วัดบางไกรใน
ย่านบ้านไกรทอง ปัจจุบันมีวัดตั้งอยู่ เรียก วัดบางไกรใน ริมคลองบางนายไกร[ปัจจุบันคือ เลขที่ 101 หมู่ที่ 4 ถนนนครอินทร์ (พระราม 5) ต. บางขุนกอง อ. บางกรวย จ. นนทบุรี วัดบางไกรใน เป็นชื่อใหม่ จากชื่อเก่าว่าวัดบางนายไกร เป็นวัดเก่ารุ่นอยุธยา อยู่ย่านเก่าคลองอ้อมนนท์ ใกล้วัดปรางค์หลวง ยุคต้นอยุธยา มีปริศนาลายแทงเกี่ยวกับจระเข้ว่า
วัดบางนายไกร
มีตะเข้สระใหญ่ ไปไข่สระขวาง
ไข่แล้วโบกหาง เอาคางทับไว้
[คัดจากหนังสือ ชีวิตและผลงานของสุนทรภู่ กรมศิลปากรตรวจสอบและชำระใหม่ พิมพ์โดยคุรุสภา พ.ศ. 2530]แผ่นป้ายของสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ดำเนินการบูรณะอุโบสถวัดบางไกรใน 2 ครั้ง พ.ศ. 2549, 2555 มีข้อความโดยสรุปว่า ประวัติของวัดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่มีเรื่องเล่าเชิงตำนานว่า แต่เดิมมีชื่อว่า "บางนายไกร” โดยสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่ระลึกถึงไกรทอง (ผู้ปราบจระเข้ชาละวัน) ซึ่งมีนิวาสสถานเดิมอยู่แถบนี้
สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ อุโบสถ (เก่า) เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 7.50 เมตร ยาว 16.30 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่คลองบางนายไกร ด้านหลังเป็นที่ตั้งของฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิลงรักปิดทองเป็นประธานของอาคาร เมื่อพิจารณาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมสันนิษฐานว่าอุโบสถหลังนี้คงสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย และมีการบูรณะสืบต่อมาหลายครั้ง
ไกรทอง
หมอปราบจระเข้ยุคอยุธยา เป็นชาวสวน ชื่อ ไกรทอง มีหลักแหล่งบ้านเรือนอยู่ในคลองบางกอกน้อย-อ้อมนนท์ เมืองนนทบุรี (เป็นผู้ปราบชาละวัน จระเข้นักเลงย่านแม่น้ำน่าน-ยม เมืองพิจิตร)ไกรทอง มีบ้านเรือนหลักแหล่งอยู่ริมคลองบางนายไกร เป็นคลองแยกฝั่งตะวันตกของคลองบางกอกน้อย-อ้อมนนท์ [ปัจจุบันอยู่ระหว่างถนนพระราม 5 นครอินทร์ กับ ถนนราชพฤกษ์ อ. บางกรวย จ. นนทบุรี]สุนทรภู่ รู้ดีเรื่องไกรทอง จึงเขียนเล่าไว้ในนิราศพระประธม (พ.ณ ประมวญมารค ว่าแต่งตอนบวชเป็นภิกษุ สมัย ร.3 เมื่อ พ.ศ. 2384) โดยนั่งเรือผ่านจะไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ (จ. นครปฐม) ดังนี้บางนายไกรไกรทองอยู่คลองนี้ ชื่อจึงมีมาทุกวันเหมือนมั่นหมาย
ไปเข่นฆ่าชาละวันให้พลันตาย เป็นยอดชายเชี่ยวชาญการวิชา
ได้ครอบครองสองสาวชาวพิจิตร สมสนิทนางตะเข้เสน่หา
เหมือนตัวพี่นี้ได้ครองแต่น้องยา จะเกื้อหน้าพางามขึ้นครามครัน
เสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) กวีร่วมสมัยสุนทรภู่ แต่งนิราศสุพรรณ (ราว พ.ศ. 2387) เล่าเรื่องไกรทองเมื่อนั่งเรือผ่านจะไปเมืองสุพรรณบุรี ดังนี้
มาถึงบางนายไกรในใจจิต นิ่งพินิจคุ้งแควกระแสสินธุ์
ท่านผู้เฒ่าเล่าไว้เราได้ยิน ว่าที่ถิ่นเรือนเหย้าเจ้าไกรทอง
แต่โบราณบ้านช่องอยู่คลองนี้ เพื่อนก็มีเมียงามถึงสามสอง
ตะเภาแก้วโฉมเฉลาตะเภาทอง เป็นพี่น้องร่วมผัวไม่กลัวอาย
จึงเรียกบางนายไกรเอาไว้ชื่อ ให้เลื่องลือกว่าจะสิ้นแผ่นดินหาย
ไกรทอง พระราชนิพนธ์ ร.2
ไกรทองปราบจระเข้ชาละวัน เป็นนิทานประจำถิ่น บอกเล่าปากต่อปากรู้กันกว้างขวางทั่วไป ตั้งแต่ยุคอยุธยา สืบถึงกรุงรัตนโกสินทร์ น่าจะเป็นนิทานยอดนิยม ร.2 จึงมีพระราชนิพนธ์บทละครนอก เรื่องไกรทอง (มีคำบอกเล่ามีเหตุจากสุนทรภู่ดูแคลนเจ้านายว่าแต่งกลอนไม่ได้อย่างสำนวนชาวตลาด ร.2 จึงทรงแต่งละครนอกเป็นสำนวนปากตลาด เพื่อเป็นพยานว่าแต่งได้)
กลอนตำนาน พระราชนิพนธ์เรื่องไกรทอง มีบอกไว้ท้ายเล่มว่า
พระราชนิพนธ์ไกรทองสองเล่ม เขียนเต็มตัวผจงลงเส้นสอ
ใครติเตียนแล้วเจียนจะเป็นบอ ถึงจะต่อก็เต็มยากลำบากคิด
ทรงประดิษฐ์คิดใส่ให้เป็นกลอน ไว้รำเต้นเล่นละครงอนจริต
แต่ก่อนเก่าได้ดูอยู่เป็นนิจ บำรุงจิตชาวประชาข้าราชการ
สัตว์ศักดิ์สิทธิ์
จระเข้ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ คนหลายพันปีมาแล้วยกย่องเป็นผู้พิทักษ์แม่น้ำลำคลอง จึงสลักรูปจระเข้ไว้บนปราสาทวัดพู ใกล้แม่น้ำโขง (แขวงจำปาสัก ลาว)
นอกจากนั้นมีธงจระเข้พร้อมนิทานประเพณีทอดกฐิน ตัวจระเข้ชำแหละเครื่องในทิ้ง แล้วตากแห้ง ทำเครื่องดนตรีใช้ดีด เรียกจะเข้
ที่มา : สุจิตต์ วงษ์เทศ (วันที่ 16 มกราคม 2560)
https://www.matichon.co.th/columnists/news_430023