การทอเสื่อกก เป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ที่นำเอาต้นกกมาแปรสภาพให้เป็นเส้น ย้อมสี แล้วสานทอให้เป็นแผ่นผืน เพื่อนำมาใช้ปูลาดรองนั่งหรือนอน
ทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนทำพิธีกรรมทางศาสนา และความเชื่อ
ต้นกก เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น ภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษนำมาใช้ในครัวเรือน ต่อมาสร้างเป็นรายได้เสริมให้ชุมชน พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา
เสื่อกกบ้านทับลุ่ม
เสื่อกกบ้านทับลุ่ม ผลิตโดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอเสื่อกกบ้านทับลุ่ม ตั้งอยู่เลขที่ 447/1 หมู่ที่ 5 ตำบลวังบ่อ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์มีจุดเด่นที่ขนาดเสื่อกก ซึ่งมีความกว้าง 200 เซนติเมตร ยาว 230 เซนติเมตร ซึ่งไม่มีที่ไหนทำ จะมีแค่บ้านทับลุ่มเท่านั้น มีความคงทน แข็งแรง มีลายเอกลักษณ์ของตนเอง
เสื่อกกบ้านทับลุ่ม เป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิม แรกเริ่มจากการทอไว้ใช้ในครัวเรือน เป็นภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ ทำมานานกว่า 60 ปีแล้ว ประกอบกับต้นกกเป็นพืชที่ขึ้นตามธรรมชาติ ในที่ราบลุ่ม เมื่อมีการส่งเสริมให้นำภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย รูปแบบหลากหลายทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น
เสื่อกก เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปทั้งในประเทศ หรือต่างประเทศ ทั้งนี้ เพราะต้นกกเป็นพืชธรรมชาติที่ขึ้นอยู่ทั่วทุกภูมิภาค และภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ที่นำต้นกกมาแปรสภาพ ก็มีลักษณะคล้ายกัน หรือได้อิทธิพลทางความคิดจากกันและกัน ทำให้เสื่อกกถูกจัดได้ว่าเป็นปัจจัยจำเป็นอย่างหนึ่ง ต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในอดีต
วัสดุอุปกรณ์ในการทำ
๑. กรรไกร
๒. กก
๓. เชือกไนลอน หรือปอกระสอบ
๔. ฟืมทอเสื่อ ๒ เมตร
๕. กี่ทอเสื่อ กว้าง ๒ เมตร ยาว ๒.๓๐ เมตร
๖. ไม้สอดกก
๗. สีย้อมกก
วิธีการย้อมสีกก
๑. ต้มน้ำให้ร้อนและผสมสีลงไป
๒. นำต้นกกที่เตรียมเอามาลงต้มให้สีเข้ากับเนื้อกก
๓. เอาขึ้นมาตากให้แห้ง
๔. ตากให้แห้งแล้ว (สามารถเอามาทอได้)
ขั้นตอนการทำ
๑. นำกกมากรีดออกเป็นเส้นไปตากแดดประมาณ ๑ อาทิตย์
๒. เมื่อกกแห้งแล้วนำมาย้อมสีตามต้องการ โดยสีที่ย้อมเป็นสีเคมีอย่างดี ส่วนมากจะย้อมสีน้ำตาล สีขาว สีแดง และสีน้ำเงิน
๓. นำเชือกไนลอนหรือปอกระสอบขึงที่กี่ทอเสื่อให้เป็นเส้นตามกี่และฟืม
๔. นำกกสอดเข้ากับไม้สอดเพื่อที่จะสอดเข้ากับกี่ทอเสื่อ
