ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 10° 51' 22.9518"
10.8563755
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 25' 51.0208"
99.4308391
เลขที่ : 102696
หนึ่งในสยาม เนินทรายงามชุมพร
เสนอโดย ชุมพร วันที่ 11 กรกฎาคม 2554
อนุมัติโดย ชุมพร วันที่ 27 สิงหาคม 2555
จังหวัด : ชุมพร
0 1820
รายละเอียด

สันทรายชุมพร(Sand Dune)

การกำเนิดสันทรายชายหาด
โดยแพทย์หญิงรัชนี บุญโสภณ

มีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่ต้องพ้องพอดีกัน สันทรายจึงจะก่อเกิดขึ้นมาได้(แหล่งทรายส่วนหนึ่งมาจากการพัดพาของแม่น้ำลำธารจากดินแดนต้นน้ำลงมาสู่ทะเล) นั่นคือ ต้องมีแหล่งทรายมากพอ หาดกว้างพอ และชายหาดน้ำค่อนข้างตื้น ระยะเวลา ขึ้นลงของน้ำต้องห่างกันพอให้ทรายแห้ง เม็ดทรายที่โตที่สุดก็ต้องไม่โตเกินที่ลมจะพัดปลิวขึ้นไปได้

ความเร็วลมต้องค่อนข้างสม่ำเสมอ และอยู่ระหว่าง15 – 45 ไมล์ต่อชั่วโมง ถ้าลมอ่อนกว่านี้ก็ไม่เกิดการเคลื่อนไหวหรือปลิวของเม็ดทราย (การเกิดสันทรายไม่ใช่เพียงลมพัดเม็ดทรายขึ้นไปธรรมดา แต่เกิดจากขบวนการที่เรียก “เต้น” คือ เม็ดทรายหนึ่งปลิวไปตกแล้วกระแทกอีกเม็ดหนึ่ง ทำให้เม็ดที่สองนั้นปลิวขึ้นไปแล้วกระแทกเม็ดต่อๆ ไป ถ้าหากเม็ดทรายโตปลิวไม่ขึ้นก็ได้แต่กลิ้งไปชนเม็ดข้างหน้า ขบวนการหลังนี้เรียกว่า “คลาน” ซึ่งขบวนการ “คลาน” มีน้อยกว่า “เต้น” ในการเกิดสันทราย) ถ้าลมแรงเกินไปสันทรายก็จะกร่อน ไม่อาจเกิดสันทรายสูงๆ

ตามชายหาดจะมีเศษซากของพืช และสัตว์ใต้ทะเลมากองๆ ไว้ตามแนวน้ำขึ้นสูงสุด เศษซากเหล่านี้จะกลายเป็นปุ๋ยให้เมล็ดพันธุ์พืชที่มากับลมหรือลอยมากับน้ำทะเลได้อาศัยงอกขึ้น และตัวมันเองก็ร่วมกับพืชเกิดใหม่เหล่านั้นทำหน้าที่เก็บและกักทรายที่ปลิวมาตกลงไม่ให้ปลิวต่อไปง่ายๆพืชมีบทบาทสำคัญในขบวนการก่อเกิดสันทราย โดยจะเป็นตัวลดแรงลมนอกเหนือจากการกักและเก็บทรายไว้กับที่ ซึ่งพืชจะต้องมีคุณลักษณะพิเศษด้วย คือ มันจะต้องงอกให้พ้นทรายที่ปลิวลงมาทับถมได้ทัน อาจเป็นไม้ยืนต้น หรือถ้าเป็นหญ้าก็เป็นชนิดที่ไม่แห้งตายไปตามฤดูกาล มันจะต้องสร้างลำต้นและรากใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตามการทับถมของทราย ขณะที่สันทรายก็จะสูงขึ้น ใหญ่โตขึ้น อาจสูงได้นับสิบเมตรและมีเสถียรภาพขึ้นเรื่อยๆ

เสถียรภาพของสันทรายเป็นส่วนสำคัญในการรักษาชายฝั่งโดยที่เป็นกันชนไม่ให้คลื่นทำลายชายฝั่งเมื่อเกิดพายุ ป้องกันไม่ให้น้ำเค็มรุกเข้าไปด้านใน ทั้งรุกโดยตรงเหนือพื้นดิน และแทรก ซึมใต้ดิน การมีแนวสันทรายหลายๆ แนวบนชายฝั่งสลับกับ ลำราง พื้นที่ลักษณะนั้นจะเก็บน้ำ ฝนไว้ได้ดีกว่าพื้นที่ราบเรียบ น้ำฝนจะซึมลงไปใต้ดินจำนวนมาก เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ ที่นอกเหนือจะเป็นแหล่งน้ำจืดสำหรับไว้ดื่มและใช้แล้ว ยังสามารถ “ยัน” ไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำ เข้าไปในน้ำใต้ดินริมฝั่งทะเลและลึกเข้าไปข้างในด้วย

นอกจากนั้น เสถียรภาพของสันทรายยังเป็นเครื่องกำบังป้องกันสังคมพืชที่ซับซ้อนที่กำลังพัฒนาเติบโตอยู่ให้รอดพ้นจากการถูกน้ำทะเลท่วม ถูกไอน้ำเค็มและ กระแสลมแรงที่ซัดสาด และยังเป็นแหล่งทรายที่จะคอยเติมทรายให้ชายหาด ที่อาจถูก ชะล้างพังทะลายลงจากคลื่น ลม และน้ำฝน ในฤดูมรสุมทรายอาจถูกชะล้างลงไปใน ทะเล เป็นเนินทราย หรือสันทรายในทะเล พอถึงฤดูแล้งคลื่นก็จะพาทรายกลับเข้าสู่ฝั่ง เมื่อหาดแห้ง ลมก็จะพัดทรายปลิวกลับขึ้นไปบนสันทราย

ถ้าสันทรายถูกทำลายลง (โดยคน) ขบวนการนี้ก็จะถูกขัดขวาง ชายฝั่งจะถูกกัดกร่อน และไม่มีทรายมาเติมกลับ น้ำใต้ดินก็จะกร่อย การสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือ การทำถนนใกล้ชายฝั่งเกินไป จะเป็นการขัดขวางการเติมแหล่งทรายหมุนเวียนตามฤดูกาลทุกๆ ปีที่เคยเป็น ในที่สุดหาดก็จะแคบลงและชายฝั่งจะถูกกัดเซาะพังทลายไปเรื่อยๆ เช่นกัน

ด้านนอกของสันทรายมีความเปราะบาง พืชต่างๆ ด้านนี้ถูกทำลายได้จากสภาวะธรรมชาติ เช่น พายุ ภาวะแห้งแล้งจัด ไฟไหม้ และยังถูกทำลายจากน้ำมือคนเช่น การแผ้วถาง เลี้ยงสัตว์ การเดินเหยียบย่ำขนาดใหญ่ และการใช้ยานพาหนะบนสันทราย ถ้าพืชที่คลุมสันทรายถูกทำลายลง มีความเสียหาย กระแสลมแรงจะ “เป่า” ทรายให้หลุดออกเป็นช่องบนสันทราย ซึ่งถ้าไม่มีการซ่อมแซมช่องนี้ก็จะกว้างออกๆโดยลมพัดทรายเข้าไปด้านใน จนบางครั้งสันทรายทั้งระบบจะเคลื่อนลึกเข้าไป และสันทรายจะกลบทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า ในขณะเดียวกัน เมื่อสันทรายถูกพัดลึกเข้าไปด้านหน้าทะเลก็ขาดแหล่งทราย หรือจำนวนแหล่งทรายที่ป้อนกลับลดลง เมื่อหาดถูกชะล้างไปไม่นานฝั่งทะเลก็แหว่งหายไปตาม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันพืชที่ปกคลุมสันทรายไว้เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายดังกล่าว

“หนึ่งในสยาม สันทรายงามที่ชุมพร”

ผู้แต่งคำขวัญดังกล่าว คือ ผศ.(พิเศษ) ประสพชัย นามลาพุทธา ผู้จัดทำโครงการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลด้านป่าไม้ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ส่วนสำรวจและวิเคราะห์ทรัพยากรป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในปี 2546 จากโครงการดังกล่าวทำให้ท่านประสพชัย ได้ค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ของประเทศไทยที่จังหวัดชุมพร คือ“สันทราย หรือ Sand Dune” ซึ่ง ผศ.(พิเศษ) ประสพชัย นามลาพุทธาได้ศึกษาค้นคว้าการก่อเกิดสันทรายไว้ว่า จากลักษณะทั่วไปของชายฝั่งทะเลด้าน ทิศตะวันออกหรืออ่าวไทยนั้น มีธรณีสัณฐานทางทะเลที่เกิดจากอิทธิพล 2 ประการ ด้วยกันคือ การยกตัวของชายฝั่ง หมายถึง การยกระดับของแผ่นดินเมื่อเปรียบเทียบกับ น้ำทะเลทำให้บริเวณซึ่งเดิมเคยอยู่ใต้น้ำโผล่พ้นน้ำขึ้นมา กลายเป็นแผ่นดิน
อีกประการ คือการลดของระดับน้ำทะเล ข้อนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการก่อเกิดเนินทรายชายฝั่ง การลดลงของระดับน้ำทะเลนี้สังเกตได้จากลักษณะของแผ่นดินที่ เป็นลานตะพักชายฝั่ง (coastal terrace) ที่เคยมีน้ำทะเลท่วมถึงมาก่อน (former tidal flat) แลร่องรอยของเชิงผาชัน หรือเขาหินปูนที่เกิดจากน้ำทะเลกัดเซาะ เช่น เว้าทะเล (sea notches) ที่อยู่ลึกเข้าไปในผืนแผ่นดิน

