สไบมอญ ชาวมอญบ้านหนองดู่ ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
หากใครมีโอกาสเข้าร่วมชมประเพณีชาวมอญ มักเห็นการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวมอญที่นิยมห่มสไบทั้งชายและหญิง ชาวมอญยกย่อง“สไบ” เป็นของสูง นิยมใช้สไบในงานพิธีกรรมและประเพณีต่างๆ และใช้สไบแสดงอัตลักษณ์ร่วมของชาวมอญทั้งชายและหญิง เมื่อเห็นคนมอญพาดสไบรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะมาจาก ชุมชนไหน ๆ ก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นคนมอญเหมือนกัน โดยเฉพาะผู้หญิงมอญจะขาดสไบเสียมิได้โดยมีคำทำนายโบราณที่กล่าวถึงเหตุแห่งการล่มสลายของชาติมอญ 1 ใน 10 ประการ นั่นคือ “หญิงมอญจะละทิ้งสไบ” จึงสะท้อน ความสำคัญสไบต่อการมีอยู่ของชาติมอญมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน และผ้าสไบก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายของชาวมอญเลยก็ว่าได้ ถ้าออกจากบ้านก็ต้องใส่ ผ้าสไบด้วยทุกครั้ง
ความสำคัญของสไบในวิถีชีวิตชาวมอญ กล่าวพอสังเขปได้ดังนี้
1. ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มประกอบการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา คนมอญโดยทั่วไปเมื่อต้องเข้าวัดหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจำเป็นต้องมีการห่มผ้าสไบเฉียงติดตัวไปด้วยหรือใช้สไบสีขาว โดยสีขาวสื่อถึงความบริสุทธิ์สะอาด ความสว่าง ปัญญา ความสงบ
2.ใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งในงานประเพณี คนมอญเป็นกลุ่มวัฒนธรรม ที่มีประเพณีพิธีกรรมมากมาย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นเทศกาล ที่ ค น ม อ ญ ให้ ค ว า ม ส ำ คั ญเป็น อ ย่ า งม า ก มีการทำบุญตักบาตร มีการแห่หงส์ธงตะขาบ ในทุกชุมชนมอญ กิจกรรมอีกอย่างที่เป็นประเพณีปฏิบัติของกลุ่มคนมอญ คือ การจัดงานระลึกบรรพชนมอญ ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 แต่มักจะจัดขึ้นวันเสาร์ – อาทิตย์ ในช่วงนั้น ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ในการมาร่วมประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ คนมอญจะมีการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือสไบ ในการคล้องผ้าสไบจะมีการคล้องแบบคล้องคอชายของผ้าทั้งสอง ห้อยมาด้านหน้า
3.ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประกอบพิธีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ ตามความเชื่อเรื่องผีมอญชาวมอญแต่ละบ้านจะมีห่อผ้าผีมอญวางไว้บนเรือน ตรงเสาเอก 1 ใบ ภายในบรรจุผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าแดง ผ้าขาวอย่างละผืน แหวนทองคำหัวพลอยแดง และหม้อดิน 1 ใบ ในหม้อใส่ข้าวเหนียว เงิน และข้าวตอกดอกไม้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนวิญญาณ หรือผีของบรรพบุรุษที่คอยปกปักดูแลลูกหลานบางบ้าน มีผ้าสไบเป็นส่วนหนึ่งของสมบัติผีรวมอยู่ด้วย
4. ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงอัตลักษณ์ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญในปัจจุบัน กระแสการแสดงออกทางกลุ่มชาติพันธุ์มีมากยิ่งขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์เฉพาะ ของแต่ละชาติพันธุ์เป็นเรื่องสำคัญขึ้นมา กลุ่มชาติพันธุ์มอญได้มีการอนุรักษ์ สืบสาน อนุรักษ์และดำรงไว้ซึ่งประเพณี พิธีกรรม และศิลปวัฒนธรรมชองชาวมอญมาโดยตลอด
ลวดลายบนผ้าสไบมอญบ้านหนองดู่ มีหลากหลายลวดลาย อาทิ
1. ลายดอกพิกุล เป็นลายอัตลักษณ์ของผ้าทอประจำจังหวัดลำพูน และในวัดหนองดู่มีต้นพิกุลขนาดใหญ่ที่มีอายุหลายสิบปีขึ้นอยู่ภายในวัด จึงใช้เป็นสัญลักษณ์บนผืนผ้าสไบมอญบ้านหนองดู่
2. ลายดาวหรือลายดอกพิกุลแปดแฉก ปักไว้บนผืนผ้าจำนวน 5 แถวๆละ 6 ดอก ตกแต่งและใช้สีสันที่สวยงามตามความต้องการ
3. ลายฐานพระ สื่อถึงความผูกพันของชาวมอญกับพุทธศาสนา จึงใช้ลวดลายบนฐานพระมาประยุกต์เป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนผืนสไบ
4. ลายสายน้ำ ด้วยบ้านหนองดู่ถูกขนาบด้วยสายน้ำทั้งสองด้าน คือ แม่น้ำปิงและน้ำเหมืองสาธารณะที่ไหลผ่านด้านหลังวัด
5. ลายขอบพานหรือลายขอบโตก หรือเรียกอีกอย่างว่า "หยาดฮะเหริ่มโต่ะ" หมายถึง ผ้าที่ริมหรือขอบได้แบบอย่างมาจากลายขอบของโตกหรือขอบพาน
6. ลายหงส์ คนมอญนับถือ "หงส์" ในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประจำชนชาติ เพราะนอกจาก ชื่อ "หงสาวดี" อดีตเมืองหลวงแห่งอาณาจักรมอญแล้วตำนานเมืองยังเกี่ยวพันกับ "หงส์" และองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า "หงส์" จึงเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประจำชนชาติที่คนมอญให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก