การรับเลี้ยงผีบรรพบุรุษจะมีการรับขันธ์ ๕ และขันธ์ ๘ โดยการท าบายศรีในขัน ซึ่งในพานบายศรีจะ ประกอบด้วยผ้าขาว ๒ วา เทียน ๕ คู่ หรือ ๘ คู่ ธูป ๕ คู่ หรือ ๘ คู่ ดอกไม้ ๕ คู่ หรือ ๘ คู่ การประกอบพิธีกรรมจะกระทำขึ้นในช่วงเดือน ๕ ถึง เดือน ๗ หลังสงกรานต์ โดยทำได้ทุกวัน ในช่วงระหว่างนี้ยกเว้นวันพระเท่านั้น ซึ่งผู้ที่รับขันธ์ จะมีการนัดวันกันตามความพร้อมทั้งผู้รับขันธ์และ หมอแคน เมื่อมีการนัดวันเตรียมความพร้อมเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะมีการประกอบพิธี “รำผีฟ้อน” หรือบางคนอาจเรียกว่า “ลงข่วง” โดยมีการตั้งโต๊ะตรงกลางพิธีเพื่อบูชาขันธ์ พร้อมทั้งมีพานใส่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องแป้ง น้ำอบ น้ำหอม ไก่ เหล้า น้ำส้ม เป็นต้น นำไปไหว้เพื่อบูชาบรรพบุรุษ สำหรับผู้เข้าร่วมพิธีบางคนจะแต่งกายด้วยชุดไทย หรือชุดปกติแต่คล้องสไบ ผ้าคล้องคอนุ่งโจงกระเบน หรือ โสร่ง เป็นต้น โดยผู้เข้าทรงจะนำผู้เข้ารับขันธ์ และผู้เข้าร่วมพิธีไหว้เพื่อบูชาบรรพบุรุษ จากนั้นจะทำการลงข่วง โดยหมอแคนจะเป่าแคนและผู้เข้าร่วมพิธีจะร่วมกันฟ้อนรำเป็นวงกลมรอบโต๊ะบูชาขันธ์ และมีการฟ้อนรำตั้งแต่ช่วงเช้าถึงช่วงเย็นของวันนั้น ท่าฟ้อนของภาคอีสานนั้นมีความเป็นอิสระสูง ไม่มีข้อจำกัดตายตัวทั้งมือและเท้า ส่วนใหญ่ท่าฟ้อนจะได้มาจากท่าทางหรืออริยาบถธรรมชาติ และมีท่าพื้นฐานที่แตกต่างกันไปเฉพาะถิ่น เช่น ฟ้อนผู้ ไท ฟ้อนผีฟ้า ฟ้อนไทยดำ เรือมอันเร เป็นต้น ถึงแม้จะมีความคิดที่จะพยายามกำหนดท่าฟ้อนของภาคอีสานให้เป็นแบบฉบับขึ้น มี หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับนาฏศิลป์ภาคกลางที่มี "ท่าแม่บท" เป็นพื้นฐานในการฟ้อนรำนั้น เป็นแนวคิดหนึ่งที่ต้องการให้การฟ้อนภาคอีสานมีระบบ และหลักเกณฑ์ที่แน่นอนขึ้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นแนวคิดที่ถูกต้องนัก เพราะจะเป็นการตีกรอบให้ตัวเองมากเกินไป ซึ่งตามจริงแล้วท่าฟ้อนของอีสานมีความเป็นอิสระไม่มีการกำหนดท่าแน่นอนตายตัวว่าเป็นท่าอะไร ขึ้นอยู่กับผู้ประดิษฐ์ท่ารำจะตั้งชื่อว่าเป็นท่าอะไร ความเป็นอิสระนี่เองที่ทำให้เกิดท่าฟ้อน ชุดใหม่ๆ ที่แปลกตา สวยงามยิ่งขึ้น ท่าฟ้อนที่เป็นแม่แบบส่วนใหญ่นำมาจากกลอนลำ ซึ่งเรียกว่า "กลอนฟ้อน" เป็นกลอนยาวใช้กลอนเจ็ด แปดหรือกลอนเก้าแล้วแต่ผู้แต่งถนัดแบบใด การฟ้อนเป็นศิลปะอันหนึ่งที่มาพร้อมกับการรำ การฟ้อนมีกี่แบบไม่ปรากฏแน่ชัด แต่หมอลำจะแต่งกลอนฟ้อนแบบต่าง ๆ ไว้ ในขณะที่ลำ หมอลำจะฟ้อนแสดงท่าทางตามกลอนที่แต่ง ดูแล้วเป็นการสนุกสนาน เช่น กลอนฟ้อน ของหมอลำเปลี่ยน วิมลสุข
ผีฟ้อนเป็นประเพณีเกี่ยวกับความเชื่อของชาวบ้านตำบลวังน้ำลัด โดยมีถิ่นกำเนิดมาจากพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวบ้านในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งชาวบ้านในเขตพื้นที่ตำบลวังน้ำลัดส่วนใหญ่จะอพยพถิ่นฐานมาจากภาคอีสานและมาอาศัยอยู่ในเขตตำบลวังน้ำลัด และนำพิธีกรรมที่ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษถือปฏิบัติสืบต่อกันมา
