวเจ้า ข้างในไส้เต้าซา

· มั่ว คือขนมทึกกี่ เป็นขนมข้าวพองสีแดง ตรงกลางมีไส้เป็นแผ่นบาง

· กี คือขนมทึงกี ทำเป็นชิ้นใหญ่ยาว เวลาจะกินต้องตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ

แต่ชาวไทยเชื้อสายจีนใช้ขนมเทียน ขนมเข่งในการไหว้ โดยหลักของที่ไหว้ก็จะมีของคาว 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ไก่ หมู เป็ด ไข่ หมึก ปลา เป็นต้น ของหวาน 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ขนมเทียน ขนมมัดไต้ ขนมถ้วยฟู หรือขนมสาลี่ ปุยฝ้าย ขนมเปี๊ยะ ส้ม หรือผลไม้ตามใจชอบ

วัตถุประสงค์ที่จัด

พิธีทิ้งกระจาด เป็นพิธีกรรมจีนอย่างหนึ่ง ที่นิยมจัดขึ้นในเทศกาลต่างๆ ของชาวจีน หรือเรียกกันว่า “ซีโกว” หรือ “ตีโกว”แปลว่าการให้ทานแก่วิญญาณไร้ญาติ เป็นพิธีกรรมของจีนที่มีมาจากพระพุทธศาสนา จากพระสูตร ในพระไตรปิฏกจีน ชื่อเปรตมุข-อัคนีชวาลยศรการ-นาม-ธารณีสูตร ได้กล่าวว่า ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จประทับแสดงพระธรรมเทศนา ณ นิโครธารามวิหาร เมืองกบิลพัสดุ์ พระอานนท์เถระเจ้า พุทธอนุชาได้หลีกออกไปเข้าญาณสมาบัติ อยู่ที่โคนต้นไม้ใหญ่ ขณะที่พระอานนท์บำเพ็ญญาณปริเวทธรรมอยู่นั้น ได้มีอสูรกายตนหนึ่งปรากฏขึ้นเบื้องหน้า บอกชื่อว่า อัคนีชวาลมุขเปรต หรือเอี่ยมเข้า รูปร่างสูงใหญ่หน้าเขียว แสยะเขี้ยว ตามตัวมีแต่หนังหุ้มกระดูก ลำคอเล็กเท่ารูเข็ม มีเปลวไฟโชติช่วงออกจากปากเป็นนิจได้กล่าวกับพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์ เราได้รับความทุกข์เวทนาอย่างแสนสาหัสเพราะความหิวกระหาย จะกินก็ไม่ได้กินมีแต่ทุกขเวทนาเหลือหลาย ท่านผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า อุดมด้วยความเมตตากรุณาต่อสัตว์ ขอพระเถระท่านอุทิศสิ่งอุปโภคบริโภคเป็นไทยทานแก่ฝูงเปรตด้วยเถิด ถ้าท่านไม่กระทำในกาลอีก ๓ วัน ก็จะถึงซึ่งแก่มรณะ ว่าแล้วอสูรกายตนนั้นก็หายไป พระอานนท์เกิดความสะดุ้งกลัว เข้าเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลให้ทรงทราบ แลขอพระพุทธองค์เป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าจึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ในอดีตเมื่อพระองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ในสำนักพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นั้น พระโพธิสัตว์ได้ตรัสเทศนาถึง พิธีโยคเปรตพลี เพื่อโปรดเหล่าเปรตและสัตว์ทั้งหลาย ดังนั้น อัคนีชวาลมุขเปรตตนนั้นคือ พระอวโลกิตเตศวรโพธิสัตว์ (พระกวนอิม) ผู้มีปณิธานที่จะโปรดสัตว์ให้หลุดพ้นจากทุกข์ ได้นิรมิตกายมาเพื่อเป็นอุบายให้พระพุทธองค์แสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับพิธีโยคเปรตพลีอุทิศแก่พระอานนท์ เพื่อโปรดสัตว์ไตรภูมิเป็นปฐม และพิธีนี้ได้เป็นแนวทางปฏิบัติของนิกายมนตรยาน เพื่อแสดงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าและเหล่าพระโพธิสัตว์ต่อเหล่าสัตว์โลกทั้งหลาย เมื่อมีการแปลพระสูตรเป็นภาษาจีน พิธีนี้จึงมีการถ่ายทอดสืบเนื่อง ต่อมาเมื่อหลังราชวงศ์ถังพิธีนี้จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายออกไป จนเป็นที่นิยมของประชาชน มีการประกอบพิธีทั่วไปในประเทศจีน ทั้งในงานศพ ในงานวันเกิด ในเทศกาลสารทจีนเดือน ๗ และในเทศกาลอื่นๆ แม้แต่ในศาสนาเต๋าก็รับแนวคิดนี้จากพระพุทธศานา นอกจากนี้ยังเป็นประเพณีนิยมในประเทศที่รับพระพุทธศาสนาจากจีน เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลี ก็ได้รับความนิยมด้วย ในส่วนของประชาชนจีนทั่วไป เมื่อถึงวันที่กำหนดก็จะจัดมณฑลพิธีและนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดพระพุทธมนต์อุทิศแก่วิญญาณ ส่วนชาวจีนที่อยู่ตามถิ่นห่างไกล นิมนต์พระสงฆ์ลำบากก็จะจัดเพียงเครื่องบูชาเซ่นไหว้ด้วยอาหารแก่วิญญาณเร่ร่อนและบรรพบุรุษแทน จนทุกวันนี้

