วิ่งเปี้ยว
เป็นการเล่นวิ่งแข่ง โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็น ๒ ฝ่าย แต่ละฝ่ายส่งคนวิ่งอ้อมที่มั่นของฝ่ายตรงข้ามทีละคน โดยวิธีรับช่วงไม้หรือผ้าต่อๆกันไป ฝ่ายที่วิ่งเร็วกว่า ใช้ไม้หรือผ้าที่ถืออยู่ตีฝ่ายตรงข้ามได้เป็นฝ่ายชนะ
ความเป็นมา
เป็นเกมพื้นเมืองที่เล่นกันเป็นการทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคอื่นๆ ของประเทศในสมัยก่อน พบว่ามีการแข่งขันวิ่งเปี้ยวสวมกระสอบกันแล้วในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ในงานแข่งขันกรีฑาของลูกเสือมณฑลอุดร เนื่องในงานฉลองพระราชอาณาจักร
กติกาการเล่น
แบ่งผู้เล่นออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายละอย่างน้อย ๔ คน จุดเริ่มต้นของทั้งสองฝ่ายจะมองเห็นได้ชัดเจน แต่ละฝ่ายถือผ้าหรือไม้ เมื่อกรรมการให้สัญญาณเริ่มการแข่งขัน ให้แต่ละฝ่ายวิ่งไปทางด้านขวาของตนเอง พยายามวิ่งอ้อมหลักทั้ง ๒ หลักไล่ฝ่ายตรงข้ามให้เร็วที่สุด เมื่อวิ่งครบรอบหนึ่งคน ให้ส่งผ้าหรือไม้ให้คนต่อไป คนที่เพิ่งวิ่งเสร็จไปต่อหลังแถว และเวียนรอบไปเรื่อยๆ เมื่อถึงระยะให้ใช้ผ้าหรือไม้ตีที่หลังคนหน้า หากทำได้สำเร็จ ก็เป็นฝ่ายชนะไป
อุปกรณ์
วิ่งเปี้ยวนับเป็นกีฬาที่เล่นได้ง่าย เพราะ อุปกรณ์มีน้อย หาได้ง่าย ดังนี้
๑) ผ้าหรือไม้ ๒ ผืน/ชิ้น
๒) หลัก ๒ หลัก คือ ที่จุดหน้าสุดของทั้งสองฝ่ายและหลักที่เอาไว้วิ่งอ้อม (อาจใช้กรวยแทนหลัก)
การทำผิดกติกา
๑) วิ่งไม่อ้อมหลัก หรือ ลัดหลัก
๒) วิ่งชน/เตะหลัก
๓) ทำผ้า/ไม้หล่นพื้น
๔) ไม่สามารถส่งไม้ให้คนต่อไป/ส่งแล้วตกพื้น
ทักษะที่ได้รับการพัฒนา จากการละเล่นนี้คือ
๑) ความคล่องแคล่ว ว่องไว
๒) ความสามัคคีในหมู่คณะ
๓) พัฒนาร่างกายให้แข็งแรง ไม่ป่วย
๔) รู้จักวางแผนในการจัดคนวิ่ง และวิธีการวิ่ง
๕) พัฒนาไหวพริบ
๖) ความมีน้ำใจนักกีฬา
มานพ ชื่นภักดิ์
นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
อ้างอิง : วิ่งเปี้ยว., (ระบบออนไลน์)
http://th.wikipedia.org.,๒๕๕๔.