ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 36' 27.09"
13.6075250
ลองจิจูด (แวง) : E 101° 1' 10.2191"
101.0195053
เลขที่ : 198212
ผ้ามัดย้อมเปลือกนนทรีป่า
เสนอโดย ฉะเชิงเทรา วันที่ 29 มีนาคม 2567
อนุมัติโดย ฉะเชิงเทรา วันที่ 29 มีนาคม 2567
จังหวัด : ฉะเชิงเทรา
0 85
รายละเอียด

ผ้ามัดย้อมเปลือกนนทรีป่า

๑. ประวัติความเป็นมา

การมัดย้อมผ้า คือ การนำผ้าทอสีพื้นมามัดและย้อมให้เกิดลวดลาย ความหมายของคำว่า มัดย้อม บ่งชี้ความเป็นลักษณะเฉพาะของเทคนิคการทำ โดยใช้วิธีการกันสีด้วยวัสดุบางอย่าง เช่น ยางรัด เชือก หมุดปักผ้า ตัวหนีบกระดาษ หรือการเย็บ ซึ่งจะช่วยกันไม่ให้สีแทรกซึมลงไป การออกแบบการกันสีขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ นอกจากนั้น ผลการออกแบบยังขึ้นอยู่กับปริมาณสีย้อม และการแทรกซึมของสีในผืนผ้าที่มัดด้วย

การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นภูมิปัญญาที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจวบจนปัจจุบัน ผ้าไหมสีธรรมชาติมักมีสีนุ่มนวล บางผืนย้อมด้วยวัสดุที่เป็นสมุนไพร จึงเป็นผลดีต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม สีธรรมชาติบางสีซีดจางง่าย สีเปลี่ยนเมื่อนำไปซัก และอาจมีสีตกได้ ในการย้อมแต่ละครั้ง ต้องใช้วัสดุให้สีปริมาณมาก ดังนั้น การผลิตผ้าย้อมสีธรรมชาติเพื่อการค้า จึงควรเลือกใช้วัสดุ หรือพืชให้สีที่หาได้ง่าย เมื่อย้อมแล้วให้สีที่คงทนต่อแสงและการซัก ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน สีไม่ตก และไม่ซีดง่าย เนื่องจากผู้ซื้อไม่สามารถย้อมทับได้ วัสดุธรรมชาติและพืชหลายชนิด ที่สามารถนำมาย้อมไหมได้สีคุณภาพระดับดี เหมาะสำหรับใช้ย้อมผ้าไหมหรือผ้าชนิดต่าง ๆ เพื่อการค้ามีดังนี้

“ครั่ง”เป็นแมลงที่มีสีแดง มักสร้างรังบนต้นจามจุรีหรือฉำฉา ใช้เป็นวัสดุย้อมไหมและฝ้าย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ย้อมไหมได้สีแดงถึงชมพู สีคงทนต่อแสงและการซักดีมาก ยังมีพันธุ์ไม้ในท้องถิ่นที่ย้อมได้สีชมพูอมแดง หรือแดงอมน้ำตาล เช่น เปลือกต้นธนนไชย เปลือกต้นนนทรี เป็นต้น

“แก้ว หรือ ตะไหลแก้ว”แก้วพริก จ๊าพริก แก้วขาว แก้วขี้ไก่ เขี้ยวขี้ควาย ใช้ใบสดย้อมไหมได้สีเขียวอ่อนอมเหลือง สีคงทนต่อแสงและการซักถึงดีปานกลาง ใบสดของต้นหูกวาง ใช้ย้อมได้สีเขียวเช่นกัน

“ดาวเรือง หรือ คำปูจู้หลวง (ภาคเหนือ) หรือ พอทู”(ในภาษากะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) ใช้กลีบดอกย้อมได้สีเหลืองทอง สีมีความคงทนต่อแสงและการซักดี และดีปานกลาง พืชอื่นที่ใช้ย้อมแล้วได้สีเหลือง คุณภาพดี เช่น เปลือกต้นเพกา ใบสมอไทย ใบยูคาลิปตัส ใบยอบ้าน ใบขี้เหล็กบ้าน เป็นต้น

“ราชพฤกษ์ คูณ ชัยพฤกษ์ หรือ ลมแล้ง”(ภาคเหนือ) “ลักเคย ลักเกลือ” (ภาคใต้) นิยมใช้ฝักในการย้อม ฝักสดย้อมได้สีม่วงอมน้ำตาล ส่วนฝักแก่ย้อมได้สีน้ำตาล สีคงทนต่อแสงและการซักระดับดี พืชอื่นในท้องถิ่นที่นำมาใช้ย้อมได้โทนสีม่วง ได้แก่ เหง้ากล้วย ผลคนทาหมักโคน ย้อมได้สีม่วงอมเทา

