เรือมาด
- เรือมาดเป็นพาหนะทางน้ำเป็นเรือชนิดหนึ่งที่ทำจากไม้เพียงต้นเดียว โดยการขุดบริเวณกลางลำต้นของต้นไม้ ถากปลายไม้ทั้งสองข้างยกหัวท้าย ขึ้นเป็นรูปเรือ เรือมาดที่เคยมีอยู่ในลุ่มแม่น้ำท่าจีนมีขนาดกว้างประมาณ 3.50 เมตร ยาวประมาณ 6 เมตร แต่ปัจจุบันเรือลำนี้ได้ถูกขายไปจากท้องถิ่นนี้แล้ว เรือลำนี้ขุดและทำขึ้นจากต้นไม้ต้นเดียวซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 เมตร ในการขุดเรือมาดช่างเรือจะทำการขุดบริเวณกลางลำเรือและสามารถขยายตัวเรือให้กว้างกว่าเดิมที่เป็นท่อนซุงได้อีกเล็กน้อย บริเวณท้องเรือจะมีความหนาประมาณ 3-4 นิ้ว จากนั้นใช้ไม้ที่โค้งพอดีกับท้องเรือนำไม้โค้งดังกล่าววางแนบกับท้องเรือด้านในตามแนวขวาง ไม้โค้งนี้เรียกว่ากงเรือ จากนั้นเจาะตัวเรือและกงเรือให้มีรูตรงกันใช้สลักที่ทำด้วยไม้เนื้อแข็งยาวและกลมตอกต่อให้ตัวเรือและกงเรือติดกันโดยไม่ใช้ตะปู เมื่อเรือถูกเข็นลงไปในน้ำไม้สลักได้รับความชื้นจะขยายตัว ไม้สลักจะพองตัวขึ้นเล็กน้อย ทำให้สลักแน่นยึดตัวเรือและกงเรือไว้ กงเรือห่างกันประมาณ 40-50 เซนติเมตร เหตุที่เรือต้องมีกงเรือเพราะ เมื่อใช้เรือบรรทุกสินค้าที่มีน้ำหนัก น้ำหนักของสินค้าอาจทำให้เรือชำรุดทะลุหรือแตกจึงต้องมีกงเรือ ก่อนบรรทุกสินค้าเจ้าของเรือจะนำไม้กระดานวางพาดไปตามกงเรือเพื่อให้น้ำหนักของสินค้ากระจายไปตามกงเรือ และกระจายสู่ท้องเรืออย่างทั่วถึง ท้องเรือไม่ต้องรับน้ำหนักของสินค้าตรง ๆ เวลาเจ้าของเรือเดินอยู่ในเรือจะไม่ใช้เท้าเหยียบลงไปบนท้องเรือตรง ๆ แต่จะเดินไปบนกระดานที่พาดอยู่หรือเดินเหยียบไปตามกงเรือ ส่วนเรือมาดที่มีขนาดเล็กมักไม่มีกงเรือ เรือที่ขุดและทำจากไม้ต้นเดียวนี้มีขนาดใหญ่ดังได้กล่าวมาแล้ว เรือมาดที่มีขนาดใหญ่ช่างเรือจะใช้ไม้เนื้อแข็งยาวประมาณ 1 เมตร กว้างประมาณ 30 เซนติเมตร หนาประมาณ 5 เซนติเมตร พาดและติดยึดไว้ที่หัวและท้ายเรือที่เรียกว่า หูกระต่าย หูกระต่ายมีไว้เพื่อผูกเชือกสำหรับผูกเรือหรือโยงเรือไปตามแม่น้ำในลำคลอง จนถึงมีขนาดเล็กที่บรรทุกคนได้เพียงคนเดียว ในอดีตเรือมาดขนาดใหญ่มีไว้สำหรับบรรทุกข้าวเปลือกออกจากคลองมายังแม่น้ำและไปยังโรงสีที่อยู่ตามริมฝังแม่น้ำ ส่วนเรือมาดขนาดเล็กใช้สำหรับบรรทุกข้าวจากนาตามลำคลองหรือรางเล็ก ๆ มาสู่บ้านของชาวนา บ้านของชาวนาจะปลูกสร้างอยู่ตามริมคลอง นอกจากจะใช้บรรทุกข้าวแล้วยังใช้บรรทุกพืชผลทางการเกษตร ขี้หมูหรือปุ๋ยคอก หรือบรรทุกดินจากที่หนึ่งไปเสริมกั้นคันคลองเพื่อป้องกันน้ำท่วม