ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 36' 14.3096"
14.6039749
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 10' 17.7618"
100.1716005
เลขที่ : 97130
อำเภอศรีประจันต์
เสนอโดย admin group วันที่ 13 มิถุนายน 2554
อนุมัติโดย สุพรรณบุรี วันที่ 13 มิถุนายน 2554
จังหวัด : สุพรรณบุรี
0 1224
รายละเอียด
ประวัติอำเภอศรีประจันต์ ปรากฏเป็นหลักฐานแพร่หลายครั้งแรกในหนังสือ การประชุมพุทธศาสนสมาคมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๑๑ ณ จังหวัดสุพรรณบุรี วันที่ ๑๔-๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “เดิมเขตท้องที่อำเภอศรีประจันต์นี้ขึ้นกับอำเภอท่าพี่เลี้ยง (อำเภอเมืองสุพรรณบุรี) และของอำเภอนางบวช (อำเภอสามชุก) แต่อำเภอท่าพี่เลี้ยงและอำเภอนางบวชมีอาณาเขตกว้างใหญ่เกินไป ราษฎร์ไปมาลำบาก ทางราชการจึงได้แบ่งท้องที่อำเภอท่าพี่เลี้ยงตอนเหนือและแบ่งท้องที่อำเภอนางบวชตอนใต้มารวมตั้งอำเภอขึ้นอีกอำเภอหนึ่ง รวมเรียกว่าอำเภอศรีประจันต์ โดยยืมชื่อนางศรีประจัน แม่ยายขุนแผนในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งน่าจะมีภูมิลำเนาในเขตท้องที่ที่ตั้งเป็นอำเภอใหม่นี้ อำเภอศรีประจันต์ ได้ตั้งเมื่อ ร.ศ. ๑๒๐ หรือ พ.ศ. ๒๔๔๔ และแบ่งการปกครองออกเป็น ๒๒ ตำบล “ข้อความนี้ได้ถูกนำมาอ้างอิงหนังสืออื่น ๆ อีกมาก เช่น หนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ. ๒๕๒๘” ก็กล่าวว่า “ตั้งเป็นอำเภอศรีประจันต์โดยใช้ชื่อตัวละครในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตัวนางศรีประจัน ซึ่งน่าจะมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่นี้ อำเภอศรีประจันต์ตั้งขึ้นเมื่อ ร.ศ. ๑๒๐ หรือ พ.ศ. ๒๔๔๔” ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นเป็นที่เชื่อถืออ้างอิงกันต่อ ๆ มา โดยมิได้ตรวจสอบความถูกต้องจากหลักฐานและเอกสารชั้นต้น ทำให้เข้าใจผิดกันตลอดมาว่าอำเภอศรีประจันต์ตั้งเมื่อพ.ศ. ๒๔๔๔ หรือ ร.ศ. ๑๒๐ และชื่ออำเภอนี้ได้มาจากชื่อนางศรีประจันในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ทั้งยังเข้าใจผิดเลยเถิดไปอีกว่านางศรีประจันมีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอศรีประจันต์ ปกติการตั้งอำเภอหรือสถานที่สำคัญจะมีบันทึกเป็นเอกสารชั้นต้นอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จนกระทั่ง นายไพทูรย์ วงศ์วีรกูล ปลัดอำเภอศรีประจันต์ ได้ติดต่อขอหลักฐานจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี เฉลิมพระเกียรติ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ถ่ายสำเนาเอกสารเกี่ยวกับการตั้งอำเภอศรีประจันต์ได้ ๔ ฉบับ จากเอกสาร ๔ ฉบับนี้ ได้ข้อสรุปว่าอำเภอศรีประจันต์ ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ หรือ ร.ศ. ๑๒๑ ทีแรกชื่ออำเภอ “สีจัน” แล้วจึงเปลี่ยนเป็น “ศรีปะจันต์” ต่อมา จึงกลายเป็น “ศรีประจันต์” ดังจะแสดงรายละเอียดในตอนหลัง ตอนนี้ขออธิบายเรื่องที่เกี่ยวข้องก่อนดังนี้ เรื่องแรกคือ “นางศรีประจันไม่ใช่คนอำเภอศรีประจันต์” นางศรีประจันเป็นแม่ของนางพิมพิลาไลยหรือวันทอง นางเอกในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ชื่อในต้นฉบับสมุดข่อยเขียนต่างกันเป็น สีปะจัน สีประจัน ศรีประจัน ในเสภาฉบับพิมพ์ของหอสมุดสะกดศรีประจัน แปลเอาความได้ว่า “สิ่งที่ดีงาม (ศรี) มาประจันหรือมาเจอกัน” ส่วนชื่ออำเภอศรีประจันต์ สะกดมี ต์ หมายถึง ถิ่นปลายแดน (ประจันต์) ที่ดีงาม (ศรี) หรืออำเภอที่ดีงาม (ศรี) ในถิ่นปลายแดน (ประจันต์) เพราะอำเภอศรีประจันต์ตั้งขึ้นโดยเอาพื้นที่ปลายแดนของอำเภอท่าพี่เลี้ยง (อ.