“มะเกลือ หรือ มะเกอ มักเกลือ” (เขมร-ตราด) “ผีเผา” (เงี้ยว-ภาคเหนือ)ผลสดดิบใช้ย้อมได้สีดำ หรือน้ำตาลดำ สีคงทนต่อแสงและการซักระดับดีมาก เทคนิคการย้อมให้ได้โทนสีดำ มักใช้การแช่หมักเส้นไหมหรือผ้าชนิดอื่น ๆ ในน้ำโคลน หลังจากย้อมด้วยน้ำสกัดจากพืชอื่น ๆ เช่น หมักโคลนเส้นไหมที่ย้อมด้วย ผลกระบก เปลือกเงาะโรงเรียน เป็นต้น การย้อมให้ได้โทนสีน้ำตาล นิยมย้อมด้วยสีสกัดจากเปลือกไม้ เช่น เปลือกต้นสมอไทย เปลือกต้นประดู่ เปลือกต้นยูคาลิปตัส เป็นต้น

หลายพื้นที่ในประเทศไทย ได้มีการมัดย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติเยอะขึ้น เนื่องจากผ้าที่มัดย้อมดีต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ประกอบกับวัสดุที่ใช้ในการย้อมสามารถหาได้ในท้องถิ่น บางชนิดอาจมีราคา แต่บางชนิดก็หาได้ตามธรรมชาติ ผ้าที่ได้ก็มีความเป็นอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของพื้นที่นั้น ๆ ด้วย จึงทำให้ผู้คนหันมาย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติกันมากขึ้น

ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติอยู่ด้วยกันหลายพื้นที่ แต่ละพื้นที่มีการมัดย้อมผ้าที่สามารถบ่งบอกถึงความเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่นั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น ในพื้นที่ตำบลลาดขวาง อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยนางอุลัยวัลย์ เคนทวาย และสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจและเครือข่าย ได้มีการมัดย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติที่สามารถดึงความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยการย้อมผ้าจากต้นนนทรีป่า ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดฉะเชิงเทรานั่นเอง

เดิมที คุณอุลัยวัลย์ ได้เริ่มทำผ้ามัดย้อมด้วยกาบมะพร้าวเพื่อจำหน่ายอยู่ก่อนแล้ว แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ตนได้มีโอกาสมาร่วมสาธิตการทำผ้ามัดย้อมในงานฉลองครบรอบ ๒๐๐ ปีชาตกาลพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ที่พิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา ครั้นเมื่อท่านไมตรี ไตรติลานันท์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ณ ขณะนั้น ได้มาเยี่ยมชมการสาธิตที่บูธของตน ได้กล่าวชื่นชมว่าเป็นความคิดที่ดีและสร้างสรรค์มาก พร้อมกับได้แนะนำให้ทำผ้ามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติที่สามารถบ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยการนำวัสดุธรรมชาติที่มีในท้องถิ่นมาทำ หลังจากนั้นตนและสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจและเครือข่าย จึงได้ปรึกษากันและเริ่มลงมือหาวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นมาทดลองทำผ้ามัดย้อม โดยวัสดุชนิดแรกที่นำมาทดลอง ได้แก่ ส่วนต่าง ๆ ของต้นมะม่วง เช่น กิ่ง ใบ ลำต้น และเปลือก เนื่องจากเห็นว่ามะม่วงเป็นพืชผลทางเศรษฐกิจของจังหวัดฉะเชิงเทราที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้นำมาทดลองปรากฏว่าสีที่ได้จากต้นมะม่วงจะมีสีเขียว และสีเหลือง

ต่อมาตนและสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจและเครือข่าย ได้เกิดไอเดียว่าอยากทำผ้ามัดย้อมจากต้นนนทรีป่า ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากเห็นว่าจะสามารถบ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดฉะเชิงเทราได้เป็นอย่างดี ซึ่งในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ตำบลลาดขวาง อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ตนอาศัยอยู่ก็มีต้นนนทรีป่าอยู่หลายต้น และมีต้นนนทรีป่าต้นหนึ่งอยู่ในเขตโรงเรียนพุทธิรังสีพิบูล ตำบลลาดขวาง อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่อยู่ใกล้หมู่บ้านของตนจึงได้ขออนุญาตผู้ใหญ่บ้านและผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธิรังสีพิบูล เพื่อนำส่วนต่าง ๆ ของต้นนนทรีป่ามาทดลองต้มสกัดสี ส่วนที่นำมาทดลอง ได้แก่ ดอก กิ่ง ใบ และเปลือก พบว่าส่วนที่สกัดสีได้ดีที่สุด คือ ส่วนของเปลือก เมื่อนำสีที่ได้มาย้อมผ้าปรากฏว่าผ้าที่ได้มีสีน้ำตาล สวยงามและมีความคลาสสิคซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก ทำให้สมาชิกทุกคนต่างก็ภูมิใจที่สามารถรังสรรค์ผลงานที่บ่งบอกถึงความเป็นอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของจังหวัดออกมาได้สวยงามสมบูรณ์ ทั้งลวดลายและสีสันจึงเป็นที่มาของการทำผ้ามัดย้อมจากเปลือกนนทรีป่านั่นเอง

