อำเภอราษีไศล มีความเชื่อว่าหลังออกพรรษาจะต้องมีการบวงสรวงเทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำมูล ซึ่งพิธีการบวงสรวงนั้น ส่วนหนึ่งก็คือ การส่วงเรือหรือการแข่งเรือยาวโดยชุมชนที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำมูลลุ่มน้ำเสียว ซึ่งประกอบด้วย อำเภอราษีไศล อำเภอศิลาลาด อำเภอ บึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอโพนทราย อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ จะต้องนำเรือยาวมาแข่งขันบวงสรวงถวายศาลเจ้าพ่อดงภูดิน ซึ่งตั้งอยู่ป่าสงวนแห่งชาติดงภูดิน ริมฝั่งแม่น้ำมูลบ้านผึ้ง ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ โดยกำหนดเอาวันพุธแรกหลังวันออกพรรษาเป็นวันบวงสรวงและแข่งขัน หลังจากนั้นสนามแข่งขันสนามที่ ๒ คือสนามแข่งขันบวงสรวงที่ท่าน้ำ วัดบ้านห้วย ตำบลบัวหุ่ง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจึงจะเป็นสนามแข่งขันของอำเภอราษีไศล โดยอำเภอราษีไศล ร่วมกับ สภาวัฒนธรรมอำเภอ ส่วนราชการ องค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง ๑๓ แห่ง เทศบาลตำบลเมืองคง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พ่อค้า ประชาชน ร่วมกันจัดงานประเพณีดังกล่าวสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าประเพณีการแข่งขันเรือยาวของอำเภอราษีไศล ถือได้ว่าเป็นอำเภอเดียวของจังหวัดศรีสะเกษ ที่มีการจัดการแข่งขันและสามารถสืบสานต่อเนื่องมาได้จนถึงปัจจุบัน ในการแข่งขันเรือยาวของอำเภอราษีไศล จะมีกิจกรรมที่ควบคู่และถือว่าศักดิ์สิทธิ์คือการเป่าสะไน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชนเผ่าเยอ ที่ทำมาจากเขาสัตว์ โดยเฉพาะเขาควาย ทำให้เกิดเสียงโดยการดูดลมเข้าเป็นเครื่องเป่าหรือเครื่องดูดซึ่งชาวเรือใช้เป็นสัญลักษณ์ในการรวมพลให้ฝีพายมีจิตใจฮึกเหิมและนัดหมายเวลา ซึ่งปัจจุบันการเป่าสะไนประกอบดนตรีอื่น ๆ เช่น พิณ แคน โหวต ซอ เข้าจังหวะดนตรี เป็นต้น นอกจากนี้อำเภอราษีไศลยังได้คิดค้นท่ารำประกอบเรียกว่า เซิ้งสะไน ซึ่งถือได้ว่าเป็นศิลปะการแสดงที่ได้รับการอนุรักษ์และสืบทอดควบคู่มากับประเพณีการแข่งเรือและการเป่าสะไน ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงออกที่สะท้อนภาพอดีตและความเป็นมาของชนเผ่าเยอ และประเพณีการแข่งขันเรือยาวของชาวราษีไศลเป็นอย่างดียิ่ง