เมืองสุพรรณบุรี) กับปลายแดนของอำเภอนางบวช อำเภอสามชุกในปัจจุบันมารวมกัน และอยู่ปลายแดนทางด้านตะวันตกของอำเภอวิเศษชัยชาญ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนางศรีประจัน ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนเลย เพราะนางศรีประจันนั้น ในเสภาขุนช้างขุนแผนบอกได้ชัดว่าเป็นคนบ้านท่าพี่เลี้ยง ดังคำกลอนว่า จะกล่าวกลอนถึงพันศรโยธา เพื่อนได้ภรรยาก็คมสัน ชื่อว่านวลนางศรีประจัน เป็นเศรษฐีมีพันธ์ด้วยกันมา อยู่ท่าพี่เลี้ยงเมืองสุพรรณ น้องนางศรีประจันนั้นปากกล้า ชื่อว่าบัวประจันถัดกันมา มีผัวชื่อว่านายโชติคง ในโคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ได้กล่าวถึงที่อยู่ของตัวละครสำคัญในเรื่องขุนช้างขุนแผนไว้ว่า ๑๓๖. ...ฝั่งซ้ายฝ่ายฟากโน้น.......พิสดาร ........มีวัดพระรูปบูราณ..............ท่านสร้าง ........ที่ถัดวัดประตูสาร..............สงฆ์สู่ อยู่แฮ ........หม่อมผ่านบ้านขุนช้าง........ชิดข้างสวนบัลลังก์ ๑๓๗. วัดตะไกรใกล้บ้านที่ ..........ศรีประจันต์ ........ถามเหล่าชาวสุพรรณ.........เพื่อนชี้ ........ทองประศรีที่สำคัญ...........ข้างวัด แคแฮ ........เดิมสนุกทุกวันนี้...............รถเรือเสือคะนอง ในโคลงนี้บอกชัดว่าบ้านขุนช้างอยู่เหนือวัดประตูสารขึ้นมา ส่วนบ้านนางศรีประจัน อยู่ใกล้วัดตะไกรซึ่งเป็นวัดร้าง อยู่ติดกับวัดประตูสารทางด้านใต้ ตัวโบสถ์เก่าอยู่ในบริเวณโรงเรียนวัดประตูสารปัจจุบัน นั่นคือบ้านนางศรีประจัน อยู่ใต้วัดประตูสาร บ้านขุนช้างอยู่เหนือวัดประตูสาร ส่วนบ้านนางทองประศรีแม่ขุนแผนอยู่บ้านวัดแค ทั้งหมดล้วนอยู่ในตัวเมืองสุพรรณเก่า อำเภอศรีประจันต์ จึงไม่ใช่ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ของนางศรีประจันต์ อย่างแน่นอน จากข้อมูลในหอจดหมายเหตุแห่งชาติมีหลักฐานชัดว่า พระยาสุนทรบุรี (ภายหลังเป็นเจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี ทำหนังสือ ลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ขอตั้งอำเภอในเขตเมืองสุพรรณอีก ๒ อำเภอ เขตเมืองนครไชยศรี ๑ อำเภอ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือเลขที่ ๕๔๓/๑๒๐๗๙ ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๑ ซึ่งเป็นปลายปี เพราะสมัยนั้นขึ้นปีใหม่เดือนเมษายน กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องชื่ออำเภอที่ตั้งใหม่ว่า “การที่พระยาสุนทรบุรีขออนุญาตเพิ่มอำเภอขึ้นอีก ๓ อำเภอนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าเป็นการสมควรแล้ว จึงเห็นด้วยเกล้าฯว่า อำเภอในเมืองนครไชยศรีควรให้ชื่ออำเภอ “สามแก้ว” อำเภอเมืองสุพรรณควรให้อำเภอ “สีจัน” ๑ อำเภอ อำเภอจระเข้สามพัน ๑” อำเภอจระเข้สามพันคืออำเภออู่ทองในปัจจุบัน ส่วนชื่อ “สีจัน” มาจากชื่อบ้านสีจัน (ปัจจุบันเขียนศรีจันต์) ซึ่งเดิมครอบคลุมพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำท่าจีนตรงบ้านศรีจันต์ปัจจุบันและฝั่งตรงข้ามย่านวัดถั่ว ต่อมาวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ กรมราชเลขานุการ ได้มีหนังสือทูลตอบมายังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศกรมหลวง เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า “ทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ด้วยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า” ให้ทูลมาว่า ท่านทูลเกล้าถวายหนังสือที่๕๔๓/๑๒๐๗๙ ลงวันที่ ๕ เดือนนี้ ว่าพระยาสุนทรบุรีมีบอกมาขออนุญาตเพิ่มอำเภอขึ้นในเมืองสุพรรณบุรีอีกสองอำเภอ เมืองนครไชยศรีอำเภอหนึ่ง ท่านทรงเห็นเป็นการสมควร แลควรชื่ออำเภอในเมืองนครไชยศรีว่า อำเภอสามแก้ว อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ชื่ออำเภอสีจันหนึ่ง อำเภอจระเข้สามพันหนึ่งนั้น พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ต่อมาพระยาศรีสหเทพ (เส้ง วิริยะศิริ) ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือที่ ๕๖๔/๑๒๘๑๖ ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๑ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทูลเสนอเรื่องชื่ออำเภอสีจันว่า “ในชื่ออำเภอ ๓ อำเภอที่พระยาสุนทรบุรี ขออนุญาตเพิ่มขึ้นใหม่นี้มีชื่ออำเภอสีจันในเมืองสุพรรณบุรีอำเภอหนึ่ง แต่ชื่ออำเภอนี้ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า มีที่ใช้ได้ ๔ อย่าง คือ ๑ สีจัน ๒ ศรีปจันต์ ๓ ศรีจันทร์ ๔ ศรีจันทน์ ชื่อ ๔ อย่างนี้ควรจะใช้ชื่อใดในราชการ ขอรับพระราชทานกระแสพระราชดำริ” กรมราชเลขานุการได้มีหนังสือตอบกลับไปขอพระยาศรีสหเทพกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่รับไว้เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๑ แจ้งเรื่องการขอพระราชทานกระแสพระราชดำริในเรื่องชื่ออำเภอในเมืองสุพรรณนั้นมีพระราชกระแสว่า “ศรีปะจันต์นั้นเข้าที่เรื่องนิทาน ภายหน้าเกิดนายกุหลาบขึ้นจะได้อ้างอิงให้เป็นหลักฐาน แต่กลัวจะไม่เรียก จะคงเรียก สีจัน เปล่าอยู่ตามเดิม” นอกจากนี้ กองราชเลขานุการได้มีหนังสือไปยังเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยโดยตรง ดังนี้ สวนดุสิต ที่ ๒๖๙/๒๖๙๓ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๑ ถึง กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ด้วยได้รับหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ ๕๖๔/๑๒๘๑๖ ลงวันที่ ๒๑ เดือนนี้ มาขอให้เลือกชื่ออำเภอในเมืองสุพรรณบุรีที่ตั้งใหม่นั้นทราบแล้ว ชื่อศรีประจันต์นั้นเข้าที่เรื่องนิทาน ภายหน้าเกิดนายกุหลาบขึ้นจะได้อ้างอิงให้ได้หลักฐาน แต่กลัวจะไม่เรียก จะคงเรียกสีจัน เปล่าอยู่ตามเดิม ..........................................ขุนรจิต ร่าง ..........................................ขุนรจิต ทาน ..........................................หม่อมหลวงอนุวัตร ตรวจ ในหนังสือตอบทั้งสองฉบับนี้สรุปได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกชื่อศรีประจันต เพราะ “เข้าที่เรื่องนิทาน” ซึ่งหมายถึงสอดคล้องหรือเข้ากันได้กับนิทานเรื่องขุนช้างขุนแผนซึ่งมีตัวละครชื่อศรีประจันต์อยู่ แต่มิใช่ยืมชื่อนางศรีประจันต์ มาเป็นชื่ออำเภอ เพราะชื่ออำเภอนี้มีที่มาจากชื่อบ้าน “สีจัน” และทรงปรารภห่วงใยว่าหากในอนาคตมีคนอย่างนายกุหลาบเกิดขึ้นจะได้ใช้พระราชกระแสนี้เป็นหลักฐานอ้างอิงว่าเหตุที่ทรงเรียกชื่อศรีประจันตเพราะ “เข้าที่เรื่องนิทาน” เท่านั้นมิได้มีเหตุอื่นมากไปกว่านี้ นายกุหลาบที่ทรงกล่าวถึงหมายถึง ก.ศ.ร. กุหลาบ เป็นคนสมัย ร.