ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 9° 34' 1.2565"
9.5670157
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 0' 11.8624"
100.0032951
เลขที่ : 198226
มโนราห์อาร์มน้อย ดาวรุ่ง ลูกแม่จงดี
เสนอโดย สุราษฎร์ธานี วันที่ 29 มีนาคม 2567
อนุมัติโดย สุราษฎร์ธานี วันที่ 29 มีนาคม 2567
จังหวัด : สุราษฎร์ธานี
0 108
รายละเอียด

มโนราห์อามน้อย ดาวรุ่ง ลูกแม่จงดี ทายาทรุ่นที่ ๓ ของมโนราห์อ่วม พรหมเมศร์ ครูมโนราห์ชื่อดังของอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากเป็นคณะมโนราห์ที่มีความสามารถด้านการร้องและรำจนเป็นที่ยอมรับจากผู้ชมทั่วทั้งภาคใต้และทั่วประเทศแล้ว ยังเป็นคณะมโนราห์เพียงคณะเดียวของอำเภอเกาะสมุย และเป็นคณะที่สามารถทำพิธีลงโรงครู แก้เหมฺรยหุ้ม เหมฺรยห่อ (หมากพลูธูปเทียนของชาวบ้านที่บนไว้ที่ศาลาพ่อตาในแต่ละพื้นที่ของเกาะสมุย ) และแก้เหมฺรฺย(แก้บน) เหยียบเสน (ปานแดงลักษณะนูนคล้ายแผลเป็น) ได้

รุ่นที่ ๑ นายอ่วม พรหมเมศร์ หรือ ปู่อ่วม มีเชื้อสายครูหมอโนราห์มาจากพ่อและแม่ของท่าน นั่นคือ ทวดแดง และทวดมี ซึ่งเคารพบูชาครูหมอโนราห์มาตั้งแต่อดีต เริ่มหัดร้องและรำมโนราห์ตั้งแต่วัยหนุ่ม นับเป็นคณะมโนราห์คณะแรกๆของเกาะสมุย ที่สามารถร้องและรำได้เป็นอย่างดีโดยรำร่วมกับโนราห์ชู ในขณะนั้นคนทั่วไปรู้จักกันในนามของโนราห์อ่วม - ชู

แต่เนื่องจากในพื้นที่อำเภอเกาะสมุยในสมัยนั้นไม่มีครูมโนราห์ และยังไม่มีมโนราห์ที่สามารถทำพิธีกรรมสำคัญ เช่นการลงโรงครู ได้ ปู่อ่วมจึงคิดว่าตนเองจะต้องเป็นมโนราห์ที่สมบูรณ์แบบให้ได้ จึงตัดสินใจไปเรียนรู้ศาสตร์ศิลป์วิชามโนราห์เพิ่มเติมจาก ตากรด ตาเกลือน ซึ่งเป็นคนพื้นเพที่อยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ปู่อ่วมเดินทางออกจากเกาะสมุยไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพิธีกรรมของโรงครูโนราห์ได้อย่างละเอียดท่องแท้ และปู่อ่วมยังได้รับเมตตาจากพระอาจารย์รักษ์ วัดประเดิม อำเภอเกาะสมุย พระเถระชั้นผู้ใหญ่ในการถ่ายทอดการว่าบทกลอน ชั้นเชิงต่างๆ ให้แก่ปู่อ่วมด้วย

ในอำเภอเกาะสมุย ปู่อ่วมทำหน้าที่ในการเป็นเจ้าพิธีลงโรงครูให้กับชาวบ้านที่มีเชื้อสายครูหมอโนราห์ รวมถึงครูศาสตร์และครูศิลป์สายต่างๆ เช่น ครูหมอตายาย ครูหมอเหล็ก (ช่างเหล็ก) ครูหมอยา (หมอยาสมุนไพร แพทย์แผนไทย) ครูหมอโนราห์หรือครูโนราห์ เป็นต้น และเนื่องจากครอบครัวของโนราห์อ่วมจัดเป็นครอบครัวของศิลปินมโนราห์ จึงได้ถ่ายทอดให้กับทายาทมโนราห์ รุ่นที่ ๒ คือ นายฉลอง (ลุงฉลอง) พรหมเมศร์ และนายวิโรจน์ (พ่อวิโรจน์) พรหมเมศร์ ซึ่งเป็นบุตรของปู่อ่วมโดย นายฉลองเป็นผู้ทำหน้าที่เจ้าพิธีต่างๆ สืบต่อจากปู่อ่วม ต่อไป