การรำผีฟ้อน เดิมเกิดขึ้นมาจากการที่ชาวบ้านเกิดอาการเจ็บป่วยและไม่สามารถทำการรักษาให้หายได้โดยแพทย์แผนปัจจุบัน และเมื่อนำคนป่วยไปรักษาโดยวิธีการต่าง ๆ แล้วไม่สามารถรักษาอาการดังกล่าวให้หายได้ จึงทำการรักษาโดยการประกอบพิธีเข้าทรงโดยคนทรงจะทำพิธีเข้าทรงและเรียกขวัญให้กับคนป่วย และบอกถึงสามเหตุของการเจ็บป่วยว่าเกิดมาจากผีบรรพบุรุษ ต้องการจะมาขออาศัยอยู่ด้วย คนป่วยจะรับเลี้ยงผีบรรพบุรุษหรือไม่ ถ้าคนป่วยรับเลี้ยงผีบรรพบุรุษอาการเจ็บป่วยเหล่านั้นก็จะหายไป แต่ถ้าคนใดไม่รับเลี้ยงดูผีบรรพบุรุษอาการเจ็บป่วยเหล่านั้นก็จะคงอยู่ต่อไปไม่สามารถรักษาให้หายได้ และมีการส่งต่อให้แก่รุ่นลูกหลานสืบต่อไป
ความเชื่อ
การฟ้อนผีปู่ย่า หรืออีกนัยหนึ่งคือ การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ มีองค์ประกอบสำคัญ คือ มีดนตรีมาประโคมให้ผีหรือเจ้าได้เสพอาหาร และมาม่วน ฟ้อนรำกัน โดยมีช่วงเวลาในการประกอบพิธีกรรมตั้งแต่เดือน ๕ เหนือ (เดือน ๓) หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงย่างเข้าฤดูฝน
ความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีปู่ย่าอาจรวบรวมสาระซึ่งมีบทบาทต่อสังคมส่วนรวมได้ดังนี้
๑. ก่อให้เกิดการหลอมรวมทางเผ่าพันธุ์ของผู้คนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยการมีความคิดในการยกย่อง ให้เกียรติ และเห็นคุณค่าต่อผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในตระกูลหรือวงศ์ของตน เจ้าปู่ย่าจะมีความยินดีและชื่นชมในลูกสะใภ้และลูกเขยเป็นพิเศษ แม้จะต่างเผ่าพันธุ์กันก็ตาม ทั้งนี้โดยมีความเชื่อว่าสะใภ้หรือฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายแพร่พันธุ์และเป็นฝ่าย สืบทอดประเพณีสำหรับเขยที่เข้ามาก็เท่ากับเป็นการเพิ่ม กำลัง ในวงศ์ตระกูลให้แข็งแกร่งขึ้น หากมองในด้านการเมืองการปกครองแล้ว นับว่าเป็นการหลอมรวมเผ่าพันธุ์ที่ดีอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการซื้อผี หรือซื้อเข้าผี เช่น กลุ่มชนบางกลุ่มหรือบางตระกูล เมื่อเกิดศรัทธาเลื่อมใสผีปู่ย่าผามใดผามหนึ่งก็ขอซื้อ (ยกขันหรือบูชาครู) เพื่อขอเข้ามานับถือผีปู่ย่าด้วย พิจารณาอีกนัยหนึ่งก็คือ การขอเข้ามาร่วมอยู่ในเผ่าพันธุ์หรือสังคมนั่นเอง สภาพบ้านเมืองในสมัยโบราณนั้น การยอมให้คนอีกกลุ่มหนึ่งหรือเผ่าพันธุ์อื่นมาร่วมผีเดียวกับตน จึงเป็นนโยบายทางการเมืองในการเพิ่มกำลังผู้คนที่ลึกซึ้งยิ่งอย่างหนึ่ง
๒. การมีส่วนทำให้สังคมเป็นเอกภาพ นอกจากภาพรวมที่ประเพณีฟ้อนผีได้หลอมรวมผู้คนให้เป็นพวกเดียวกัน นับถือผีเดียวกันแล้ว ยังเป็นประเพณีที่ส่งเสริมให้ผู้คนมาร่วมแรงร่วมใจทำงานร่วมกัน ก่อให้เกิดความรู้สึกในการเป็นส่วนหนึ่งของงาน มีความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจในความสำเร็จร่วมกัน ได้มาสังสรรค์ สนุกสนานร่วมกัน ประการสำคัญ คือ เป็นการสร้างความรู้สึกว่านับถือผีเดียวกัน หรือที่เรียกกันว่า เป็นผีเดียวกัน ซึ่งเป็นผลส่งให้เกิดความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นในวงศ์ตระกูลหรือชุมชน
๓. เป็นศูนย์กลางของที่พึ่งทางใจ เป็นความหวังและความอบอุ่นอีกอย่างหนึ่งที่สามารถขอพึ่งพาเจ้าปู่ย่าได้ เช่น การทำนายทายทัก การเสกเป่า รดน้ำมนต์ต่าง ๆ
๔. บทบาทความเชื่อผีปู่ย่าในการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางดนตรี การฟ้อนผีมด ผีเม็ง ที่เคร่งในขนบประเพณีนั้น จะห้ามใช้ดนตรีต่างวัฒนธรรมเข้ามาบรรเลงในผาม หากเล่นผิดแบบแผน เช่น สำเนียงและสำนวนดนตรี ผิดจากที่คุ้นเคย ผีจะไม่เข้าหรือไม่สามารถทำการทรงได้ หรือทรงได้แล้ว อาจฟ้อนไม่ได้ เป็นต้น