ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีหนึ่งภาคอีสานของไทย โดยมีตำนานมาจากนิทานพื้นบ้านของภาคอีสานเรื่องพระยาคันคากเรื่องผาแดงนางไอ่ ซึ่งในนิทานพื้นบ้านดังกล่าวถึง การที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชา พระยาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่าพระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาลและมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมากหากหมู่บ้านใดไม่จัดทำการจัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล
บั้งไฟปกติจะมี ๓ ขนาด คือ บั้งไฟธรรมดา จะใช้ดินประสิวไม่เกิน ๑๒ กิโลกรัม
บั้งไฟหมื่นจะใช้ดินประสิว ๑๒ กิโลกรัม บั้งไฟแสน จะใช้ดินประสิว ๑๒๐ กิโลกรัม เมื่อทาบั้งไฟเสร็จแล้วก็จะมีการตกแต่งประดับประดาด้วยกระดาษสีอย่างสวยงาม ซึ่งเรียกเป็นภาษาพื้นบ้านว่า เอ้ ส่วนท่อนหัวและท่อนหางของบั้งไฟจะประกอบเป็นรูปต่าง ๆ ตามที่ต้องการ ส่วนมากจะเป็นรูปหัวพญานาคเมื่อประดับประดาหรือเอ้เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปคือ การแห่ไปสมทบกับหมู่บ้านที่เป็นเจ้าภาพโดยปกติบั้งไฟไม่ได้ทำเฉพาะหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งเท่านั้น จะบอกบุญไปยังหมู่บ้านที่มีสายสัมพันธ์ต่อกันและหมู่บ้านนั้นจะทำบั้งไฟมาร่วมด้วย เมื่อถึงเวลานัดหมาย ทุกขบวนทั้งหมู่บ้านที่เป็นเจ้าภาพและหมู่บ้านแขกจะแห่บั้งไฟเข้าไปบริเวณวัด ขบวนแห่บั้งไฟถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคี ศิลปวัฒนธรรม ความสนุกสนานและความดีงามทั้งหลาย ในขบวนแห่จะมีการเซิ้งบั้งไฟและการละเล่นต่าง ๆ ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น เช่น การทอดแหหาปลา การสักสุ่ม บางขบวนก็จะมีการเล่นตลกในเชิงเพศสัมพันธ์ แต่ขบวนเซิ้งหลักจะแต่งตัวสวยงามแบบโบราณ มีความไพเราะและมีคติธรรมสอนใจ ถึงแม้จะมีการละเล่นตลกและบทเซิ้งสืบไปในทางเพศสัมพันธ์อยู่บ้าง แต่ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สร้างสีสันให้กับขบวนแห่ได้อย่างดี ไม่ถือสาหาความกันแต่อย่างไร โดยปกติบุญบั้งไฟจะจัดเพียงสองวัน คือวันรวม ซึ่งเรียกว่า วันโฮม เป็นวันแห่ขบวนบั้งไฟไปรวมกันและวันจุด คือ วันรุ่งขึ้นของวันโฮม
พอถึงวันรุ่งขึ้น ก็จะนำบั้งไฟไปที่ลานจุด ซึ่งทำเป็นร้านหรือค้าง (ฮ้าน) บนต้นไม้สูงประมาณ ๒๐ - ๓๐ เมตร เพื่อให้หางบั้งไฟพ้นจากพื้น จากนั้นได้มีการจุดบั้งไฟที่นำมาตามลำดับที่จับฉลากได้ เมื่อบั้งไฟทุกบั้งจุดหมดก็จะถือว่าเป็นการจบสิ้นของงานบุญบั้งไฟปีนั้น งานบุญบั้งไฟได้สะท้อนให้เห็นปรัชญา ภูมิปัญญาและภูมิความดีอยู่หลายประการ เป็นต้นว่าได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำรงชีพของคนในท้องถิ่นที่ผูกพันอยู่กับการทำนาข้าวน้ำฝน ต้องอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็มีความเชื่อว่า มีสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติสามารถบันดาลให้ธรรมชาติเป็นไปตามที่ต้องการได้ ดังนั้น เมื่อถึงฤดูการทำนา จึงทำบั้งไฟไปจุด เพื่อบอกให้พญาแถนรับรู้ เพื่อพญาแถนจะบันดาลให้ฝนตกลงมาให้มีนํ้าทำนาต่อไปนอกจากนี้ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการสร้างสัมพันธไมตรีต่อกันของคนในสังคมที่อยู่รอบข้าง โดยมีการบอกบุญไปยังหมู่บ้านข้างเคียง เพื่อให้นำบั้งไฟมาร่วมและวิธีการสร้างความเป็นนํ้าหนึ่งใจเดียวกันของคน
ในหมู่บ้าน โดยมีงานบุญบั้งไฟเป็นสื่อกลาง
งานประเพณีบุญบั้งไฟตำบลตาหลังใน ได้จัดขึ้นสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณีท้องถิ่นเนื่องจากชาวบ้านตำบลตาหลังในส่วนใหญ่อพยพมาจาก จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิชัยภูมิ ซึ่งเป็นจังหวัดทางภาคอิสานของไทยมาตั้งรกรากที่ตำบลตาหลังใน เดิมทางวัดตาหลังใน โดยพระอธิการน้อย ฐิตเมโธ เจ้าอาวาสวัดตาหลังใน เนื่องจากเดิมวัดเป็นที่รวมของการจัดกิจกรรมของชุมชน การเตรียมการต่างๆ ตั้งแต่การทำบั้งไฟก็มักจะเริ่มจากพระ วัดจึงดำเนินการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟขึ้นทุกปีบริเวณ ลานจุดบั้งไฟ ม.12 บ้านตาหลังพัฒนา ต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลตาหลังในได้ตั้งงบประมาณ เพื่อจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีบุญบั้งไฟตำบลตาหลังในเป็นประเพณีประจำถิ่นตามประกาศจังหวัดสระแก้ว โดยจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม(ประเพณีเดือนหก) ของทุกปี ณ ลานจุดบั้งไฟหมู่ 10 บ้านประตูโขง โดยมีความเชื่อว่า เมื่อจัดงานนี้แล้ว เทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จะดลบันดาลให้มีฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ การจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟมีกิจกรรมจัดขบวนบั้งไฟ และขบวนนางรำที่งดงาม การเซิ้งบั้งไฟ แสดงออกถึงความรัก ความสามัคคี ของคนในชุมชน ดังนั้นถือว่าประเพณีบุญบั้งไฟเป็นประเพณีที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และเป็นประเพณีที่ควรรักษาไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนต่อไป
องค์การบริหารส่วนตำบลตาหลังใน 0-3754-2026