มวยนึ่งข้าว การทำมวยนึ่งข้าว เป็นของคู่กันของชาวไทยภาคอีสาน เพราะนิยมทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ซึ่งมีการถ่ายทอดวิชาความรู้กันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ โดยในสมัยก่อนได้มีการนำไม้ไผ่ซึ่งเป็นของหาง่ายและมีมากในพื้นที่มาทดลองจักสาน ปรากฎว่าสามารถนำมานึ่งข้าวเหนียวได้ จึงมีการจักสานมวยนึ่งข้าวนี้ใช้สืบทอดต่อกันมา
วิธีการทำ เริ่มตั้งแต่การเลือกจัดหาไม้ไผ่ขนาดและลำต้นกำลังงาม ซึ่งต้องใช้ชนิดที่แก่จัด (ลำต้นสีแดง) เอามาเลื่อยเป็นปล้อง และตัดให้เป็นแท่ง จากนั้นนำแท่งไม้ไผ่มาเหลา แช่น้ำให้ชุ่ม เมื่อได้แผ่นไม้ที่นุ่มแล้ว ฉีกแท่งไม้ไผ่ออกเป็นแผ่นเรียบ (จักตอก) จากนั้นจึงนำมาสานขึ้นรูป แล้วตากแดดให้แห้ง เมื่อไม้แห้งสนิทแล้วจึงนำมาใส่ขอบ (กง) ซึ่งจะได้กง 1 ชิ้น จากนั้นใช้ไม้ไผ่แผ่นเรียบสานให้เป็นมวย และประกอบมวยกับกงให้ได้รูปร่าง และขนาดตามต้องการ
การสานมวยนึ่งข้าว
1. วิธีคัดเลือกไม้ไผ่บ้าน เพื่อใช้จักสาน
2. วิธีตัดไม้ไผ่ตามขนาดความยาวของปล้องไม้ไผ
3. วิธีผ่าไผ่เป็นซีก ๆ ขนาด 2 เซนติเมตร เหลาให้เรียบและ ให้ปลายเรียวด้านหนึ่ง
4. วิธีจักออกเป็นตอกให้เป็นเส้นบาง ๆ
5. วิธีขุดตอกให้เรียบเสมอกันด้วยกบขูดต
6. วิธีนำเส้นตอกก่อมวย โดยขึ้นลายสามตามความยาวประมาณ 50 เซนติเมตา และสูงประมาณ 12 เซนติเมตร
7. วิธีสานลายสองเวียนต่อขึ้นไปจากข้อ 5 ความยาวตามต้องการ ( ชิ้นที่ 1 เป็นชั้นในของมวย )
8. วิธีนำเส้นตอกมาก่อใหม่ สานลายสองยืน ให้มีความสูง สั้นกว่าชิ้นที่ 1 ประมาณ 4 เซนติเมตร และสานลายสองเวียนต่อขึ้นไปให้มีความยาวเท่ากับชิ้นที่ 1
9. วิธีเหลาไม้ไผ่ทำขอบก้นมวย ให้มีขนาดความกว้างประมาณ 1 – 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร จำนวน 2 อัน และทำขอบปากมวยขนาดความกว้างประมาณ 1.5 – 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 100 เซนติเมตร จำนวน 2 อัน
10. วิธีเข้าขอบก้นมวยและปากมวยโดยใช้เชือกฟางมัดตรึงไว้ แล้วนำหวายและเครือเถาวัลย์ ที่เหลา เป็นเส้น ๆ แล้ว มาแช่น้ำ เพื่อนำมามัดขอบก้นและขอบปากมวย อีกชั้นหนึ่งให้แน่น เรียบและสวยงาม
11. วิธีนำหวายหรือเครือเถาวัลย์ มาสานฝาตุปิดก้นมวย (ฝาปิดก้นมวย) โดยสานเป็นลายสอง จะได้มวยที่มีคุณภาพดี
ชาวบ้านนิยมสานมวยนึ่งข้าวเพื่อเก็บไว้ใช้ในครัวเรือนและเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้เสริมแก่ครอบครัว