เป็นประเพณีที่เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองนครศรีธรรมราชไม่มีปฏิบัติกันที่ใดในประเทศไทยและในโลก แต่เดิมจัดปีละ 2 ครั้ง คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชา และในวันขึ้น 15 เดือน 6 หรือ วันวิสาขบูชา ระยะหลังพุทธศาสนิกชนนิยมมาร่วมแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆบูชามากกว่า ทางจังหวัดจึงจัดงานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆบูชาเป็นหลัก และเรียกว่า ประเพณี”มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ” มาจนถึงปัจจุบันนี้ ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุตามตำนานระบุว่าในราว พ.ศ.1773 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชและชาวเมืองนครศรีธรรมราชกำลังจัดเตรียมงานสมโภชองค์พระบรมธาตุเจดีย์ปรากฏว่าชาวเมืองอินทรปัตย์ในเขมรจำนวน 100 คน จะนำไปบูชาพระเขี้ยวแก้วในศรีลังกาเดินทางด้วยเรือสำเภา เพื่อนำผ้าพระบฏซึ่งเป็นผ้าที่ มีลายเขียนเกี่ยวกับพุทธประวัติ มุ่งหน้าไปบูชาพระพุทธเจ้าที่เมืองลังกาแต่เรือสำเภาถูกพายุจนอัปปาง ผ้าพระบฏและชาวอินทรปัตย์รอดชีวิตประมาณ 10 คน ถูกคลื่นซัดมาเกยตื้นที่ชายหาดอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวปากพนังจึงนำผ้าพระบฏมาถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช หลังจากนั้นจึงมีมติร่วมกันในการสมโภชพระบรมธาตุ ต้องนำเอาผ้าพระบฏขึ้นไปโอบห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในวันเพ็ญเดือน 3 หรือ วันมาฆบูชา กิจกรรมที่สำคัญในวันมาฆบูชา คือ กิจกรรมกวนข้างมธุปายาส ซึ่งเชื่อว่าเป็นข้าวทิพย์หรืออาหารวิเศษที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันแห่ผ้าขึ้นธาตุจะมีประชาชนชาวพุทธทั้งในและต่างจังหวัดใกล้เคียงรวมทั้งชาวต่างชาติที่นับถือศาสนาพุทธมาร่วมกิจกรรมมากมายโดยมารวมตัวกันที่บริเวณสนามหน้าเมืองและศาลาประดู่หกเพื่อร่วมในพิธีเปิดประเพณีมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ เสร็จพิธีเปิดขบวนเคลื่อนไปตามถนนราชดำเนินนำขบวนด้วยวงดุริยางค์และตามด้วยขบวนแห่ผ้าพระบฏพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีและนำขบวนผ้าพระบฏจากกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ มุ่งหน้าสู่พระบรมธาตุเจดีย์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารขบวนยาวหลายกิโลเพื่อนำผ้าพระบฏเข้าสู่พิธีกรรมถวายผ้าพระบฏและให้ตัวแทนนำผ้าพระบฏขึ้นไปโอบห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ สำหรับพระบรมธาตุเจดีย์ยอดทองคำเชื่อว่าภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์มีพระบรมสารีริกธาตุโดยเฉพาะพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า(พระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้าย) ประดิษฐานอยู่