ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 19° 18' 14"
19.3038889
ลองจิจูด (แวง) : E 97° 58' 37.9999"
97.9772222
เลขที่ : 73816
วัดพระธาตุดอยกิ่วขมิ้น
เสนอโดย admin group วันที่ 24 พฤษภาคม 2554
อนุมัติโดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555
จังหวัด : แม่ฮ่องสอน
0 248
รายละเอียด

สถานที่ตั้ง บ้านไม้แงะ หมู่ที่ ๘ ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ประวัติความเป็นมา วัดพระธาตุดอยกิ่วขมิ้น ตั้งอยู่บนยอดเขา ห่างจากบ้านใหม่หัวสนามบิน ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร วัดพระธาตุดอยกิ่วขมิ้นเดิมเป็นวัดร้าง เป็นวัดร้างที่เคยขึ้นทะเบียนในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๗ พระอาจารย์มหาณรงค์ เป็นพระรูปแรกที่ขึ้นมาประจำอยู่ที่วัดพระธาตุดอยกิ่วขมิ้น ซึ่งวัดนั้นมีสภาพเป็นป่า และมีองค์เจดีย์ที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม และมีเศษอิฐแตกหัก มีโบราณวัตถุ เช่น ถ้วยชามเก่าแตกหัก ซึ่งในตอนนั้นท่านได้สร้างศาลาเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของท่านไว้หนึ่งหลัง ในเวลาต่อมาพระกิตติชัย สุจิโต มาจำวัดอยู่ ณ พระธาตุดอยกิ่วขมิ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงบูรณะบำรุงวัดพระธาตุดอยกิ่วขมิ้นขึ้นใหม่ ในเวลาต่อมาได้ยกฐานะเป็นวัดเมื่อ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ สภาพองค์เจดีย์เดิมหักพังเสียหาย แต่โครงสร้างอื่นเช่น กำแพงแก้ว และลานประทักษิณ ยังคงอยู่ในสภาพที่สามารถศึกษาองค์ประกอบ และรูปแบบสถาปัตยกรรม คือ องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีสิงห์ประดับที่มุมทั้งสี่ องค์เจดีย์มีฐานย่อเกตสามชั้น และฐานแปดเหลี่ยมรองรับชั้นมาลัยเถาที่ทำเป็นลายกลีบบัวซ้อนกันสองชั้น บัวปากระฆังและองค์ระฆังกลม ตกแต่งด้วยลายหน้ามาร (หน้ากาล) ส่วนยอด อันได้แก่ ปล้องไฉน และปลียอด หักหายไป พบแต่ชิ้นส่วนโลหะประดับยอดฉัตรตกอยูรอบฐาน ฐานย่อเกตชั้นล่างสุดประดับแจกันดอกไม้ หรือหม้อบูรณะ บนมุมทั้งสี่ และตกแต่งผนังด้วยลายลูกฟัก ที่ซุ้มทิศ ฐานทั้งสี่ด้าน มีลักษณะเป็นมุขยื่นออกมาด้านหน้า ภายในเป็นคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปปั้นศิลปะพม่าแบบมัณฑะเลย์ ส่วนยอดซุ้มเป็นทรงปราสาทซ้อนลดหลั่นเป็นชั้น ๆ ด้านหน้าเป็นบันไดทางขึ้น ราวบันไดประดับด้วยมังกรหมอบทอดตัวยาวตามแนวบันได ซุ้มทิศเหล่านี้ก่อทับฐานย่อเกตชั้นล่างที่ฉาบปูน และตกแต่งลวดลายไว้แล้ว น่าจะสร้างขึ้นหลังจากสร้างเจดีย์เสร็จแล้ว องค์เจดีย์มีลานประทักษิณ และกำแพงแก้วรูปห้าเหลี่ยมล้อมรอบ และมีช่องบันไดที่กึ่งกลางทุกด้าน ทำให้มีแผนผังเป็นรูปห้าเหลี่ยม ยาวตามแนวทิศเหนือ - ใต้ จากการสำรวจพบโบราณวัตถุ ทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น เครื่องมือหินกะเทาะ กับขวานหินขัด และโบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยลายครามของจีน สมัยราชวงศ์เช็ง เครื่องเคลือบจีนพิมพ์ลายต่าง ๆ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา เตาขุนยวม เศษเหล็กและแผ่นทองแดง ลายประดับฉัตร จากรูปแบบเจดีย์ พระพุทธรูปในซุ้มทิศเป็นศิลปะแบบพม่า สมัยมัณฑะเลย์ ที่มักสร้างขึ้นสมัยหลัง พ.ศ.๒๓๗๘ จากเศษภาชนะดินเผา จากเตาขุนยวมที่ผลิตในช่วงเดียวกันนี้ สันนิษฐานได้ว่า วัดดอยกิ่วขมิ้น สร้างขึ้นเมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ วัดพระธาตุดอยกิ่วขมิ้นได้เข้าร่วมในโครงการพัฒนาป่าไม้ร่วมกับสถาบันศาสนา โดยมีการส่งเสริมให้ทางวัดกิ่วขมิ้นมีส่วนร่วมในการช่วยงานทางด้านป่าไม้ เพราะว่าวัดพระธาตุดอยกิ่วขมิ้นเป็นวัดที่มีสภาพของป่าไม้และธรรมชาติที่อยู่ใกล้วัด

