“กฐิน” เป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้ โดยการทอดกฐินจัดเป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่งตามพระวินัยบัญญัติที่มีกำหนดระยะเวลาถวายเพียง 1 เดือน คือ ในช่วงหลังออกพรรษา ปัจจุบันการถวายผ้ากฐินในแง่การสนับสนุนผ้าไตรจีวรเพื่อใช้ในสังฆกรรมของคณะสงฆ์ได้ถูกลดความสำคัญลงไป แต่ให้ความสำคัญกับบริวารกฐินแทน เช่น ปัจจัย หรือสิ่งของ เพื่อพัฒนาถาวรวัตถุและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ประเพณีการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนไทยมีมาช้านาน โดยมีทั้งกฐินหลวงและกฐินราษฎร์ที่จัดเป็นประเพณีสำคัญประจำปี โดยเฉพาะพระกฐินหลวง ซึ่งพระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายด้วยพระองค์เอง และกฐินพระราชทาน ที่พระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์หรือหน่วยงานราชการที่ขอพระราชทานไปทอดแทนพระองค์ ส่วนกฐินราษฎร์ คือกฐินที่ชาวบ้านรวมกันเป็นหมู่คณะไปทอดกันเองที่วัดในหมู่บ้าน ซึ่งเรียกกันว่า กฐินสามัคคี รวมถึงกฐินที่มีเจ้าภาพหลัก ที่เรียกกันว่า เจ้าภาพกฐิน
บริวารกฐิน ประกอบไปด้วย เครื่องกฐินหลัก ได้แก่ ผ้าไตร พานแว่นฟ้าและครอบไตร บาตร ต้นกฐิน ย่าม ตาลปัตร หมอนอิง สัปทน สังฆทานเครื่องใช้ และธงกฐิน ซึ่งธงกฐินจะเป็นภาพสัตว์ต่าง ๆ ที่เป็นปริศนาธรรมและสื่อความหมาย ดังนี้
ธงจระเข้ หมายถึง ความโลภ (ปากใหญ่ กินไม่อิ่ม) ใช้ประดับในการแห่ มีตำนานว่าเศรษฐีเกิดเป็นจระเข้ว่ายน้ำตามขบวนกฐินจนขาดใจตาย
ธงนางมัจฉา หมายถึง ความหลง (เสน่ห์แห่งความงามที่ชวนหลงใหล) ใช้ประดับงานพิธีถวายผ้ากฐิน เป็นตัวแทนหญิงสาว ตามความเชื่อว่าอานิสงส์จากการถวายผ้าแก่ภิกษุจะทำให้มีรูปงาม
ธงตะขาบ หมายถึง ความโกรธ (พิษเหมือนความโกรธที่เผาจิต) ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่าวัดนี้มีคนมาจองกฐินแล้ว ให้ผู้จะมาปวารณาทอดกฐินผ่านไปวัดอื่น
ธงเต่า หมายถึง สติ(ระวังรักษาอายตนะทั้ง 6 ดุจเต่าที่ซ่อนในกระดอง) ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่าวัดนี้ทอดกฐินเรียบร้อยแล้ว