ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 18° 52' 13.0001"
18.8702778
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 8' 12.0001"
99.1366667
เลขที่ : 123433
วัดพระธาตุดอยสะเก็ด
เสนอโดย arporn_v วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555
อนุมัติโดย เชียงใหม่ วันที่ 7 มีนาคม 2555
จังหวัด : เชียงใหม่
0 1276
รายละเอียด

วัดพระธาตุดอยสะเก็ด ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดที่เก่าแก่สร้างมาช้านาน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๕๕ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับยกย่องฐานะ ให้เป็น วัดพัฒนา ตัวอย่าง ที่มีผลงานดีเด่นของกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการ ประวัติหรือตำนาน ตามที่บันทึกไว้ใน ประวัติ-ตำนานวัด ดังนี้

ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายได้ตรัสรู้ธรรมอันวิเศษแล้ว ได้นำเอาธรรมะออกเผยแผ่แก่ชาวชนบทน้อยใหญ่ ในชมพูทวีปจนได้มีผู้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม เป็นจำนวนมาก ในกาลนั้นแล พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์มาปรากฏกายทิพย์ ณ บนดอยแห่งนี้แล้วทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีสว่างเจิดจ้าไปทั่ว ขณะนั้นได้มีพญานาคคู่หนึ่งอาศัยอยู่ในหนองบัว (ห่างจากวัดพระธาต ุดอยสะเก็ด ประมาณ ๑ กิโลเมตรทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) ได้เห็นฉัพพรรณรังสีจึงแปลกใจ พากันเลื้อยขึ้นสู่บนดอย แล้วได้ทัศนา เห็นพระพุทธองค์ บังเกิดความเลื่อมใส จึงแปลงกายเป็นชายหนุ่มหญิงสาวมาเข้าเฝ้าพร้อมกับได้นำดอกบัวมาถวาย พระพุทธองค์ทรงรับ เอาดอกบัว แล้วจึงทรงแสดงธรรมโปรด และประทานพระเกศาธาตุแก่พญานาคแปลงคู่นั้น พญานาคจึงได้อธิษฐานสร้างเจดีย์หิน แล้วนำเอา พระเกศาธาตุบรรจุประดิษฐานไว้บนดอยแห่งนี้

ต่อมาได้มีนายพรานผู้แสวงหาของป่าได้มาพบเห็นเจดีย์มีลักษณะสวยงาม จึงเกิดอัศจรรย์ แล้วได้ นำเอาก้อนหินมาก่อเป็นรูปเจดีย์ขึ้น กลางคืน ได้นิมิต (ฝัน) ว่าเจดีย์ที่ตนพบนั้นเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า จึงได้บอกกล่าวชักชวนประชาชนในแถบนั้น ขึ้นไป สักการะบูชา และเรียกชื่อภูเขาแห่งนี้ว่า “ดอยเส้นเกศ” บ้าง “ดอยสะเก็ด” บ้าง ที่เรียกว่าดอยเส้นเกศนั้น เพราะเรียกตามพระเกศาธาตุ ที่เรียกว่า ดอยสะเก็ด เพราะเรียกเพี้ยนสำเนียงตามที่พญานาคลอกคราบ (ชาวเหนือเรียกสะเก็ด หรือสละเกล็ด) คือ ถอดหรือลอกคราบนั้นเอง

ดอยแห่งนี้ ได้มีพุทธศาสนิกชนขึ้นมานมัสการเจดีย์หิน อันเป็นที่บรรจุ พระเกศาธาตุมากขึ้น จึงได้ก่อเจดีย์ปูนเสริมให้ใหญ่ และมั่นคง กว่าเดิม ต่อมาได้มี พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า “ครูบาเก๋” จากอำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน มาสร้างวิหารและบูรณะ เจดีย์พร้อมทั้งสถาปนา ขึ้นเป็นวัด เรียกว่า “วัดพระธาตุดอยสะเก็ด” ต่อมา ได้มีชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยในเชิงดอย และใกล้เคียงเป็นจำนวนมากขึ้น ทางราชการจึงได้จัดตั้งเป็นอำเภอ โดยใช้ชื่อว่า “อำเภอดอยสะเก็ด” ตามภาษาเรียกของชาวบ้านเป็นต้นมา

