ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 19' 32.128"
14.3255911
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 30' 53.7991"
99.5149442
เลขที่ : 197963
ขุดพลอย ร่อนแร่
เสนอโดย กาญจนบุรี วันที่ 3 กรกฎาคม 2566
อนุมัติโดย กาญจนบุรี วันที่ 3 กรกฎาคม 2566
จังหวัด : กาญจนบุรี
0 1478
รายละเอียด

อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี มีภูมิปัญญาการประกอบอาชีพที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม ของชาวบ้านอำเภอบ่อพลอย คือการขุดพลอย ร่อนแร่ ด้วยมือ เนื่องจากในพื้นที่จะอุดมไปด้วยแร่รัตนชาติ โดยมีที่มาสายแร่จากเขาลั่นทม ซึ่งชาวบ้านจะเรียกติดปากว่า “ลานลาวา”

“ลานลาวา” มีร่องรอยของปล่องภูเขาไฟ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ที่เกิดการปะทุขึ้นเมื่อ ๓.๑๔ ล้านปี ที่ผ่านมาโดยลาวานำสายแร่จากใต้ชั้นเปลือกโลกขึ้นมาบนผิวดิน ก่อให้เกิดอัญมณี เช่น นิล บุษราคัม พลอยไพลิน และพลอยสีต่าง ๆ จากข่าวการขุดค้นพบ ทำให้ผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านบ่อพลอยเป็นจำนวนมาก ความทราบถึงกรมการเมืองกาญจนบุรี จึงแต่งตั้งชาวกะเหรี่ยงเป็นหัวหน้าส่งพลอยไปเมืองกาญจน์ปีละหนึ่งครั้ง และส่งต่อไปยังกรุงเทพมหานคร เรียกว่า “ส่งส่วยพลอย” วิถีชีวิตของผู้คนจึงเป็นวิถีชีวิตคนขุดพลอย โดยมีวิวัฒนาการจากการขุดพลอย เป็นระยะเริ่มต้น การประกอบอาชีพขุดพลอยของชาวบ้าน ขุดพลอยร่อนแร่ คัดแยกพลอยออกจากสายแร่ ต่าง ๆ ในการขุดเจาะ เสาะหา และแยกพลอยที่อยู่ในผืนดินออกมาจากการปะปนกันมาในดิน กรวด ทราย ต่อมา จะมีการนำเครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการขุด คัดแยกพลอย จนถึงวิวัฒนาการไปถึงการขุดค้นหาพลอย ในลักษณะของ “เหมืองพลอย” ในระบบอุตสาหกรรม ในที่นี้จะขอกล่าวถึงประวัติของวิถีชีวิตของการขุดพลอย ร่อนแร่ ที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม โดยมีอุปกรณ์ และขั้นตอนการขุดพลอย ร่อนแร่ ดังนี้

อุปกรณ์

๑. สิ่ว

๒. ค้อน

๓. กระป๋องเหล็ก

๔. เชือก

๕. ตะแกรงเหล็กร่อนพลอย

๖. บันไดลิง

ขั้นตอนการขุดพลอย ร่อนแร่

๑. ก่อนการขุดหา จะมีการจุดธูป บนบานศาลกล่าวต่อเจ้าที่เจ้าทางและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้พบพลอยในพื้นที่ที่กำลังจะขุดนี้ ตามความเชื่อที่ว่าการขุดหาทุกครั้งถือเป็นการขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอาจกระทำการใดที่เป็นการล่วงเกินหรือลบหลู่โดยไม่ตั้งใจ ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ถือโทษและเมตตาให้เจอเพชรพลอยที่ต้องการ

๒. ชาวบ้านจะทำการปัดกวาดทำความสะอาดพื้นที่ก่อนการขุดค้นหา


๓. ขุดดินเป็นบ่อโดยปากบ่อจะสานไม้ไผ่ขัดกันไว้ โดยกั้นเป็นหลักและสานไม้ไผ่เพื่อกั้นไว้ไม่ให้ดิน

ที่ปากหลุมถล่มลงมาในขณะที่กำลังขุดดิน เรียกว่า “ขัดกะล่อม” ลักษณะเหมือนสานเข่งใส่ของแบบไม่มีก้น สานลึกลงไปประมาณ 1 - ๒ เมตร และเลยขึ้นมาบนปากบ่อ อีก 1 เมตร ชั้นดินที่ขุดลึกลงไป เป็นขั้นๆ ตามลำดับ

ลึกลงไป ๑ - ๒ เมตร ชั้นที่๑ เรียกว่าชั้นผิวดิน

ลึกลงไป ๒ - ๓ เมตร ชั้นที่ ๒ เรียกว่าศิลาแลง หรือเรียกว่า “ชั้นกรัง”

ลึกลงไป ๓ - ๔ เมตร ชั้นที่ ๓ จะเป็นชั้นสายแร่ หรือชั้นหินบะซอล ซึ่งจะมีพลอย นิล อัญมณี ต่าง ๆ