นายฉลอง พรหมเมศร์ หรือลุงหลอง ทายาทมโนราห์รุ่นที่ ๒ ซึ่งปู่อ่วมได้ถ่ายทอดวิชามโนราห์ไม่ว่าจะเป็นการร้อง การรำ หรือแม้กระทั่งการเป็นเจ้าพิธีกรรมเกี่ยวกับมโนราห์ ได้ทำหน้าที่สืบสานงานการแสดง และการทำพิธีลงโรงครูให้กับคนพื้นที่อำเภอเกาะสมุยและพื้นที่ภาคใต้ที่สืบเชื้อสายจากอำเภอเกาะสมุย เนื่องจากเชื่อกันว่า ครูของแต่ละที่จะไม่เหมือนกันทั้งหมดเสียทีเดียวมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น นอกจากครูโนราห์แล้ว โนราห์เกาะสมุยจะไหว้พรานบุญ พรานเทพ และพรานคง ด้วย

ต่อมา หลังจาก นายฉลอง ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคประจำตัว นายวิโรจน์ พรหมเมศร์ และนางจงดี พรหมเมศร์ น้องชายและน้องสะใภ้ ต้องรับหน้าที่เจ้าพิธีต่างๆ แทนจากนายฉลอง จึงนับเป็นทายาทรุ่นที่ ๒ ของมโนราห์อ่วม รับงานแสดงและงานพิธีกรรมจนเป็นที่รู้จักกันในนาม คณะมโนราห์แม่จงดี โดยสมาชิกในคณะมโนราห์แม่จงดี จะประกอบไปด้วยคนในครอบครัวหรือเป็นเครือญาติกันทั้งสิ้น

คณะมโนราห์แม่จงดี เป็นคณะเดียวในอำเภอเกาะสมุย ที่มีการร้อง การรำ แก้บน แก้เหมฺรฺย และการทำบุญศาลาพ่อตาต่างๆ ในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จึงได้รับความไว้วางใจจากคนเกาะสมุยให้ทำหน้าที่ในทุกๆครั้ง จนเป็นที่ยอมรับและรู้จักอย่างกว้างขวาง แต่เนื่องจากแม่จงดีเป็นผู้หญิงมีข้อจำกัดในการทำพิธีลงโรงครูไม่สามารถเป็นเจ้าพิธีเองได้แต่ยังคงทำการแก้บน แก้เหมฺรฺยได้ ทำให้หลายๆครอบครัวไม่สามารถทำพิธีลงโรงครูได้อย่างต่อเนื่อง จึงได้ถ่ายทอดให้กับนายโกเมศ พรหมเมศร์ หรือมโนราห์อามน้อย ดาวรุ่ง ลูกแม่จงดี นับเป็นทายาทรุ่นที่ ๓ ของมโนราห์อ่วม

มโนราห์อามน้อย ดาวรุ่ง ลูกแม่จงดี มีเชื้อสายครูหมอโนราห์ทั้ง2 ฝ่าย คือฝ่ายปู่ เป็นครูโนราห์ เป็นราชครูโนราห์ของแม่จงดี และฝ่ายตาดำ (พ่อของแม่จงดี) ท่านมีครูหมอยา และ นับถือบูชาตาพราน คนสมัยนั้นว่า พรานดำ ซึ่งจะคอยไปแสดงมโนราห์คู่อยู่กับปู่อ่วมบ่อยครั้ง มโนราห์อามน้อย เริ่มหัดรำครั้งแรกเมื่ออายุได้ประมาณ ๗ ปี และได้ทำพิธีผูกผ้ารับครูเมื่ออายุ ๑๕ ปี (ปกติมักจะทำพิธีตอนอายุ ๒๒ ปี หรือก่อนบวชเรียน) เนื่องจากเป็นความตั้งใจของบิดา และมารดา ของมโนราห์อามน้อย ที่จะให้ทำพิธีผูกผ้ารับครูในตอนที่ร่างกายและจิตใจยังบริสุทธิ์ ผ่องใส ปราศจากกิเลส หลังจากทำพิธีผูกผ้า แทงเข้ และรับครูโนราห์แล้ว มโนราห์อาม ได้ทำการรำ ๗ วัด ๗ บ้าน (บ้านที่เจ้าบ้านมีเชื้อสายครูศาสตร์ ครูศิลป์) คือ การรำถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นการบอกกล่าวให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์รับรู้ และเริ่มต้นทำหน้าที่เจ้าพิธีลงโรงครู แก้เหมฺรฺย แก้บน เหยียบเสน รวมทั้งร้องและรำมโนราห์ ในฐานะทายาทรุ่นที่ ๓ ของโนราห์อ่วม โดยใช้ชื่อว่า คณะมโนราห์อามน้อย ดาวรุ่ง ลูกแม่จงดี

หมวดหมู่
ศิลปิน
สถานที่ตั้ง
เลขที่ 69/2 หมู่ที่/หมู่บ้าน 5
ตำบล แม่น้ำ อำเภอ เกาะสมุย จังหวัด สุราษฎร์ธานี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง นายโกเมศ พรหมเมศร์
ตำบล แม่น้ำ อำเภอ เกาะสมุย จังหวัด สุราษฎร์ธานี รหัสไปรษณีย์ 84330
โทรศัพท์ ๐๘๔- ๖๒๖- ๕๔๔๗
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่