การลดลงของน้ำทะเลนี้มิได้หมายถึงอิทธิพลของน้ำขึ้นลงแต่เกิดจาก การเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาหลังและก่อนยุคน้ำแข็ง ถึงตรงนี้ต้องเข้าใจกันก่อนว่าโลกเรา นี้มีช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งกับช่วงที่น้ำแข็งละลายกลับไปกลับมา จากประเด็น นี้นักวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้อย่างคร่าวๆ ว่าปลายยุคน้ำแข็งหรือในช่วง เวลาประมาณ 1.8 ล้าน ถึง 14,000 ปีก่อนน้ำแข็งที่ปกคลุมอยู่ทั่วโลกเริ่มหลอมละลายณ เวลานั้นรับน้ำทะเลสูงกว่าปัจจุบันมาก (เหมือนอย่างในปัจจุบันที่เรากลัวว่าน้ำจะท่วมโลก เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลายในสภาวะที่โลกของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้น) จึงเกิดการรุกล้ำของน้ำทะเลส่งผลให้พื้นดินในปัจจุบันที่อยู่ริมฝั่งทะเล ริมฝั่งแม่น้ำ ปากแม่น้ำ และที่ราบชายฝั่งถูกน้ำทะเลท่วมอย่างที่ เขาเบิด เขาถ้ำธง เขาหมอน เขาแหลมใหญ่ และภูเขาหินปูนหลายแห่งในพื้นที่ชายฝั่งของจังหวัดชุมพรกลายสภาพเป็นเกาะ

เมื่อสภาพภูมิประเทศได้พัฒนามาจนถึงที่เกิดสันทรายปิดกั้นอ่าว เมื่อมีลมประจำถิ่นจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านบริเวณนี้อยู่เป็นประจำกินเวลายาวนานหลายเดือน และมีความเร็วลมพอเหมาะต่อการเกิดปรากฏการณ์เนินทราย ความเร็วลมที่ว่านี้อยู่ระหว่าง 15-45 ไมล์/ชั่วโมง และขนาดเม็ดทรายที่เหมาะสมที่จะทำให้ลมพัดพาไปได้จะอยู่ในช่วงขนาด (0.1-2.0 มม.) ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นจุดเริ่มของการก่อร่างสร้างตัวของเนินทรายและกลายเป็นเนินทรายชายฝั่งในปัจจุบันนี้ต่อมาประมาณ 1,500 ปีก่อนปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาที่น้ำทะเลถอยกลับมาอยู่ ในระดับที่เราๆ ท่านๆ เห็นกันในปัจจุบันนี้ การรุกและการถอยกลับในห้วงเวลาที่ผ่านมาทำให้เกิดสันทรายและเกาะสันดอนปิดกั้นอ่าว และน้ำทะเลบางส่วนให้อยู่ด้านหลัง ของเทือกสันทรายจึงเกิดทะเลหลงขึ้นในเวลาต่อมา เมื่อเวลาล่วงเลยเป็นเวลานานทะเลหลงก็กลายสภาพเป็นพรุในที่สุด ดังที่เราเห็นทางด้านทิศตะวันตกเมื่อยืนอยู่บนเนินทราย

ดังนั้นการก่อเกิดแนวสันทรายที่ค่อนข้างจะเป็นระเบียบเกิดเม็ดทรายขนาดเล็กที่ลมสามารถพัดพาขึ้นไปสู่เนินทรายได้จะเคลื่อนที่ในลักษณะกระโดด (salutations) ในทิศทางเดียวกัน ส่วนเม็ดทรายมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่แรงลมจะพากระโดดขึ้นไปก็จะเคลื่อนที่ด้วยการกลิ้งไปตามพื้น (surface creeping) ไม่สามารถกระโดดได้อย่างทรายอนุภาคขนาดเล็กๆ

