ประเพณีชักพระทางทะเล เป็นประเพณีที่สำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของชาวอำเภอเกาะพะงัน
โดยกำหนดจัดหลังจากออกพรรษา คือ วันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยมีความเชื่อตามที่มาจากพุทธประวัติครั้นพุทธกาลที่ชาวบ้านได้ร่วมกันไปต้อนรับพระพุทธเจ้าครั้นเสด็จกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
อำเภอเกาะพะงันเป็นอำเภอที่มีลักษณะเป็น เกาะกลางทะเลในอ่าวไทย ห่างจากแผ่นดินใหญ่ ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร ด้วยเหตุที่เป็นอำเภอ ที่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ ประชาชนชาวอำเภอ เกาะพะงัน จึงไม่สามารถไปร่วมงานกับสถานที่จัดงานแห่งอื่น ๆ ได้ ประกอบกับอำเภอ เกาะพะงันเป็นเกาะที่มีน้ำทะเลล้อมรอบ ในอดีตไม่มีรถบนเกาะ การสัญจรขนส่ง ต้องอาศัยเรือเป็นหลัก การชักพระทางทะเล ของอำเภอเกาะพะงัน ถือเอาวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันชักพระ ด้วยเหตุที่ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ลม และน้ำเนื่องจากเป็นการชักพระทางน้ำ ประเพณีชักพระน้ำอำเภอเกาะพะงัน เกิดขึ้นเมื่อใด ยากที่จะหาคําตอบได้แน่ชัด แต่จากการสอบถามผู้สูงวัย ก็มีเพียงคําตอบที่คาดว่าน่าจะเป็นเวลาร้อยปีเศษมาแล้ว เพราะเมื่อเป็นเด็กก็มีประเพณีนี้แล้ว การชักพระในอำเภอเกาะพะงัน จะเกิดขึ้นโดยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ให้การสนับสนุนการจัดงาน ดังคํากล่าวต่อกันมาว่า“พระช่วยฟันพาย หญิงชาย ทุกวัยไปลงเรือ” บ้านทุกหลังในอำเภอเกาะพะงันจะเป็นบ้านร้าง เป็นเวลา ๓ วัน ในทะเล เต็มไปด้วยเรือมาดเรือเพรียวนับ ๑๐๐ ลำ ที่ผูกโยงกับเชือกเส้นเดียวจากเรือพระ (ชาวเกาะพะงันเรียกว่าเข้าสาย) และช่วยกันพายลากเรือพระไปทั่ว บริเวณอ่าวท้องศาลา พร้อมกับร้องเพลงชักพระ ที่มีท่วงทำนองไพเราะและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กิจกรรมภาคกลางวัน มีการทำบุญเลี้ยงพระช่วงเช้าแล้วทุกคนไปลงเรือแห่พระ ได้เวลาถวายภัตตาหารเพลจึงหยุดพัก ภาคบ่าย ลงเรือแห่พระ ร้องเพลง แข่งเรือพาย ประกวดเรือพระ เป็นต้น จนถึง ๕ โมงเย็น ในภาคกลางคืนมีการร่วมฟังพระธรรมเทศนา ทำกิจกรรมดังกล่าวนี้ จนครบ ๓ วัน
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
http://suratthani.m-culture.go.th/th/local-tradition/229812