ครูจวบ พันธ์คีรี เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ที่อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เป็นบุตรคนที่ ๑ ในจำนวนพี่น้อง ๓ คน ของนายคง และนางเนี่ยว พันธ์คีรี สมรสกับนางสาวสมใจ สังขิณี มีบุตร ๘ คน ชาย ๗ คน หญิง ๑ คน
ครูจวบ มีความสนใจด้านการรำโนราตั้งแต่ยังเด็ก มารดาเห็นว่าบุตรชายมีความสนใจด้านการรำโนราจึงพาไปฝากตัวฝึกโนรากับโนราจวน สุวรรณชาตรี จนสามารถรำโนราได้ดี มีท่ารำที่อ่อนช้อยทุกระบวนท่าการขับกลอนมีน้ำเสียงไพเราะ และไหวพริบปฏิภาณในการแสดงกลอนสดในรูปแบบต่างๆ และได้รำโนราประจำอยู่กับคณะของโนราจวน สุวรรณชาตรีเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ได้ทำ "พิธีตัดจุก ผูกผ้าใหญ่ ครอบเทริด" และได้เป็นโนราสมบูรณ์แบบ สามารถประกอบพิธีกรรมตามขนบธรรมเนียมโนราแบบโบราณได้และอนุรักษ์การแสดงโนราแบบโบราณ "โนราโรงครู" ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ผูกพันกับท้องถิ่นของภาคใต้มาโดยตลอดปี ๒๕๐๒ ครูจวบ ได้ตั้งคณะโนราชื่อคณะ "โนราประจวบ ประดิษฐ์ศิลป์" ครูจวบเป็นโนราที่มีความสามารถในการแสดงโนราแบบโบราณโดยได้ครบทุกระบวนท่า เข้าพิธีครอบเทริดถูกต้องตามธรรมเนียมของโนรา สามารถประกอบพิธีกรรมของโนราโบราณได้ทุกอย่าง ตั้งแต่แก้บน แต่งพอกผูกผ้าใหญ่ ว่ากลอนสด กลอนตลกหรือออกพรานได้อย่างสวยงาม และมีการทำบทได้เป็นอย่างดี มีเนื้อหาสาระและสนุกสนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพิธีกรรมโนราโรงครู ซึ่งจะแสดงปีละประมาณ ๔ เดือน คือในเดือน ๖, ๗, ๘ และเดือน ๙ครูจวบ พันธ์คีรี เป็นบุคคลผู้ทรงภูมิปัญญาด้านศิลปกรรม (การแสดงโนราแบบโบราณ) เป็นผู้สร้างสรรค์และสืบสานภูมิปัญญาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับของสังคมและชุมชน จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
ให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาในการจัดการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ตามนัยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๔๕
องค์ความรู้
ครูจวบ พันธ์คีรี มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการแสดงโนราแบบโบราณ (โนราโรงครู) สามารถเขียนและว่ากลอนสด มีความคิดสร้างสรรค์เพื่อปรับปรุงพัฒนาศิลปะการแสดงโนราไว้หลายอย่าง เช่นดัดแปลงยอดเล็บจากเดิมที่ใช้หวายซึ่งหักง่าย เป็นการนำกระป๋องแป้งพลาสติกมาตัดและเกราทำเป็นยอดเล็บแทน หรือนำท่ารำโนรามาประยุกต์เป็นท่ากายบริหารร่างกายประกอบดนตรี ใช้บริการร่างกาย
การถ่ายทอดความรู้
ครูจวบ ถ่ายทอดความรู้การแสดงโนราแบบโบราณ โดยเป็นวิทยากรถ่ายทอดการแสดงโนราแบบโบราณให้แก่นักเรียนทั้งในสถานศึกษา ไปฝึกให้ที่ศูนย์ฝึกศิลปพื้นบ้านอำเภอบางกล่ำมีการฝึกรำและทำชุดโนราศิษย์บางรุ่นสามารถนำโนราแสดงตามงานต่างๆ
เกียรติคุณที่ได้รับ
พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับเกียรติบัตรเป็นคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอบางกล่ำ จากสภาวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา
พ.ศ ๒๕๔๒ ได้รับโล่เกียรติบัตร ผู้สนับสนุนการแสดงโนราในงานส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นบ้านจากสภาวัฒนาธรรมอำเภอบางกล่ำ
พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้รับเกียรติบัตรเทคนิคการถ่ายทอดแก่ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นจากจังหวัดสงขลา สาขานันทนาการ และผู้ทำคุณประโยชน์ด้านวัฒนธรรม จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๔๙ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๕ ด้านศิลปกรรม (การแสดงโนราแบบโบราณ) จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