ด้วยชาวจีนเชื่อว่า ช่วงกลางเดือน ๗ ของจีน ( ตรงกับเดือน ๙ ของไทย) ไปจนถึงสิ้นเดือน เป็นช่วงที่ประตูยมโลกเปิดจึงเหมาะแก่การทำบุญทำทานให้แก่บรรดาผีไม่มีญาติ และในการนี้จำต้องสร้างหุ่น ยมบาล ไว้คอยคุมดูแลบรรดาผีที่นอกรีตนอกรอยมาหลอกหลอนผู้คน หรือไม่ยอมกลับนรกภูมิ

วัสดุที่ใช้ในการทิ้งกระจาดมีอะไรบ้าง

สมัยก่อนธรรมเนียมปฏิบัติของศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ – เจ้าแม่ทับทิม(แควใหญ่) ปากน้ำโพ จะมีการจัดเตรียมกระจาดแล้วนำออกไปแจกจ่ายแก่ผู้ที่มีฐานะ เจ้าของกิจการร้านค้าในตลาดปากน้ำโพ หรือผู้มีจิตศรัทธา เพื่อให้จัดสิ่งของที่ต้องการบริจาคเพื่อให้ผลบุญส่งถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งสิ่งของที่นิยมใส่ในกระจาดก็เป็นเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ยารักษาโรค เป็นต้น เมื่อใกล้กำหนดวันทิ้งกระจาดผู้ที่รับกระจาดไปเพื่อเตรียมสิ่งของก็จะนำกระจาดเหล่านั้นมารวมกันไว้ที่ศาลเจ้า และเมื่อวันทิ้งกระจาดมาถึงกระจาดสิ่งของเหล่านี้จะถูกส่งไปยังผู้ซึ่งมารอรับกระจาด ซึ่งก็จะเป็นชาวบ้านที่มารอรับสิ่งของเหล่านั้น ตามความเชื่อว่าผู้ที่มารอรับกระจาดเปรียบเหมือนบรรดาผีไม่มีญาติ การทิ้งกระจาดก็จะเป็นการโยนลงมาจากชั้นบน เพื่อให้ผู้อยู่ข้างล่าง รอรับ เสมือนการทำบุญจากโลกมนุษย์ลงไปสู่ชั้นอบายภูมินั่นเอง

เมื่อชาวจีนอพยพย้ายถิ่นออกจากผืนแผ่นดินเกิด ก็ได้นำจารีตประเพณีและวัฒนธรรมของตนมายึดถือปฏิบัติด้วย ชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน อีกทั้งการทำบุญโดยการให้ทานที่เป็นหนึ่งในหลักธรรมและวิถีปฏิบัติที่สำคัญของชาวพุทธ ไม่ว่าจะนิกายเถรวาทหรือมหายาน ดังนั้น ประเพณีทิ้งกระจาดของชาวจีนจึงเข้ากันได้ดีกับวัฒนธรรมในประเทศไทย ที่เป็นส่วนผสมระหว่างศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ฮินดู การนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ และความเชื่อเรื่องผีวิญญาณ

ปัจจุบันพิธีทิ้งกระจาดในไทยจะเป็นการจัดหาสิ่งของต่างๆ มาให้ทานแก่ผู้ยากไร้ ส่วนใหญ่จะเป็นของที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า อาหารแห้ง เครื่องใช้ต่างๆ ผู้ที่บริจาคสิ่งของเหล่านี้จะถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเช่นกัน