การบำรุงรักษาเจ้าของเรือจะนำเรือมาดขึ้นมาไว้บนคานขัดล้างทำความสะอาดด้วยกาบมะพร้าวไม่ใช้แปรงลวดหรือแปรงที่ทำด้วยโลหะ เพราะแปรงโลหะจะขูดทำลายเนื้อไม้ ผึ่งเรือไว้ในร่มประมาณ 10 วันให้เนื้อไม้แห้ง จากนั้นจะทาหรือชโลมด้วยน้ำมันยาง 2 – 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 2-3 วัน เนื้อไม้จะดูดซับน้ำมันยางเพื่อรักษาเนื้อไม้ จากนั้นจะชโลมทับด้วยน้ำมันยางที่ผสมชันชโลมทับอีกครั้งหนึ่ง เมื่อแห้งแล้วจึงเข็นเรือลงน้ำ การเข็นเรือมาดขึ้นและลงจากคานจะใช้ต้นกล้วยรองเรือเพราะต้นกล้วยอ่อนนุ่มไม่ทำลายเรือ เจ้าของเรือมาดจะสร้างโรงเก็บเรือที่เรียกว่าอู่เรือ ไม่ให้เรือโดนแดดและฝน โดยปกติมักจะมีการนำเรือขึ้นคานประมาณ 2 ปี ต่อ 1 ครั้ง น้ำมันยางคือน้ำมันที่เกิดจากต้นยางนาเป็นของป่าชนิดหนึ่ง โดยการเจาะเข้าไปในลำต้นของต้นยางให้เป็นโพรงจากนั้นใช้ฟืนสุมที่บริเวณรอยเจาะจากนั้นต้นยางจะขับน้ำมันออกมาตรงจุดที่ถูกเผาน้ำมันจะรวมอยู่ในโพรง ส่วนชันเป็นยางไม้ของไม้เกือบทุกชนิดที่มีอยู่ในป่ายางไม้เหล่านี้เกิดจากต้นไม้ในป่าถูกตัดฟันหรือฉีกหักจากแรงธรรมชาติต้นไม้จะขับยางออกมาเกาะกันเป็นก้อน นำมาบดให้ละเอียดเป็นฝุ่นผงผสมกับน้ำมันยางใช้ในการรักษาเรือ
- ในฤดูน้ำหลากประมาณปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาวหรือหลังเทศกาลออกพรรษาชาวบ้านจะนำเรือมาดมาพายแข่งกัน โดยปกติเรือมาดเป็นเรือที่มีน้ำหนักมากการทำให้เรือมาดเคลื่อนที่ไปข้างหน้าต้องใช้แรงมากเมื่อเรือมาดออกวิ่งแล้วจะมีแรงเฉื่อยสูง ใช้แรงพายเพียงเล็กน้อยเรือมาดก็วิ่งไปได้ การทำให้เรือมาดวิ่งสามารถทำได้ด้วยแรงคน 2-3 ประการ คือ การพาย การถ่อ การแจว เมื่อเรือมาดจมหรือมีการคว่ำเรือมาดให้จมลงสู่พื้นน้ำเพื่อทำความสะอาดเจ้าของเรือสามารถกู้เรือมาดโดยให้น้ำออกจากเรือมาดด้วยคนเพียงคนเดียว เรือมาดจมและลอยปริมอยู่กับพื้นน้ำเจ้าของเรือจะกดกาบเรือด้านหนึ่งให้ขึ้นและลงเป็นจังหวะน้ำที่อยู่ในเรือมาดมีแรงเฉื่อยก็จะผลักน้ำออกจากเรือจนไม่มีน้ำอยู่ในลำเรือ โดยไม่ต้องใช้ภาชนะวิดน้ำออกจากเรือ
- การนำไม้ซุงมาขุดเป็นเรือต้นซุงบางต้นอาจมีลักษณะไม่สามารถขุดเป็นเรือมาดได้จึงมีการดัดแปลงตกแต่งโดยนำไม้มาต่อยกขึ้นเป็นกาบเรือที่เรียกว่าเรือพายม้า เรือพายม้าจะมีหัวแหลมกว่าเรือมาด
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ค่ายวิทยาศาสตร์พื้นบ้าน
- จัดทำขึ้นเพื่องานด้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย โดย... พ.ต.อ.ไพฑูรย์ เพิ่มศิริวิศาล…
หมู่ที่ 6 ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ. สมุทรสาคร