๓-๕ เป็นคนมีความรู้มาก แต่ชอบแต่งเติม บิดเบือนให้ผิดเพี้ยนไปจากความจริง เพราะต้องการให้เรื่องที่ตนเขียนเด่น ดัง จนถูกสังคมผู้รู้สมัยนี้ตำหนิว่า “กุ” เรื่องขึ้นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรังเกียจคนประเภทนี้มาก จึงมีพระราชปรารภไว้ว่าเกรงจะเกิดคนอย่างนายกุหลาบบิดเบือนเรื่องชื่ออำเภอ “ศรีประจันต์” ให้ผิดเพี้ยนไป ซึ่งต่อมาก็เกิดขึ้นจริงแต่เกิดจากความเข้าใจผิดคิดว่า ชื่ออำเภอนี้ตั้งขึ้นโดยยืมชื่อมาจากชื่อนางศรีประจันต์ ซึ่งน่าจะมีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอนี้ อันเป็นความเข้าใจผิดฉกาจฉกรรจ์ แต่โชคดีที่ยังมีหลักฐานเรื่องการตั้งชื่ออำเภอศรีประจันต์อยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติอย่างชัดเจน ชื่ออำเภอศรีประจันต์นี้แต่แรกทีเดียวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเขียน “ศรีปะจันต์” แต่ต่อมาในพระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จลำน้ำมะขามเฒ่า (แม่น้ำท่าจีน) เมื่อ ร.ศ. ๑๒๗ คือ พ.ศ. ๒๔๕๑ ทรงเขียนชื่ออำเภอนี้ว่า “ศรีประจันต์” ในข้อความว่า “พลับพลาที่พักนี้ตั้งตำบลบ้านกร่าง ใกล้กับที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ฝั่งตะวันออก ตรงกับวัดที่ชื่อเดียวกันข้าม มีพระเจดีย์กลางน้ำองค์หนึ่ง เป็นพระเจดีย์ไม้สิบสองอยู่ข้างเขื่อน ว่าเป็นที่ราษฎรประชุมกันไหว้พระทุกปี ในหนังสือของกรมราชเลขานุการถึงเจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) มีข้อความกล่าวถึงชื่ออำเภอนี้ว่า ได้รับใบบอกจากมณฑลนครไชยศรีว่า มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงเรียนประสิทธิวิทยาภรณ์ อำเภอศรีประจันต์ เมืองสุพรรณบุรี เป็นจำนวนเงิน ๕๙๑ บาท ๔๐ สตางค์ จึงเป็นหลักฐานว่าในที่สุดแล้วทางราชการได้ข้อสรุปยุติเขียนชื่ออำเภอ “ศรีประจันต์” มาตั้งแต่เมื่อตั้งอำเภอได้ไม่นาน ผู้ที่เขียนชื่ออำเภอโดยสะกดการันต์เป็น “ศรีประจันต์” เป็นคนแรกน่าจะได้แก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง ศรีประจันต์มีเสียงและรูปศัพท์เป็นภาษาสันสกฤตชัดเจนดีกว่าคำว่า “ศรีปะจันต์” ซึ่งรูปศัพท์ลักลั่นกัน เพราะ ศรี เป็นเสียงสันสกฤต ปะจันต์ เป็นเสียงบาลี การเติม ร ให้เป็นเสียงสันสกฤตว่า ประจันต์ ทำให้รูปศัพท์สมบูรณ์และเสียงไพเราะกว่า จึงเป็นที่ยุติใช้เป็นชื่ออำเภออย่างเป็นทางการตลอดมา จึงสรุปได้ว่า ชื่ออำเภอศรีประจันต์ มีเค้าที่มาจากบ้านสีจัน พระยาศรีสหเทพคิดเติมเป็นคำว่าศรีปะจันต์ ทีแรกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเขียนว่า ศรีปะจันต์ แต่ต่อมาทรงเปลี่ยนเป็น ศรีประจันต์ เป็นชื่อพระราชทานใช้อย่างเป็นทางการตลอดมา
สถานที่ตั้ง
ที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์
หมู่ที่/หมู่บ้าน 1 ถนน สุพรรณบุรี-ชัยนาท
ตำบล ศรีประจันต์ อำเภอ ศรีประจันต์ จังหวัด สุพรรณบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง นางสายหยุด พลเสน
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี อีเมล์ suphanburi@m-culture.go.th
ถนน สุพรรณบุรี-ชัยนาท
ตำบล สนามชัย อำเภอ เมืองสุพรรณบุรี จังหวัด สุพรรณบุรี รหัสไปรษณีย์ 72000
โทรศัพท์ 0-3553-6058 โทรสาร 0-3553-6045
เว็บไซต์ http://province.m-culture.go.th/suphanburi
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่