ปัจจุบัน คุณอุลัยวัลย์ ได้ประกอบอาชีพค้าขายผ้ามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติ จำหน่ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและพื้นที่ใกล้เคียง ได้รับโอกาสให้ไปเป็นวิทยากรสาธิตการทำผ้ามัดย้อมในงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่หลายแห่ง ด้วยผ้ามัดย้อมของคุณอุลัยวัลย์มีลวดลายที่หลากหลาย สีสันสวยงาม สดใส และมีความคลาสสิค จึงกลายเป็นจุดเด่นที่ไม่มีใครเหมือน

๒. วัสดุอุปกรณ์

๒.๑ ผ้าหรือเสื้อยืด (ผ้าฝ้าย ผ้าปักลาย)
๒.๒ หนังยาง
๒.๓ เชือก
๒.๔ ตะเกียบ ถั่วแดง หิน กรวด ใบไม้ (ใช้ทำลวดลาย)
๒.๕ เข็มกับด้าย (ใช้สำหรับเนาผ้าเพื่อให้เกิดลวดลาย)

๓ ขั้นตอนการทำ

๓.๑ นำเปลือกนนทรีป่ามาสับให้ละเอียด แล้วแช่น้ำทิ้งไว้ 3 วัน (น้ำท่วมหลังมือ)
๓.๒ นำน้ำที่แช่เปลือกนนทรีป่าไปต้ม เคี่ยวจนลดเหลือครึ่งหนึ่ง
๓.๓ นำมากรองเอาเศษไม้ออก
๓.๔ นำผ้าขาวที่มัดลวดลายไว้แล้ว ลงมาย้อมในน้ำต้มเปลือกนนทรีป่า แช่ทิ้งไว้ประมาณ ๓๐ นาที หรือ ๑ - ๒ ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับเนื้อผ้าที่นำมาใช้
๓.๕ นำผ้ามัดย้อมมาบิดให้หมาด แกะเชือกหรือหนังยางออกแล้วนำไปล้างน้ำเปล่าหรือซักให้สะอาด นำไปตากให้แห้งสนิทเป็นอันเสร็จ

เทคนิคสำคัญ

หากต้องการให้ผ้ามัดย้อมติดสีทนนานมากขึ้น ควรใช้สารช่วยย้อม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การมอร์แดนท์ การมอร์แดนท์ คือ การย้อมผ้าด้วยสารประกอบออกไซด์ของโลหะเพื่อให้ติดสีบนเส้นใย เช่น โครเมียม ดีบุก เหล็ก อะลูมิเนียม ปูนแดง น้ำส้มสายชู และเกลือ สีที่ได้จากการทำมอร์แดนท์ ก็จะเปลี่ยนไปตามสารที่ใช้ ส่วนใหญ่มักนำมาใช้ย้อมกับผ้าเส้นใยโปรตีน และผ้าเส้นใยพอลีเอไมด์จะทำให้ติดสีได้ดี

๔. การทำผ้ามัดย้อมและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการมัดย้อมผ้าจากต้นนนทรีป่า

๔.๑ นำเปลือกนนทรีป่ามาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วแช่น้ำทิ้งไว้ ๓ วัน จากนั้นนำมาต้มเคี่ยวจนสีได้ที่แล้วกรองเอาแต่น้ำ
๔.๒ นำผ้าขาวหรือเสื้อผ้ามาทำลวดลายด้วยการเนา
๔.๓ นำผ้าขาวมาทำลวดลายด้วยการรัดหนังยาง นำผ้าลงไปแช่ทิ้งไว้ประมาณ ๓๐ นาที หรือ ๑ - ๒ ชั่วโมง
๔.๔ นำผ้ามัดย้อมมาล้างน้ำเปล่าหรือซักให้สะอาด
๔.๕ นำไปตากให้แห้งสนิท

สถานที่ตั้ง
ตำบล ลาดขวาง อำเภอ บ้านโพธิ์ จังหวัด ฉะเชิงเทรา
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง นางอุลัยวัลย์ เคนทวาย
เลขที่ 59/197 หมู่ที่/หมู่บ้าน 3
ตำบล ลาดขวาง อำเภอ บ้านโพธิ์ จังหวัด ฉะเชิงเทรา
โทรศัพท์ 0932245649
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่