นอกจากเม็ดทรายแล้ว เนินทรายชายฝั่งนี้อาจเกิดจากสิ่งทับถมและลมพา(Aeolian or eolian deposits) โดยจะพัดพาเอาทราย (sand) ทรายแป้ง (silt) หรือดินละเอียดมากองทับถมบริเวณหาดทรายโดยทั่วไปเม็ดตะกอนเหล่านี้จะเป็นเม็ดทรายจึงเรียกว่าเนินทราย (sand dune)เนินทรายสามารถเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ตามทิศทางของลม โดยยังคงมีรูปร่างลักษณะเช่นเดิม ด้านที่อยู่ต้นลมจะมีลักษณะลาดเอียง ส่วนด้านหลังจะชันคล้ายสันมีดอีโต้

อนาคต.....แนวสันทราย

จากคำขวัญที่ว่า “หนึ่งเดียวในประเทศไทย” หรือเพราะความหลากหลายของพืชพรรณและประโยชน์ที่ได้รับ จากการที่ โครงการพัฒนาส่วนพระองค์จังหวัดชุมพร โดยคุณชัยรัตน์ รัตน์ดำรงภิญโญ หัวหน้าโครงการอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาส่วนพระองค์จังหวัดชุมพร ได้ทำการทดลอง การนำใบของต้นเสม็ดขาวมาสกัดเป็นยาทากันยุง จากการทดสอบสามารถป้องกันยุงได้นานกว่าตะไคร้หอม และกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้จากพืชพรรณชนิดอื่น ๆ แล้วอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสกัดจากพืชพรรณในบริเวณสันทรายมีดังนี้

น้ำมันมะพร้าวบำรุงผิวพรรณ และป้องกัน uv ยากันยุงตะไคร้หอม และจากเสม็ดขาว ยาระงับกลิ่นปากจากใบฝรั่ง ยาบำรุงผิวปากไม่ให้แตกเป็นขุย น้ำมันอโรมา จากน้ำมันมะพร้าว สเปรย์ปรับอากาศจากน้ำมันมะพร้าว ก้อนดับกลิ่นอับชื้นตู้เสื้อผ้าและตู้เย็น จากผลเตยทะเลและผลอื่นๆ ยาแก้แมลงสัตว์กัดต่อย

สันทราย หรือ Sand dune ถ้ำธง –บางเบิดเป็นพื้นที่หนึ่งที่โครงการปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งอ่าวปะทิวอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน ร่วมกับโรงเรียนและชุมชนในการผลักดันให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ และคงสภาพแวดล้อมเดิมของพื้นที่ให้เป็นป่าธรรมชาติและเป็นห้องเรียนธรรมชาติ ทั้งนี้ได้รับแรงหนุนเสริมอันเป็นน้ำเลี้ยงที่ช่วยต่อลมหายใจของเนินสันทรายให้มีชีวิตและมีพัฒนาการต่อไปภายใต้อิทธิพลของ ลม น้ำ และกาลเวลา ก็คือ คุณชัยรัตน์ รัตนดำรงภิญโญ หัวหน้าโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาส่วนพระองค์จังหวัดชุมพร ซึ่งคณะทำงานโครงการได้รับประสบการณ์ใน

พื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยและได้มุมมองหรือแง่คิดที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นเวลาไหนพื้นที่ใด ๆ ล้วนมีสิ่งที่ให้เราได้ศึกษาเรียนรู้มากมาย จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสนใจ ในการเรียนรู้ระบบนิเวศบริเวณเนินสันทรายชายฝั่งที่เรียกกันว่า “สังคมพืชป่าเนินสันทรายชายทะเล”ที่มีคำขวัญกล่าวว่า“หนึ่งในสยาม สันทรายงามที่ชุมพร”อันเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทยก็ไม่ผิดนัก

คำสำคัญ
สันทราย Sanddune
สถานที่ตั้ง
บ้านถ้ำธง
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน ๓ บ้านถ้ำธง ถนน ถ้ำธง - บางเบิด
ตำบล ปากคลอง อำเภอ ปะทิว จังหวัด ชุมพร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สมาคมเพื่อสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร
บุคคลอ้างอิง นางชิดสุภางค์ ชำนาญ
ชื่อที่ทำงาน สมาคมเพื่อสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน ๓ บ้านถ้ำธง
ตำบล ปากคลอง อำเภอ ปะทิว จังหวัด ชุมพร รหัสไปรษณีย์ 86160
โทรศัพท์ 0866893857 โทรสาร 0 7759 1482
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่