๕. เมื่อสอดกกเข้าไปแล้วผลักฟืมเข้าหาตัวเองให้กกแน่นติดกัน เป็นลายต่าง ๆ
๖. ลายที่ทอเป็นประจำเป็นที่นิยม คือ ลายมัดหมี่ ลายธรรมดา ลายกระจับ
๗. จากนั้นก็นำเสื่อกกที่ทอแล้วมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เสื่อพับ ที่รองแก้ว กระเป๋า ฯลฯ
ขั้นตอนการทอ
๑. เลือกขนาดของฟืมให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ นำฟืมไปตั้งในกี่ที่จะทอแล้วตั้งให้ได้ระดับ ระยะห่างจากเหล็กตีนเสื่อประมาณ ๒ ฟุต
๒. นำเชือกไนลอนหรือปอกระสอบมาขึงจากริมฟืมซี่แรก จะเริ่มจากด้านซ้าย หรือขวาก่อนก็ได้แล้วแต่ถนัด
๓. การขึงเชือกใช้คน ๒ คน คนหนึ่งนั่งอยู่ที่หัวเสื่อคอยมัดเชือกที่ขึงให้ตึง และแน่น อีกคนนั่งอยู่ตีนเสื่อคอยสอดเชือกเข้ากับเหล็กตีนเสื่อ
๔. ใช้เชือกสอดเข้าไปในรูฟืมที่เจาะไว้ เป็นสองแถว แล้วดึงปลายเชือกไปเกาะติดกับตะปูที่เราตอกงอไว้ติดกับไม้อีกท่อนหนึ่ง แล้วยึดกันให้แน่น
๕. ดึงเชือกให้ยาวตามความยาวของเสื่อ พรมน้ำใส่กกที่จะทอ
๖. การทอเสื่อจะใช้คน ๒ คน คนแรกเป็นคนทอ อีกคนหนึ่งเป็นคนคอยสอดเส้นกก กกที่นำมาทอจะใส่ถุงพลาสติกเพื่อให้กกนิ่มและทอได้แน่น
๗.การทอ คนทอจะต้องคว่ำฟืม เพื่อให้มีช่องว่างสำหรับสอดกก คนสอดจะสอดเส้นกกโดยแนบส่วนหัวของเส้นกกกับไม้สอด
๘. สอดไปตามช่องระหว่างเชือกที่แยกออกจากกันขณะที่คว่ำฟืม พอสอดไปสุดริมเชือกอีกข้าง ดึงไม้สอดกลับคืนคงเหลือแต่เส้นกก
๙. คนทอก็กระทบฟืมเข้าหาตัวแล้วคนทอก็หงายฟืม คนสอดก็ใช้ส่วนปลายของเส้นกกแนบกับไม้สอด สอดกกเข้าไปอีก
๑๐. คนทอก็กระตุกฟืมเข้าหาตัว แล้วไพริมเสื่อทางด้านซ้ายมือ
๑๑. การไพริมเสื่อ คือ การใช้ปลายกกม้วนงอลงแล้วสอดพับเชือกขัดไว้ให้แน่น ต่อไปคว่ำฟืม ไพริมเสื่อทางด้านขวามือ ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ขนาดตามที่ต้องการ
๑๒. ในขณะทอหากต้องการให้การทอง่ายยิ่งขึ้นให้ใช้เทียนไขถูกับเส้นเอ็นที่ขึงไว้ให้ทั่ว เพื่อที่จะให้เอ็นลื่นไม่ฝืด
๑๓. ตัดริมเสื่อทั้งสองด้านให้เรียบร้อย เสื่อจะมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น ใช้มีดตัดเชือกเอ็นทางตีนเสื่อเพื่อให้เสื่อออกจากกี่
๑๔. มัดเอ็นที่ปลายเสื่อ เพื่อเป็นการป้องกันเสื่อรุ่ย นำเสื่อที่ทอเสร็จแล้วผึ่งแดดไว้จนแห้งสนิท จึงพับเก็บไว้จำหน่ายหรือแปรรูปต่อไป
การทอเสื่อกก ที่สวยงามนั่นต้องใช้ความประณีต และความอดทนสูง เพราะการทอเสื่อต้องใช้ระยะเวลาในการทอมาก จึงจะได้เสื่อที่สวยงาม และอีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้สีในการใส่ลวดลาย ให้เกิดสีสันสวยงามตามใจผู้ทำ
การเก็บรักษา
๑. ไม่ให้เปียกน้ำ
๒. ไม่นำเสื่อไปแช่น้ำ
๓. ไม่นำเสื่อไปเก็บไว้ในที่ชื้น
๔. นำเสื่อออกห่างจากไฟ
๕. ไม่ควรนำเสื่อไปตากแดดเป็นเวลานานๆ