สภาพแวดล้อม วัดพระธาตุดอยกิ่วขมิ้นมีสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเต็มไปด้วยธรรมชาติ โดยเฉพาะทางขึ้นไปวัดพระธาตุดอยกิ่วขมิ้นจะมีต้นไม้ตลอดข้างทางตั้งแต่ทางขึ้นไปจนถึงวัดพระธาตุดอยกิ่วขมิ้น บริเวณโดยรอบของวัดจะเต็มไปด้วยป่าไม้และธรรมชาติ บนวัดพระธาตุดอยกิ่วขมิ้นถ้ามองลงมาจะเห็นวิวทิวทัศน์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนบางส่วน ถ้าได้มาเที่ยวช่วงฤดูหนาวจะเห็นแม่คะนิ้งที่ติดอยู่ตามใบไม้ ดอกไม้ และปลายหญ้า ที่อยู่บริเวณใกล้กับวัด และทะเลหมอกซึ่งเป็นภาพที่สวยงามมาก ส่วนเรื่องของบรรยากาศนั้นเป็นบรรยากาศที่บริสุทธิ์ที่ใครได้มาเที่ยวแล้วต้องอยากกลับมาเที่ยวอีกแน่นอน และถ้าใครชอบในเรื่องของพระพุทธศาสนาและสถาปัตยกรรม ก็จะมีในเรื่องของเจดีย์ พระพุทธรูปในซุ้มทิศเป็นศิลปะแบบพม่า สมัยมัณฑะเลย์ ที่สร้างขึ้นสมัยหลัง พ.ศ.๒๓๗๘ เป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนใครและหาดูได้ยาก ส่วนในเรื่องของพระพุทธศาสนานั้นได้มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ มีแสงสีแดงซึ่งลอยออกมาจากกลางพระธาตุดอยกองมู มายังวัดพระธาตุดอยกิ่วขมิ้นในวันเพ็ญ ซึ่งได้มีชาวบ้านที่พบเห็น จึงเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้มีผู้คนเกิดความศรัทธาในวัดพระธาตุดอยกิ่วขมิ้น ถ้ามีใครที่สนใจที่อยากที่จะมาเที่ยว วัดพระธาตุดอยกิ่วขมิ้นสามารถมาเข้าชมได้ทุกช่วงแต่ถ้ามาในช่วงฤดูหนาวจะเป็นช่วงที่บรรยากาศดีที่สุด

สิ่งสำคัญในวัด องค์เจดีย์ที่มีศิลปะแบบพม่า ซึ่งเป็นองค์เจดีย์ที่มีศิลปะที่เก่าแก่และสวยงามมาก

สถานที่ตั้ง
บ้านไม้แงะ
หมู่ที่/หมู่บ้าน 8
อำเภอ เมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัด แม่ฮ่องสอน
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน
บุคคลอ้างอิง นางสุชาธิณี สมนาค
อีเมล์ wt_maehonghson@hotmail.com
ถนน ขุนลุมประพาส
ตำบล จองคำ อำเภอ เมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัด แม่ฮ่องสอน รหัสไปรษณีย์ 58000
โทรศัพท์ 053-614417 โทรสาร 053-614303
เว็บไซต์ www.maehongsonculture.com
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่