วัดประดู่พัฒนาราม หรือ วัดประดู่ หรือ วัดโด เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ กษัตริย์ไทย และเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ในอดีต วัดประดู่ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนคร นครศรีธรรมราช มีเนื้อที่ทั้งหมด 19 ไร่ 54.7 ตารางวา โฉนดที่ดิน เลขที่ 7062 เล่มที่ 71 หน้าที่ 62 อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 1815 ได้รับวิสุงคามสีมา พ.ศ. 1820 เป็นวัดฝ่ายมหานิกาย ตำนานการสร้างวัด มีอยู่ 2 ระยะ ดังปรากฏในหนังสือ “น้อมรำลึก”โดยน้อย อุปรมัย (อดีต ส.ส. จังหวัดนครศรีธรรมราช และอดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร) กล่าวว่า ในระยะแรก สมัยสมเด็จพระราเมศวร ได้อพยพพลเมือง จากทางภาคเหนือ แถวแคว้นล้านนา และทางภาคอีสานบางส่วน ให้มาตั้งถิ่นฐานทางภาคใต้ รวมทั้งเมืองนครศรีธรรมราชด้วย ได้ผสมผสานกับชนพื้นเมือง ในการนี้ บุคคลที่สำคัญยิ่งท่านหนึ่ง ชื่อว่า “พระพนมวัง”ภริยาชื่อ “นางเสดียงทอง”ถูกส่งให้มาควบคุมดูแลพลเมือง และช่วยพัฒนาท้องถิ่น พร้อมกันนี้ได้นิมนต์พระภิกษุ ให้มาช่วยสร้างวัดเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวในของพลเมือง พระภิกษุรูปนั้นชื่อว่า “พระมหาเถรอนุรุธ”ได้จัดการสร้างวัดทางด้านทิศเหนือชานเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งบริเวณพื้นที่เป็นดอนทราย หรือ หาดทราย มีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นเต็มไปหมด สภาพเป็นป่ารกชัด แต่มีต้นประดู่ขึ้นอยู่มาก เมื่อสร้างวัด จึงให้ชื่อว่า “วัดประดู่”ภาษาภาคใต้เรียกว่า วัดโด วัดประดู่ ในระยะแรกรุ่งเรือง อยู่ไม่นานก็ร้างเจ้าอาวาส และวัดก็รกร้างลง ได้รับการ ปฏิสังขรณ์ เป็นครั้งคราว เมื่อมีพระภิกษุมาจำพรรษาอยู่บางครั้ง ข้อมูลจาก สารนครศรีธรรมราช ปีที่ 28 ฉบับที่ 4 เมษายน 2542 กล่าวว่าพี่สาวของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัด) ชื่อ “หญิง”หรือ “คุณหญิง”เป็นผู้เสื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง เป็นผู้สร้างวัดประดู่ มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า ปี พ.ศ.2319 พระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงตั้งให้เจ้านครศรีธรรมราช (หนู) เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และมารับตำแหน่ง เมื่อพ.ศ. 2325 –2327 มีชายาชื่อ “หม่อมทองเหนี่ยว”มีธิดา 1 องค์ ชื่อ “เล็ก”หรือ “คุณเล็ก”คุณเล็กได้สมรสกับเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัด) จากบันทึกอันนี้ แสดงให้เห็นว่า วัดประดู่ มีอยู่ก่อนแล้ว จึงอาจเป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์ สร้างถาวรวัตถุ ต่างๆขึ้น โดยคุณหญิง ซึ่งตรงกับหลักฐานใน พงศาวดาร เมืองนครศรีธรรมราช เขียนโดย “หลวงอนุสรสิทธิกรรม”(บัว ณ นคร) ว่าเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัด) ได้สนับสนุนการบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดประดู่ครั้งใหญ่ มีการขุดคลอง ด้านทิศตะวันออก ขุดสระน้ำด้านทิศตะวันตก หน้าวัด สร้างกำแพงหนาขนาดกับทางเดิน (ถนนราชดำเนิน ตอนนั้นยังไม่มีถนนและชื่อถนน เป็นเพียงแต่ทางเดิน) ต่อมา พ.ศ.2470 ในรัชกาลพระบาลสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตระกูล ณ นคร ได้บูรณะอุโบสถ ทั้งหมด ทำให้สวยงามยิ่งขึ้น พร้อมกับจัดสร้างซุ้มพัทธสีมา เป็นศิลปะจีนประยุกต์ ดังปรากฏอยู่ปัจจุบันวัดประดู่ได้รับการพัฒนาตลอดมา โดยการทนุบำรุงจากตระกูล ณ นคร และพุทธบริษัท การสร้างวัดประดู่ทั้ง 2 ระยะ นี้มีประวัติบันทึกไว้ อย่างชัดเจน และต่อเนื่องกัน ขอให้วัดประดู่ ดำรงความเป็นวัดประดู่ อยู่จวบจนฟ้าดินสลาย เพราะเป็นวัดที่สำคัญของแผ่นดินโบราณสถานภายในวัดประดู่ก.เก๋งพระเจ้าตากหรือตึกเจ้าตากตั้งอยู่ตรงหน้าอุโบสถอาคารทรง สี่เหลี่ยมจตุรัส ผนังก่ออิฐ ถือปูนหนาทึบ 3 ด้าน ยกพื้น สูงกว้าง และ ยาว ด้านละ 6 เมตร โครงหลังคาทำด้วยไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ลักษณะศิลปะจีนด้านหน้ามีประตู มีบานประตู 2 บานใหญ่ ทำด้วยไม้ ฉลุลวดลายเป็นป่าไม้และสัตว์ป่า ส่งมาจากเมืองจีน เพราะมีคำพังเพยที่คนพูดกันติดปากว่า“เข้าวัดแจ้ง ดูเก๋งปูนปั้นซุ้มประตู เข้าวัดประดู่ ดูลายไม้แกะจากเมืองจีน”ภายในเก๋งพระเจ้าตากมีบัวคือเจดีย์ขนาดย่อม 1 องค์ส่วนยอดเป็นรูปทรงดอกบัวตูมสร้างเป็นบัว 3 ชั้นย่อมุมไม้ 12 สูง ประมาณ 2 เมตร ก่อด้วยอิฐถือปูน ประดับลวดลายด้วยกระจกสี ปิดทองล่องชาดในหนังสือ “น้อม รำลึก”กล่าวว่า เก๋งพระเจ้าตาก สร้างขึ้นโดย เจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นบุตรของ เจ้าพระยานคร (น้อย) ผู้เป็นพระโอรส ของพระเจ้าตากสินสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2385 (บางแห่งว่า 2358) ในขณะที่ยังดำรงบรรดาศักดิ์ เป็น พระยานครศรีธรรมราช ในปลายรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้สร้างเก๋งพระเจ้าตากนี้ ประสงค์เพื่อให้เก็บอัฐิ เจ้าพระยานคร (น้อย) โดยถือตามธรรมเนียมประเพณีจีนว่า บุตรชายต้องทำศพพ่อ ครั้นนั้น พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานเพลิง พระบรมศพของ พระเจ้าตากสินมหาราช ที่วัดบางยี่เรือใต้ เมื่อ พ.ศ.2327 แล้ว พระบรมอัฐิของพระเจ้าตากสิน ได้ตกทอดถึงทายาท แบ่งปันกันเก็บรักษา ซึ่งรวมถึง เจ้าพระยานคร (น้อย) ด้วย เจ้าพระยานคร (น้อย) เก็บพระบรมอัฐิไว้เพื่อรอโอกาสที่จะประกอบพิธี เก็บพระบรมอัฐิในที่ ๆ เหมาะสม แต่เนื่องจากตลอดชีวิตของพระยานคร (น้อย) หาเวลาว่างแทบไม่ได้เลย จนกระทั่งถึงอนิจกรรม เจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) ผู้บุตร จึงได้ถือโอกาสบรรจุพระบรมอัฐิของ พระอัยกา และอัฐิของบิดา ไว้ในเจดีย์องค์เดียวกัน ดังนั้น ประชาชนจึงเรียกเก๋งนี้ว่า “เก๋งพระเจ้าตาก หรือ ตึกเจ้าตาก”ทุก ๆปี ทายาทในตระกูล ณ นคร จะไปทำบุญอุทิศถวายมิได้ขาด เมื่อ พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนิน เยี่ยมราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์เยี่ยม “ตึกเจ้าตาก”ที่วัดประดู่นี้ด้วยตึกเจ้าตากได้รับการซ่อมแซม มาตามลำดับ หลังจากกรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนแล้ว พ.ศ. 2514 ได้ซ่อมแซมให้ดูสวยงามขึ้นและ พ.ศ. 2540 ก็ซ่อมแซมอีกครั้งหนึ่ง ทุกอย่าง ยังรักษารูปแบบศิลปะเดิมไว้