พื้นที่จัด

ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถพบการประกอบพิธีประเพณีนี้อยู่แทบทุกจังหวัดที่มีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ โดยส่วนมากจะจัดตามศาลเจ้าจีน โรงเจ มูลนิธิและสมาคมจีน ซึ่งผู้เข้าร่วมพิธีก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนเชื้อสายจีนเท่านั้น แต่จะมีทั้งคนไทยและคนกลุ่มต่างๆ เข้ามาร่วมด้วย เนื่องจากมีพื้นฐานขนบความเชื่อในเรื่องศาสนาความเชื่อคล้ายคลึงกันดังกล่าวข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าประเพณีทิ้งกระจาดของจีน จะคล้ายกับประเพณีก๋วยสลากของภาคเหนือ ประเพณีทานข้าวสากของภาคอีสาน ประเพณีการทำบุญสลากภัตของภาคกลาง และพิธีรับส่งตายายหรือสารทเดือนสิบของภาคใต้

ช่วงระยะเวลาที่จัด

ประเพณีสารทจีน มีชื่อเรียกเป็นภาษาจีนว่า“ชิโกวโจ่ย” เป็นประเพณีทำบุญกลางปีของชาวไทยเชื้อสายจีน ตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ตาม ปฏิทินทางจันทรคติของจีน ในประเพณีนี้จะมีการจัดพิธีทิ้งกระจาดหรือการทำทานให้คนยากจน เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณไม่มีญาติและวิญญาณเร่ร่อนต่าง ๆ

จัดโดยใคร

สำหรับประเพณีทิ้งกระจาดณ จังหวัดนครสวรรค์“ซีโกว” หรือ “ตีโกว” ได้ถือปฏิบัติสืบทอดมา เป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยจัดให้มีพิธีทางศาสนาจีนและพิธีทิ้งกระจาด (แจกทาน) ให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ซึ่งจังหวัดนครสวรรค์มีหลายหน่วยงานที่ร่วมกันจัดงานพิธีทิ้งกระจาด เช่น ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม(แควใหญ่) ศาลเจ้าหน้าผา และมูลนิธิปากน้ำโพนครสวรรค์ โดยภายในงานได้มีการแจกทาน ภายในชุดแจกทานจะประกอบด้วย ข้าวสาร อาหารแห้ง และเงินค่าพาหนะ และมีการจัดเลี้ยงอาหารฟรี

ขั้นตอนการจัด

ประเพณีทิ้งกระจาด “ตีโกว” ของชาวจีนเชื้อสายไหหน่ำที่มีความผูกพันกับศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ – เจ้าแม่ทับทิม ได้เริ่มจากการประกอบพิธีไหว้เจ้าตามธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งในพิธีมีการจัดเครื่องไหว้ เครื่องบูชา มีอุปรากรจีน คณะกรรมการทั้งจากศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม(แควใหญ่) กรรมการจากมูลนิธิปากน้ำโพประชานุเคราะห์ ผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมในพิธีการกราบไหว้เทพเจ้าในศาลเจ้า จากนั้นจึงได้ออกมากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลยมโลกตามความเชื่อที่มีแต่โบราณ เพื่อให้เปิดประตูให้กับผู้ที่อยู่ในนรกภูมิ ได้มีโอกาสขึ้นมารับส่วนสิ่งของเหล่านี้ ก่อนเริ่มพิธีทิ้งกระจาดที่จะมีประชาชนมารอรับสิ่งของบริจาคเป็นจำนวนมากและมีการตั้งโรงทานเพื่อแจกจ่ายอาหารให้แก่ผู้ที่มารับสิ่งของ แต่เนื่องด้วยในโอกาสสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม(แควใหญ่) ก็ได้ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ โดยวิธีการจัดกิจกรรมทิ้งกระจาดในรูปแบบที่แตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติ คือปีนี้ดำเนินการโดยนำถังแจกทานไปส่งให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อทำการส่งต่อให้กับผู้ยากไร้และผู้ที่ขาดแคลน เป็นต้น

ประเพณีสารทจีนนอกจากจะเป็นประเพณีที่ลูกหลานจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ซึ่งล่วงลับไปแล้ว ยังเป็นประเพณีที่มีกุศโลบายในการสนับสนุนให้ทุกคนในครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกันอย่างพร้อมหน้า และมีความสุขส่วนวิธีการปลูกฝังและสืบทอดประเพณีและเทศกาลสำคัญ กระทำในหลายรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ เล่า อธิบาย พูดถึงความสำคัญของเทศกาล สาเหตุการจัดไหว้ การแนะนำเครื่องเซ่นไหว้ จำนวนของไหว้ การให้ลูกหลานเป็นผู้ปฏิบัติโดยตรง การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง การฝากฝังให้สืบทอดอย่างเป็นทางการในรุ่นต่อไปเป็นต้น

สถานที่ตั้ง
อำเภอ เมืองนครสวรรค์ จังหวัด นครสวรรค์
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง อวยพร พัชรมงคลสกุล อีเมล์ paitoog@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่