“ประเพณีบุญคูณลาน” เป็นการทำบุญเพื่อรับขวัญข้าว โดยกำหนดทำในเดือนยี่ หรือ เดือนสอง จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “บุญเดือนยี่” โดยในฤดูหลังการเก็บเกี่ยวชาวบ้านจะทำบุญคูณลาน โดยนิมนต์พระเจริญพระพุทธมนต์เย็น และฉันภัตตาหารเช้าเพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วมีพิธีบายศรีสู่ขวัญข้าว
คำว่า “บุญคูณลาน” มีที่มาจากความหมายของคำว่า “คูณ” หมายความว่าเพิ่มเข้าให้เป็นทวีคูณ หรือทำให้มากขึ้น ส่วนคำว่า “ลาน” คือสถานที่ลานกว้างสำหรับนวดข้าว ซึ่งการนำข้าวที่นวดแล้วมากองขึ้นให้สูง จึงเรียกว่า “คูณลาน”
ประเพณี “บุญคูณลาน” ถือเอาเรื่องเล่าในพระธรรมบทเป็นมูลเหตุว่า มีชายสองคนพี่น้องทำนาในที่เดียวกัน แล้วได้ถวายข้าวแด่พระสงฆ์โดยมีพระกัสสปพุทธเจ้าเป็นประมุข แล้วได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลในศาสนาของพระพุทธโคดม ชาวนาเมื่อได้ทราบอานิสงส์เช่นนี้จึงนิยมทำบุญให้ทานข้าวในนา ถือเป็นประเพณีของชาวอีสานสืบมา
ปัจจุบันประเพณี “บุญคูณลาน” ค่อยๆเลือนหายไป เนื่องจากทุกวันนี้ชาวนาส่วนมากใช้รถเกี่ยวนวดข้าวแล้วนำไปขายให้โรงสี เลยทำให้ไม่มีลานนวดข้าวเหมือนแต่ก่อน อย่างไรก็ตามยังมีบางหมู่บ้านที่ยังรวมกันทำบุญโดยนำข้าวเปลือกมากองรวมกัน ซึ่งจะเรียกว่า “บุญกุ้มข้าวใหญ่” แทนการทำบุญคูณลาน