ปะปนมาในดินตามสายทางของลานลาวาที่ทับถมกัน เมื่อเจอสายแร่จะขุดไปตามแนวยาวเป็นอุโมงค์ ภายในอุโมงค์จะขัดด้วยไม้ไผ่กันดินถล่ม จากนั้นจะใช้สิ่ว ค้อน ขุดค้นหาเมื่อพบหิน พบก้อนดิน ที่คิดว่าจะมี อัญมณีตามความชำนาญในการขุด ก็จะนำมาใส่กระป๋องเหล็กชักรอกขึ้นมา โดยมีไม้ไผ่ปักยึดโยงกับเสาหลักมัดสายเชือกชักรอกที่ปากปล่องที่ขุด ชักรอกนำกระป๋องใส่ดินเหล่านั้นขึ้นมาโดยเชือกที่ยึดโยงนี้มี ๒ ลักษณะ คือ

๑) แบบไม้คันโพง ซึ่งจะใช้ไม่ไผ่ เรียกว่าไม้รวก โดยใช้เหล็กผูกปลายไม้รวก และใช้เชือก

ผูกโยง ปลายสายมีกระป๋องเหล็กที่ใช้ใส่แร่ดึงขึ้นมาจากบ่อพลอย ปลายอีกด้านหนึ่งของไม้รวกจะถ่วงไว้ด้วยหินก้อนใหญ่ แบบไม้คันโพงนี้จะใช้ในกรณีที่ขุดลงไปไม่ลึก

๒) แบบคันหมุน จะตั้งเสาสองข้างและทำแกนหมุน โดยผูกเชือกด้านหนึ่งไว้กับ แกนหมุน และจะใช้เชือกค่อนข้างยาว แบบคันหมุนจะใช้ในกรณีที่ขุดลงไปลึก ลักษณะการหมุนจะเหมือนการหมุนตักน้ำบ่อบาดาลในสมัยก่อน

๔. นำดินที่ได้จากการขุดมาร่อนในตะแกรงเหล็กร่อนในลองน้ำ หรือแม่น้ำร่อนหาแร่ อัญมณี

นิล พลอย หินสีแยกแร่ อัญมณี ที่ต้องการออกจากเศษกรวด หิน ดิน ทราย

๕. เมื่อสถานที่นั้นขุดพบแร่เพชรพลอย ชาวบ้านเจ้าของบ่อ ก็จะนำของมาถวายเจ้าที่เจ้าทาง

เพื่อเป็นการแก้บน ซึ่งจะมีการบนบานด้วยประทัด การแสดงรำไทย อาหารคาวหวาน เป็นต้น

บริเวณที่นิยมขุดค้นและพบพลอยจำนวนมากในสมัยก่อน ได้แก่ บริเวณ วัดไทย หรือบริเวณหลังศูนย์ OTOP อำเภอบ่อพลอย บริเวณใกล้ลุ่มน้ำลำตะเพิน ตำบลช่องด่าน บริเวณวังม่วงหรือด้านหลัง วัดรัชดาภิเษก และในบริเวณโรงพยาบาลบ่อพลอยในปัจจุบัน

เกร็ดของภูมิปัญญาสังเกตลักษณะพลอยที่ขุดสกัดมาได้บริเวณปากปล่องภูเขาไฟบริเวณ ลานลาวาสามารถเจอพลอยได้ตั้งแต่ชั้นผิวดิน แต่จะเป็นพลอยเนื้อแห้ง เมื่อนำมาเจียรนัยแล้วไม่สุกใส ในขณะที่พลอยที่ไหลตามลานลาวาไปตามลำน้ำลำตะเพินเกิดการทับถม เมื่อขุดค้นหาในพื้นที่ลึกเนื้อพลอยจะสวย มีความสุกสว่างกว่า ซึ่งการลงไปในบ่อพลอยที่มีความลึกจะมีอันตรายบางคนที่ลงไปขุดหาพลอยเสียชีวิต เนื่องจากขาดอากาศหายใจ

คุณค่าของวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ่อพลอย ในรูปแบบของการถ่ายทอดเรื่องราวการประกอบอาชีพการขุดพลอยร่อนแร่ ให้ได้มาซึ่งอัญมณีของอำเภอบ่อพลอย ซึ่งในปัจจุบันการขุดพลอยร่อนแร่ในวิถีชีวิตดั้งเดิมได้สูญหายไปแล้ว เนี่องจากปัจจุบันมีการนำเครื่องมือที่ทันสมัยมาใช้ในการขุดพลอยร่อนแร่ ซึ่งสามารถ ขุดพลอยร่อนแร่ได้มากขึ้น ใช้เวลาน้อย ดังนั้นการจัดเก็บข้อมูลในครั้งนี้จึงนำเสนอเพื่อการศึกษาวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวิถีชีวิตการขุดพลอยร่อนแร่ในอดีตของชาวอำเภอบ่อพลอย ซึ่งขุดด้วยมือเป็นยุคแรก ๆ ของวิถีชีวิตการขุดพลอยของชาวอำเภอบ่อพลอย

สถานที่ตั้ง
องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อพลอย
ตำบล บ่อพลอย อำเภอ บ่อพลอย จังหวัด กาญจนบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อพลอย
บุคคลอ้างอิง นายสนอง วิเศษสิงห์
ตำบล บ่อพลอย อำเภอ บ่อพลอย จังหวัด กาญจนบุรี
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่