ขนมข้าวโปง (ขนมแดกงา)
ตำหรับ ขนมไทยพื้นบ้าน
ชื่อ นางแก้ว สกุล สังข์สิทธิ์ อายุ ๕๗ ปี
อาชีพ ค้าขาย มีประสบการณ์ในการทำอาหาร ๔๓ ปี
ที่อยู่ ๒๒/๑ หมู่ ๓ ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
ชื่อร้านอาหาร - จำหน่ายที่ ๒๒/๑ หมู่ ๓ ตำบลหนองบัว
อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
ตั้งแต่เวลา ๐๗.๓๐ น.. ถึง ๑๘.๐๐ น. เบอร์โทรศัพท์/มือถือ ๐๘ ๖๕๙๐ ๐๔๑๙
ที่มาของอาหาร
ได้รับการถ่ายทอดการทำอาหารจากบรรพบุรุษ ประกอบกับเป็นคนที่มีใจรัก ในการทำขนมไทยพื้นบ้าน
ประเพณี/ความเชื่อ
ในอดีตกาลตามชาดกในพระไตรปิฏก เรื่อง จิตตคหบดี ขนมข้างโปงเป็นขนมที่คนชนชั้นขายแรงงาน มักจะนิยมกินกันเป็นอาหารว่าง เพราะขนมข้าวโปงทำมาจากแป้งข้าวเหนียว ซึ่งจะทำให้คนที่รับประทานรู้สึกว่าอิ่มท้องได้นานกว่าข้าว ปัจจุบันขนมข้าวโปงมีชื่อเรียก ๓ ชื่อ คือ
๑. ขนมข้าวโปง ๒. ขนมข้าวเปียง ๓. ขนมแดกงา
เครื่องปรุง/ส่วนผสม
๑. มะพร้าว ๒. ข้าวเหนียว
๓. น้ำเปล่า ๔. งาดำ
๕. แป้งข้าวเหนียว ๖. เกลือ
๗. ถั่วลิสง ๘. น้ำตาลทราย
ขั้นตอน/วิธีทำ
๑. นำมะพร้าวมาขูดให้เป็นเส้นบางๆเล็กๆ
๒. นำถั่วลิสงมาบดให้แตกไม่ต้องละเอียดมาก
๓. นำมะพร้าวมาขูดและถั่วลิสงมาคั่วในกระทะให้แห้ง โดยเติมน้ำตาลลงไปเพื่อให้เกิด
รสหวานเมื่อคั่วไส้ขนมเสร็จก็นำมาใส่ไว้ในกระปุก เพี่อเก็บไว้ใช้
๔. นำข้าวเหนียวมาตามต้องการมาแช่ในน้ำแล้วใช้มือซาวข้าวเหนียวเหมือนการหุงข้าว แช่ทิ้งไว้ประมาณ ๒๐ นาทีรอจนข้าวเหนียวขึ้นตัวแล้วนำไปนึ่งให้สุก
๕. เทข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วโขลกด้วยครกตำข้าวให้ให้ละเอียดเป็นแป้งเนียน จากนั้นใส่น้ำสะอาดลงไปผสมในข้าวเหนียว ให้ปริมาณน้ำพอท่วมเมล็ดข้าวเหนียว
๖. ผสมแป้งข้าวเหนียวลงในข้าวและใส่เกลือลงไปพอประมาณ
๗. นวดแป้งกับงาที่โขลกไว้
๘. ถั่วลิสงกับงาที่เตรียมไว้คลุกกับน้ำตาลปี๊บเติมเกลือผสมให้เข้ากันเพื่อทำไส้ขนม
๙. นำแป้งที่นวดกับงามาปั้นเป็นรูปทรงรี ใส่ไส้ที่เตรียมไว้ นำไปรับประทาน
เทคนิคในการทำ (เคล็ดลับ)
การเพิ่มความหอมของกลิ่นงาดำ โดยการนำงาดำที่คั่วให้ร้อนแล้วไปขัดกับกระด้งด้วยฝ่ามือของเราจนงาส่งกลิ่นหอมๆออกมา
การเพิ่มความเหนียวของเนื้อขนม นำข้าวเหนียวไปบดด้วยครกหิน ให้ละเอียดพอประมาณไม่ต้องละเอียดมาก เพื่อเป็นตัวประสานเนื้อแป้งไม่ให้เนื้อแป้งแตก
ฤดูที่นิยมกิน
ทุกฤดูกาล
รสชาติ
เหนียวนุ่ม หวานมัน
คุณค่าโภชนาการ
ข้าวเหนียวมีคาร์โบไฮเดรตสูง งาดำช่วยบำรุงสายตาและระบบประสาทมีโปรตีน ธาตุเหล็ก ไอโอดีน สังกะสี และวิตามินซีสูงกว่าผักทั่วไปถึง ๔๐ เท่า
ชาวจีนเชื่อว่านำมันงาดำเป็นยาอายุวัฒนะ