ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 16° 16' 9.7522"
16.2693756
Longitude : E 104° 24' 23.2448"
104.4064569
No. : 198247
การเล่นสะบ้า
Proposed by. ยโสธร Date 23 April 2024
Approved by. ยโสธร Date 23 April 2024
Province : Yasothon
0 69
Description

การเล่นสะบ้าเป็นการละเล่นพื้นบ้านในอดีต โดยใช้เมล็ดที่อยู่ในฝักของต้นสะบ้าเป็นอุปกรณ์
ในการเล่น มีผู้เล่นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ใช้ลานดินใต้ถุนบ้านเป็นพื้นที่ในการเล่น ผู้เล่นต้องใช้สะบ้าของตนยิงไปที่สะบ้าที่ตั้งเรียงไว้ที่ลานดิน โดยต้องยิงสะบ้าให้ล้มพร้อมกัน 2 ลูกขึ้นไปจึงนับเป็นแต้ม ผู้เล่นที่ยิงสะบ้าล้มได้มาก จะเป็นฝ่ายชนะ ปัจจุบันการเล่นสะบ้าเสี่ยงต่อการสูญหายเนื่องจากขาดการสืบทอดวิธีการเล่น ประกอบกับต้นสะบ้าที่หาได้ยากและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนการละเล่นพื้นบ้าน ทำให้เด็ก และเยาวชนไม่รู้จักการละเล่นสะบ้า ทั้งนี้ในชุมชนห้องแซง ยังคงมีการอนุรักษ์การเล่นสะบ้าไว้ โดยเป็นกิจกรรมหนึ่งในประเพณีสงกรานต์ของทุกปี

ที่มาหรือแหล่งกำเนิดในการเล่นสะบ้าของชาวบ้านห้องแซงนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่า
ใครเป็นผู้นำการเล่นสะบ้า และเริ่มเล่นสะบ้านี้มาตั้งแต่เมื่อใด เป็นการสืบทอดการละเล่นมาจากรุ่นสู่รุ่น อย่างไรก็ตาม ชาวห้องแซงนั้นเป็นชาวผู้ไทที่มีถิ่นฐานเดิมเป็นชาวเมืองเซโปนและเมืองพิณ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และชาวห้องแซงยังคงยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมดั้งเดิมของตนอยู่อย่างเหนียวแน่น จนเป็นอัตลักษณ์ของชาวผู้ไทห้องแซงที่ปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน

การเล่นสะบ้ามักเล่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วิธีการเล่นสะบ้าของชาวบ้านห้องแซง จะเน้นไปที่การเล่นเพื่อชิงเอาลูกสะบ้าของอีกฝ่ายมาเป็นของตนเอง โดยลูกสะบ้าที่ใช้ยิง ชาวห้องแซงจะเรียกว่า “บักเคย” หรือ “แก่น” ระหว่างการเล่นสะบ้าจะมีหมอลำ หมอแคน ขับร้องเพื่อเพิ่มบรรยากาศในการเล่นสะบ้าให้มีความครึกครื้น เพื่อดึงดูด ๆ ให้สาว ๆ บ้านใกล้เรือนเคียงมาช่วยลุ้นและให้กำลังใจ โดยใช้พื้นที่ในการเล่นสะบ้าเป็นลานดินใต้ถุนบ้าน

สะบ้าการละเล่นที่แฝงภูมิปัญญาชาวบ้านสะบ้า นอกจากเป็นการละเล่นพื้นบ้านแล้วยังแสดงถึงภูมิปัญญาความรู้เรื่องธรรมชาติของคนในอดีตที่อาศัยประสบการณ์ในการสังเกต และความคุ้นเคยกับธรรมชาติจนสามารถคัดสรรเอาวัตถุดิบที่มีในธรรมชาติมาเป็นอาหาร เป็นยา รวมไปถึง เป็นวัสดุในการละเล่น โดยสะบ้าเป็นพืชเถาวัลย์ชนิดหนึ่ง มีฝักขนาดใหญ่ ผู้เล่นสะบ้า จะต้องเข้าป่าไปหาเก็บฝักสะบ้าที่แก่แล้วแกะเอาเมล็ดที่อยู่ในฝักมาใช้ เมล็ดสะบ้า มีลักษณะวงรี มีสีน้ำตาลเข้ม หรือสีน้ำตาลแดง น้ำหนักเบา ผู้เล่นสะบ้าต้องหาเมล็ดสะบ้าที่ขนาดพอเหมาะกับมือตนเอง เพื่อให้ยิงสะบ้าได้ถนัดมือ เมล็ดสะบ้าที่ยิ่งผ่านการเล่นมาเป็นเวลานาน จะยิ่งมีความมันวาว และมีสีน้ำตาลเข้มเหมือนก้อนหิน

