กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเขาพระนิ่ม เมื่อ พ.ศ. 2480 และประกาศกำหนดเขตโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2528 ครอบคลุมภูเขาพระนิ่มทั้งลูกและปริมณฑล 20 เมตร (คือห่างจากภูเขาออกมาอีก 20 เมตร)
วัดเขาพระนิ่ม ตั้งอยู่ บ้านปากน้ำท่าทอง หมู่ที่ 1 ตำบลท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานีกำหนดอายุสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2480 เขาพระนิ่มเป็นภูเขาหินปูนขนาดเล็ก อยู่ใกล้กับปากน้ำท่าทอง ทางขึ้นถ้ำมีบันไดนาคที่ทางวัดจัดสร้างไว้ สุดปลายบันไดมีถ้ำปากถ้ำกว้างประมาณ 6 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในถ้ำลักษณะเป็นคูหา
มี 2 คูหาอยู่ชิดกัน ชื่อเขาพระนิ่ม มาจากความเชื่อของชาวบ้านเล่ากันว่า พระพุทธรูปภายในถ้ำแต่ก่อนเวลา เอามือไปแตะหรือกด จะรู้สึกนิ่มมือ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “พระนิ่ม” ซึ่งอาจเป็นเพราะพระพุทธรูปภายในถ้ำ มีความชื้นมากเนื้อปูนจึงอ่อนยุ่ย หลักฐานทางโบราณคดี พระพุทธรูปที่สำคัญ คือ พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปนี้ยาวประมาณ ๓ วา ๒ ศอก ก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นพระประธานของถ้ำ เชื่อกันว่าสร้างขึ้นราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ พระพุทธรูปอื่นมีเรียงรายทั้งสองข้างของผนังถ้ำ มีพระพุทธรูปทรงเครื่องงดงามหลายองค์ ที่น่าสังเกต คือ พระเศียรคล้าย ๆ กับครอบเทริดของมโนราห์ โดยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระพุทธรูปว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยสร้างพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชผู้สร้างคือคหบดีผู้หนึ่ง ที่ได้เดินทางโดยเรือสำเภาบรรทุกทรัพย์สินเต็มลำเรือเพื่อไปสมทบสร้างพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช แต่เมื่อมาถึงกลางอ่าวบ้านดอน เกิดลมพายุจึงนำเรือเข้าไปหลบคลื่นลมที่ใกล้ภูเขาลูกหนึ่ง เหล่าบริวารได้สำรวจพบเกาะ พบเพิงถ้ำ เศรษฐี จึงนำทรัพย์สินทั้งหมดสร้างพระพุทธรูปเป็นจำนวนมากขึ้นในบริเวณเพิงถ้ำดังกล่าว เมื่อเวลาผ่านไปนานจึงได้มีชาวประมงมาพบถ้ำนี้ และเมื่อกดมือลงพระพุทธรูปไสยาสน์ก็พบว่านิ่มมือ จึงเรียกว่า “ถ้ำพระนิ่ม” และเมื่อมีวัดขึ้นภายหลังก็เรียกชื่อว่า “วัดเขาพระนิ่ม”
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
http://suratthani.m-culture.go.th/th/archaeological-site/229830