นางสาวรจนา จันทาพูน เป็นนักแสดงพิณเปี๊ยะที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงราย ตลอดจน ยังเป็นครูสอนให้แก่เยาวชนในจังหวัดเชียงรายด้วย
ประวัติส่วนตัว
เกิดเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๒๔
เป็นลูกคนเดียว บิดาชื่อนาย อินปั๋น จันทาพูน
มารดาชื่อ นางเสงี่ยม รัตนพันธ์
ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๑ ต. ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย
การศึกษา ปริญญาตรี บริหารธุรกิจ เอกการตลาด จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย
เคยทำงานที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในตำแหน่งพนักงาน
ส่วนขายปลีก (ปี ๒๕๔๘-๒๕๔๙)
สถานที่ผลิตผลงาน
รับสอนการเล่นดนตรีพื้นเมืองและพิณเปี๊ยะ ที่บ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๑ ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ .เชียงราย ปัจจุบันมีเด็กนักเรียน ภายในหมู่บ้านเดียวกันมาเรียน ราว ๑๐ คน นอกจากนี้ ยังเป็นวิทยากรสอนตามโรงเรียนทั่วไป
ประวัติการศึกษา
- ปีพ.ศ. ๒๕๓๖ จบการศึกษาระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนบ้านป่าบงแม่จัน จ.เชียงราย
- ปีพ.ศ. ๒๕๔๓ จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนแม่จันวิทยาคม จ.เชียงราย
- ปี พ.ศ.๒๕๔๗ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย สาขาการตลาด
ผลงานสำคัญ
- เข้าร่วมการแข่งขันพิณเปี๊ยะในงาน ๑๐๐ ปีสมเด็จย่า ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง
- เข้าร่วมการแข่งขันดนตรีพื้นเมืองของกลุ่มเขตการศึกษา ๓ ที่โรงเรียนจันจว้าวิทยาคม
- ได้รับเชิญให้แสดงที่ไร่แม่ฟ้าหลวงเพื่อต้อนรับนักข่าวที่มาทำข่าว ๗๙ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในนามของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
- ได้รับเชิญให้แสดงดนตรีสะล้อซึงและพิณเปี๊ยะที่ไร่แม่ฟ้าหลวงในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จย่าที่ไร่แม่ฟ้าหลวง และได้ร้องเพลงประสานเสียงพร้อมกับเด็กนักเรียนลูกศิษย์
- ได้รับเชิญโดยฝ่ายการท่องเที่ยวของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ดอยตุงให้บรรเลงพิณเปี๊ยะและดนตรีพื้นเมืองในงานเลี้ยงของหม่อมราชวงศ์ ดิศนัดดา ดิศกุล ณ อยุธยา
- ได้รับเชิญให้บรรเลงพิณเปี๊ยะในงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ดอยตุง
ประวัติการเล่นพิณเปี๊ยะ
นางสาวรจนา หรือน้องแดง เริ่มสนใจเปี๊ยะอายุประมาณ ๑๑ ปี สมัยนั้นยังไม่รู้จักเครื่องดนตรีพื้นเมืองชนิดใดเลย จนมีลุงที่เป็นตำรวจเอาซึงตัวละ ๑๕๐ บาทมาให้เล่น แต่ตัวแกเล่นไม่ได้
ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีชนิดแรกที่เล่น รู้สึกว่าเสียงมันดังและไพเราะดี ปกติน้องแดงเป็นคนชอบฟังเพลงประเภทที่บรรเลงแต่จะหนักไปทางเพลงสากล เพราะรู้สึกว่ามันมีท่วงทำนองที่แปลก
จากนั้นได้ทดลองฝึกเล่นซึง และมีโอกาสได้เข้าเรียนในชมรมดนตรีพื้นเมืองของโรงเรียนแม่จันวิทยาคม โดยอาจารย์ผู้สอนคือ อาจารย์ บุญส่ง เชื้อเจ็ดตน มีนักเรียน ๔ คนเท่านั้น อาจารย์ท่านจะคอยต่อเพลงให้ เมื่อมีเวลาว่างจะไปออกงานโดยไปเล่นกับคนเฒ่าคนแก่ตามงานวัดโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ จนในที่สุดมีน้องที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันมาชักชวนให้ไปเล่นซึงลูก๓ ในวงเอื้องเงิน (กลุ่มเด็กอายุประมาณ ๑๕-๑๖ ปี) และได้เริ่มรู้จักพิณเปี๊ยะตั้งแต่นั้นมา โดยมีน้องที่ชื่อชัชวาล สังคีตการ นำเครื่องดนตรีชนิดนี้มาเล่นให้ฟัง แต่ก็ยังป๊อกไม่เป็น จนรู้สึกว่า เครื่องดนตรีชิ้นนี้เหมือนเสียงระฆังและยากมาก จึงสนใจและเข้าไปศึกษาเรียนรู้กับพี่เสรี ชุ่มไชยา จนพี่เขาให้พิณเปี๊ยะ ๒ สายมา ๑ เครื่อง ซึ่งทราบภายหลังว่า เป็นเครื่องที่พ่อครูวิเทพ กันธิมาให้เป็นเครื่องแรกกับพี่เสรี เธอดีใจมากและได้นำพิณเปี๊ยะดังกล่าวไปบรรเลงตามงานต่าง ๆ โดยนำเปี๊ยะบรรเลงคู่กับดนตรีสากลและเข้าวงดนตรีพื้นเมือง แต่เสียงของพิณเปี๊ยะจะเบา
แรงบันดาลใจ
ถึงแม้ว่าเครื่องดนตรีประเภทนี้จะเหมาะกับผู้ชายมากกว่า แต่เธอก็มีเทคนิคในการเล่นโดยไม่ได้ถอดเสื้อ ซึ่งเธอจะใช้ทาบตรงกระดูกไหปลาร้า เสียงก็ออกมาดังเหมือนกัน
เธอมีความคิดว่า เมื่อมีเครื่องดนตรีที่เราไม่รู้จักอยู่ในโลกและถ้าเรามีโอกาสได้เล่นและเป็นเจ้าของ น้องแดงอยากจะให้ทุกคนสนใจและสืบสานให้ยาวนานต่อไป แม้ว่าบางครั้งจะถูกตำหนิติเตียนบ้าง เธอปรารถนาให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่หันมาสนใจและสามารถถ่ายทอดให้รุ่นต่อไปได้