ศิลปะการแทงหยวกเป็นงานช่างสิบหมู่แขนงหนึ่ง จัดอยู่ในหมู่ “ช่างแกะ” ประเภทงานช่างเครื่องสด อันประกอบด้วย งานช่างแทงหยวก งานแกะสลักของอ่อน และงานประดิษฐ์ดอกไม้สด
ศิลปะการแทงหยวก คือ งานช่างวิจิตรศิลป์ที่ใช้มีดสองคมแทงลงไปบนกาบกล้วยให้เกิดลวดลายเป็นแบบลายไทยในลักษณะต่างๆ ส่วนมากจะไม่มีการร่างเส้นลวดลายลงบนกาบกล้วยเพราะจะทำให้กาบกล้วยช้ำเป็นรอยไม่สวยงาม พบเห็นได้ในงานพิธีมงคล ได้แก่ ใช้ประกอบเบญจาในงานโกนจุก ใช้ตกแต่งธรรมมาสน์ในงานเทศน์มหาชาติ ใช้ตกแต่งฐานที่ตั้งผ้ากฐิน เป็นต้น ส่วนในงานอวมงคล ได้แก่ การแทงหยวกตกแต่งเชิงตะกอนเผาศพ ใช้ตกแต่งปราสาทอุทิศให้แก่ผู้วายชนม์ เป็นต้น
ศิลปะการแทงหยวก เป็นงานช่างฝีมือที่อยู่คู่ประเพณีของคนไทยมาตั้งแต่โบราณกาล มีรูปแบบการสืบทอดกันมาปรากฏใน ๒ รูปแบบ ได้แก่ ช่างราชสำนัก และสกุลช่างชาวบ้าน
อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในการแทงหยวก
1. มีดแทงหยวก มีลักษณะเป็นใบมีดสองคม ปลายแหลม ด้ามไม้กลึงเป็นทรงคล้ายลูกน้ำเต้า สำหรับแทงฉลุลายหยวก
๒. มีดบาง สำหรับตัดต้นกล้วย ตัดเข้ามุมลายชุดประกอบเข้ากับโครงสร้างที่ต้องการประดับด้วยงานแทงหยวก
๓. ต้นกล้วย ลอกกาบกล้วย(หยวก)ออกมาเป็นแผ่น นิยมใช้ต้นกล้วยพันธุ์ตานีเพราะผิวหยวกมีความขาวนวลสวยงาม ขนาดความหนาของกาบมีความสม่ำเมอ และไม่ดำคล้ำง่ายเมื่อเหี่ยวแห้ง
๔. แผ่นสีสำหรับรองใต้ลายฉลุ เช่น ใบตอง กระดาษอังกฤษ หรือกระดาษสีแบบอื่นๆ
๕. วัสดุสำหรับรัดตึงประกอบลายชุดและสำหรับยึดชิ้นงานประกอบเข้ากับโครงสร้างที่ต้องการประดับ เช่น ไม้เสียบอาหาร ตอกไม้ไผ่ ก้านลาน เชือกฟาง ลวด เป็นต้น
ขั้นตอนการแทงหยวก
๑. การเตรียมหยวกกล้วย โดยการตัดต้นกล้วยเผื่อความยาวให้ยาวกว่าความยาวของโครงสร้างที่ต้องการประดับ เช่น โครงสร้างยาว 100 เซนติเมตร ให้ตัดต้นกล้วยยาว ๑๔๐ เซนติเมตร แล้วลอกกาบกล้วยออกเป็นชั้น โดยระวังไม่ให้กาบกล้วยแตกหรือช้ำ จากนั้นทำการคัดแยกกาบกล้วยที่มีขนาดและสีใกล้เคียงกันไว้เป็นกลุ่มๆ
๒. การแทงหยวก นำกาบกล้วยที่ได้คัดแยกไว้มาทำการแทงฉลุเป็นลวดลายต่างๆ โดยใช้ปลายคมมีดแทงเข้าไปในเนื้อหยวกกล้วย ซึ่งส่วนมากจะนำกาบกล้วยมาซ้อนกัน ๒ - ๓ ชั้น แล้วแทงเป็นลายพื้นฐานอย่างลายฟันหนึ่ง (ฟันปลา) ลายฟันสาม ลายฟันห้า เพื่อความรวดเร็ว แต่จะไม่นิยมใช้วิธีนี้ในการแทงลาย
หน้ากระดาน ลายเสา หรือ ลายประยุกต์อื่นๆ
๓. การประกอบเป็นลายชุด เมื่อได้หยวกที่มีการแทงฉลุลวดลายต่างๆแล้ว ช่างจะนำกระดาษอังกฤษหรือใบตองมาติดกับหยวกอีกชั้น จากนั้นนำหยวกอีกชั้นที่แทงลวดลายเว้นพื้นหลังเรียบร้อยแล้วมาวางประกอบ โดยกดให้หยวกทั้ง ๒ ชิ้นเข้ากันได้สนิท เมื่อได้ที่แล้วจึงเลือกลายฟันต่างๆมาจัดวางให้เหลื่อมกันตามรูปแบบแล้วจึงจะใช้ไม้เสียบอาหารหรือตอกแทงเข้าไปในเนื้อหยวกจากด้านหนึ่งทะลุออกไปอีกด้านหนึ่ง รัดตึงหยวกลายต่างๆให้ครบทุกส่วนตามความยาวของชุดลายให้ครบทุกส่วน จากนั้นจึงตัดส่วนเกินของปลายหยวกที่วางซ้อนกันออก เพื่อให้เรียบร้อยและสะดวกต่อการนำไปติดตั้ง แล้วทำการแกะพื้นหลังของลวดลายออก
จะปรากฏสีสันของกระดาษอังกฤษที่ชัดเจนและสวยงามพร้อมที่จะนำไปประดับตามโครงสร้างที่ต้องการ
๔. การประดับ เมื่อมีการประกอบหยวกเป็นลายชุดต่างๆแล้ว จึงนำลายชุดมาติดตั้งเข้ากับโครงสร้างหรือฐานที่ใช้ในงานพิธี โดยใช้วัสดุรัดตึง เช่น ตอก ก้านลานหรือลวดเป็นวัสดุในการยึดลายชุดหยวกกล้วยให้ติดอยู่กับโครงสร้างหรือฐานที่ต้องการประดับ แล้วใช้มีดบางตัดหัวท้ายลายชุดหยวกกล้วยเข้ามุมให้แนบสนิทสวยงาม
๕. งานแทงหยวกนิยมมีการตกแต่งด้วยเครื่องสด เช่น พุ่มดอกไม้ หรือดอกไม้ที่ร้อยเป็นม่านมาลัยแบบต่างๆและการแกะสลักผักผลไม้ที่เรียกว่า "การแทงหยวกประกอบเครื่องสด" เพื่อเพิ่มเติมองค์ประกอบความสวยงามให้กับโครงสร้างหรือฐานที่ต้องการประดับ
ศิลปะการแทงหยวกในจังหวัดบุรีรัมย์
ในจังหวัดบุรีรัมย์ มีช่างผู้สืบสานศิลปะการแทงหยวก คือ นายกรัณย์ กาฬภักดี อยู่ที่บ้านเลขที่ 108 หมู่ ๒ ต.บ้านด่าน อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ โดยทำงานช่างแทงหยวกเป็นอาชีพเสริมและถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้สนใจในงานศิลปะแขนงนี้