กติกาการเล่นสะบ้าส่วนใหญ่จะไม่ตายตัวแล้วแต่ผู้เล่นจะตกลงกัน แต่มีกติกาการนับแต้มที่ยึดถือเป็นข้อตกลงร่วมกัน ไม่ว่าจะเล่นอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันหรือไปเล่นต่างหมู่บ้าน กล่าวคือ ผู้เล่นต้องใช้ “บักเคย” ยิงสะบ้าที่ตั้งเรียงบนลานดินให้ล้มพร้อมกัน 2 ลูกขึ้นไป จึงถือเป็นแต้ม หากผู้เล่นยิงสะบ้าล้มได้เพียงลูกเดียว จะเรียกว่า “แก๊ก” และไม่นับแต้ม ส่วนกติกาที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย เช่นระยะห่างในการวางลูกสะบ้า และระยะที่ผู้เล่นยืนห่างจากแถวสะบ้า แล้วแต่ผู้เล่นจะตกลงกันในแต่ละรอบ รอบแรกจะตั้งสะบ้าเป็นแถวบนลานดินให้ถี่ และตั้งระยะห่างระหว่างลูกสะบ้าให้เท่ากัน ผู้เล่นในรอบแรกจะยืนให้มีระยะห่างจากแถวสะบ้าประมาณ 2 เมตร สำหรับในบางพื้นที่จะขีดเส้นยืนให้ผู้เล่น แต่การละเล่นของชาวห้องแซง ไม่มีการขีดเส้นยืน และไม่ได้กำกับให้มีระยะยืนตายตัว แต่ผู้เล่นที่เชี่ยวชาญแล้วมักจะยืนออกห่างจากระยะค่อนข้างมาก เพื่อแสดงความแม่นยำอวดสาวๆ ที่มาลุ้นการยิงสะบ้า

การเล่นสะบ้าหาผู้เล่นคนแรกโดยการจับไม้สั้นไม้ยาว หรือใช้การวัดความยาวของลูกสะบ้า เมื่อสะบ้าที่ตั้งอยู่บนลานดินโดนยิงล้ม ก็จะนำออกจากแถว และตั้งแถวสะบ้าที่เหลือให้ห่างออกไปโดยตั้งระยะห่างให้เท่ากัน ผู้เล่นมักจะมีเทคนิค ส่วนบุคคลในการยิงให้ลูกสะบ้าให้ล้มพร้อมกัน 2 ลูก ขึ้นไป โดยมักเล็งไปที่ลูกสะบ้าลูกใดลูกหนึ่ง และให้ลูกสะบ้ากระเด็นไปกระทบกับลูกที่ตั้งอยู่ข้าง ๆ กัน ผู้เล่นที่ชำนาญจะดีดให้สะบ้าหมุนเหมือนลูกข่าง เพื่อให้สะบ้าที่ตั้งอยู่บนลานดินเกิดการกระทบกันหลายๆ ลูก ส่วนผู้เล่นที่ยิงสะบ้าล้มได้เพียง 1 ลูก จะโดนยึดสะบ้าให้ผู้ที่มีแต้มสูงกว่า เมื่อสะบ้าที่ตั้งอยู่บนลานดินล้มหมดแล้ว หมายถึงการเล่นจบในหนึ่งรอบ เมื่อหมดรอบแล้ว ผู้เล่นจะเปลี่ยนไปยืนอีกฝั่ง และเริ่มตั้งลูกสะบ้าใหม่

ปัจจุบันการเล่นสะบ้าเสี่ยงต่อการสูญหาย เนื่องจากขาดการสืบทอดวิธีการเล่น ประกอบกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป มีเทคโนโลยีที่สร้างความบันเทิงเข้ามาทดแทนการละเล่นพื้นบ้าน และพื้นที่ธรรมชาติที่ถูกรุกล้ำทำให้ต้นสะบ้าหาได้ยาก ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักการเล่นสะบ้า ทั้งนี้ในชุมชนห้องแซง ยังคงมีผู้อาวุโสที่มีความเชี่ยวชาญในการสะบ้าและสามารถถ่ายทอดการเล่นสะบ้าได้ นอกจากนี้เทศบาลตำบลห้องแซงยังมีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์การเล่นสะบ้าไว้ โดยมีการจัดโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูการเล่นสะบ้าให้เด็ก เยาวชนและประชาชนในชุมชนบ้านห้องแซงได้รู้จักวิธีการเล่นสะบ้า และยังคงนำการเล่นสะบ้าเป็นกิจกรรมสำคัญเนื่องในวันผู้สูงอายุในงานประเพณีสงกรานต์ของทุกปี

Location
บ้านห้องแซง
Tambon ห้องแซง Amphoe Loeng Nok Tha Province Yasothon
Details of access
บ้านห้องแซง
Reference นายสมบูรณ์ เจริญตา และ นายประสิทธิ์ เจริญตา
Moo 17
Tambon ห้องแซง Amphoe Loeng Nok Tha Province Yasothon ZIP code 35120
Tel. 045-715137
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่