มวยไชยา เป็นศิลปะป้องกันตัวที่บรรพบุรุษใช้ความเฉลียวฉลาดอาศัยภูมิปัญญาคิดค้นขึ้นมา ดัดแปลงใช้อวัยวะของร่างกาย เช่น มือ เท้า เข่า ศอก รวมทั้งศีรษะเป็นอาวุธป้องกันตัว และต่อสู้กับศัตรู โดยไม่ต้องใช้อาวุธอย่างอื่น เป็นมรดกทางปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณรุ่นต่อรุ่นจนปัจจุบัน มีมานานนับพันปี
มวยไชยา เป็นมวยเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีศิลปะการใช้อาวุธในการต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นการใช้หมัด ศอก เข่า หรือเท้า หรืออวัยวะส่วนไหนของร่างกายก็นำออกมาใช้ได้ทันท่วงที อย่างว่องไวรวดเร็วและถูกจังหวัด ทุกครั้งที่คู่ชกเผลอหรือเปิดโอกาสให้ โดยที่คู่ต่อสู้คาดไม่ถึง ด้วยพลิกแพลงการใช้อาวุธวิธีง่ายๆ ที่คู่ชกไม่คาดคิดจะนำมาใช้ได้ด้วยความมีชื่อเสียงของมวยไชยาที่โด่งดังไปทั่ว
อำเภอไชยาเป็นเมืองโบราณที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน เป็นหัวเมืองใหญ่ที่สำคัญเมืองหนึ่งทางภาคใต้ นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตธัญญาหารของทุ่งไชยาอันสมบูรณ์แล้ว ยังเป็นแหล่งอารยธรรมที่มีวัฒนธรรมประเพณีสืบต่อกันมาช้านาน
มวยไชยาในยุคแรกเริ่มตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๗ – ๒๓๙๔ ถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑ เริ่มมีเป็นแบบแผนครั้งแรกที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย “พ่อท่านมา” ซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ ที่ได้ มาบวชจนเป็นสมภารที่วัดทุ่งจับช้าง ท่านเป็นผู้มีวิทยาคุณสูง และมีความรอบรู้เรื่องหมัดมวย จึงฝึกซ้อมศิลปะมวยไชยา ให้ชาวไชยา จากการสัมภาษณ์ครูมวย บางกระแสก็บอกว่าท่านผู้นี้ไม่ได้ชื่อ “มา” แต่เนื่องจากคำว่า”พ่อท่าน” ในภาษาภาคใต้หมายถึง พระผู้ใหญ่กำลังเดินมา เพราะไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าท่านผู้นี้คือใคร ชาวบ้านจึงเรียกต่อๆ กันมาว่า “พ่อท่านมา”
จะเห็นได้ว่า มวยไชยา มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างแพร่หลายไปทั่ว ไปสร้างชื่อเสียงไว้ในหัวเมืองต่างๆ ทั้งทางเหนือและทางใต้ จนลือกระฉ่อนว่ามวยไชยา เป็นมวยฝีมือดี มีฝีมือฉกาจฉกรรจ์ ยากจะเอาชนะได้ เป็นที่เกรงขามของนักมวยทั่วไป ไม่อยากขึ้นชกต่อกรด้วย เป็นที่นิยมชมชอบของผู้ที่ชอบและสนใจให้กีฬามวย และให้สมญาว่า “เมืองไชยาเป็นเมืองมวย”
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
http://suratthani.m-culture.go.th/th/performing-arts/229816