1.ชื่อข้อมูล ปลากะตักแห้ง
2.รายละเอียดของข้อมูล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 หมู่บ้านชาวประมงหลายแห่ง ตามเส้นทางชายฝั่งทะเลจากอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ ไปจนถึงอำเภอสายนบุรี จะมีการทำปลา “กะตักแห้ง” ตลอดระยะทาง ผู้ริเริ่มการทำปลากะตักในแถบนี้ ได้แก่นายแบยี ดอมะ อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 103 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ และนายอารี หะมะ อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 55 / 1 หมู่ที่ 2 ตำบลบางเก่า อำเภอสายบุรี
“ปลากะตะ”เป็นชื่อปลาที่เรียกกันในหมู่บ้านชาวประมงและหมู่บ้านใกล้เคียง เป็นปลาชนิดเดียวกับปลาไส้ตัน นำมาทำเป็นปลาแห้ง เรียกว่าปลา “กะตะ” หรือ “กะตัก”สาเหตุที่ชาวบ้านประกอบอาชีพการทำปลากกะตักแห้งกันมาเนื่องจาก ชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานตามสถานที่ดังกล่าวมีอาชีพประมง เช่น อวนลาก อวนรุน อวนลอย และเลี้ยงปลากะพงในคลอง ต่อมาปลาที่หาได้จากอวนลอย อวนรุน มีจำนวนน้อยลง ชาวบ้านจึงเลิกอาชีพประมงชายฝั่ง จะมีเลี้ยงปลากะพงบ้าง แต่มีไม่กี่รายนอกนั้นทำประมงไกลฝั่งจับปลากะตัก สถานที่ชายทะเล เป็นพื้นที่โล่ง เหมาะแก่การตากปลา และการขนส่งสะดวกทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อ เพราะมีเส้นทางคมนาคมผ่านสะดวกสบาย ราคาต้นทุนไม่มาก เป็นค่าแผงตากปลาและเตาต้มปลาใช้ไม้ฟืนเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านที่ไม่มีงานทำจะได้มีงานทำ ปัจจุบันมีทั้งนายจ้างลูกจ้างและชาวบ้านที่ทำเป็นอาชีพในครัวเรือนและเป็นอาชีพอิสระ ปลากะตักสด มี 2 ชนิด คือ ชนิดดำ และชนิดขาว ราคาซื้อชนิดขาวจะแพงกว่าชนิดดำ ปลากะตักเมื่อทำแห้งแล้ว ราคาขายจะแตกต่างกันไป ทั้งนี้อยู่ที่การทำการตกแต่งและชนิด เช่น ชนิดขาว ราคา 55 –60 บาทต่อกิโลกรัม ผู้ซื้อหรือลูกค้ามาจาก อำเภอ ตากใบ จังหวัดนราธิวาส อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และพ่อค้าในตลาดต่าง ๆ ของจังหวัดปัตตานี ถ้าผู้บริโภคหาซื้อในท้องตลาด ราคา 100 – 140 บาท การทำปลากะตักแห้งจะนิยมทำกันในหน้าแล้งแดดจัด ปลาที่ได้จะมีรสและกลิ่นน่ารับประทาน จังหวัดปัตตานีนำปลากะตักมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้ให้จังหวัดเป็นจำนวนมาก