ในจุลศักราช ๑๑๙๗ พ่อน้อยอินทจักร ได้มาบูรณะวิหารหลังเก่าอีก เมื่อจุลศักราช ๑๒๗๔ ครูบาชัย วัดลวงเหนือ (วัดศรีมุงเมืองปัจจุบัน) ได้มาซ่อมแซมวิหารให้ ดีกว่าเดิม และเสริมองค์เจดีย์ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ขุนผดุงดอยแดน ได้บูรณะเจดีย์ พระเกศาธาตุ และในจุลศักราช ๑๒๕๗ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๘ พระอภิวงศ์ หรือ ครูบากาวิชัย พร้อมด้วยพ่อหนานอินทวงศ์ (พ่อขุน ผดุงดอยแดน) ซึ่งได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในหมู่บ้านเชิงดอย (ตลาดอำเภอ) เป็นครอบครัวแรก ได้ร่วมกันอุปถัมภ์ วัดพระธาตุดอยสะเก็ด เรื่อยมา หลังจากนั้นองค์เจดีย์ได้ชำรุดทรุดโทรมลงอีกตามสภาพกาลเวลา ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ขุนบำเพ็ญอาสาราษฎร์ มาทำการบูรณะ องค์เจดีย์อีกครั้ง และในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ พระนิกรประชาเขต ได้มาสร้างสถูปที่บรรจุอัฐิและบูรณะพัฒนาวัดพระธาตุดอยสะเก็ด

ต่อมามีพระครูมงคลคุณาทร (ครูบาหมื่น) เป็นเจ้าอาวาสได้บูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุของวัดนี้ให้เจริญตามลำดับ และได้มีพระใบฎีกา พรหมบาล, พระครูรัตนปัญญาญาณ, พระครูวินิจสุภาจาร, พระใบฎีกา ธวัชชัย ได้มาเป็นเจ้าอาวาสได้มาพัฒนาวัด ให้เจริญเรื่อยมา และได้มีพ่อขุนผดุงดอยแดน แม่คำเกี้ยว เจริญทรัพย์ พระนิกรประชาเขต แม่นางฟองเมฆ รามบุตร พ่อน้อยสิงห์แก้ว แม่นางบัวชุม เจริญทรัพย์ พ่อคำอ้าย แม่จันทร์เป็ง ชัยมงคล พ่อน้อยยุทธ แม่แก้ว พวงสายใจ พ่ออุ้ยเอี๋ยง แม่อุ้ยบุญ สายน้ำตาล พ่อกำนันจู แม่จันทร์ฟอง เจริญทรัพย์ พ่อปลัดแก้ว แม่จันทร์พลอย พรหมขัติแก้ว ลูกหลานญาติมิตร ศรัทธาวัดพระธาตุดอยสะเก็ดทุกคน ได้อุปถัมภ์บำรุงช่วยจรรโลง รักษาวัดให้มีความเจริญมั่นคงตลอดมา

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ทางคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ ได้ส่งพระครูมงคลศีลวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบุพพาราม อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (ปัจจุบัน : ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวิสุทธิคุณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่) มาดำรง ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด และเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ด ได้ยกฐานะของวัดพระธาตดอยสะเก็ดให้เป็น วัดพัฒนาประจำอำเภอดอยสะเก็ด

ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๒๓ ได้ส่งพระมหาพายัพ ฐิตปุญฺโญ น.ธ.เอก, ป.ธ.๔ (ปัจจุบันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระราชา คณะชั้นสามัญ ที่ พระโพธิรังษี (สป.)) มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และได้ฟื้นฟูเป็นสำนักศาสนศึกษา พระปริยัติธรรมแผนกบาลี และนักธรรม-ธรรมศึกษา โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ ค่ายอบรมคุณธรรม โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา(โรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์) ได้ทำการพัฒนาด้านต่าง ๆ ทั้งทางด้านศาสนวัตถุ ศาสน-บุคคล ศาสนธรรม ให้เจริญ รุ่งเรือง จนได้รับยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ และเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ที่มีผลงานดีเด่น ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นวัดอุทยานการศึกษา ของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เชียงใหม่ เขต ๑ และ วัดต้นแบบส่งเสริมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๔๖ และในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เชียงใหม่ เขต ๑ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

(ลำดับเจ้าอาวาส เท่าที่สืบค้นได้)
สำหรับวัดพระธาตุดอยสะเก็ด มีเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันดังนี้

๑. พระอภิวงศ์ (ครูบากาวิชัย) พ.ศ. ๒๔๔๘–๒๔๗๒
๒. พระครูมงคลคุณาทร (ครูบาหมื่น) พ.ศ. ๒๔๗๓–๒๔๘๔
๓. พระใบฎีกา พรหมบาล ป.ธ.๓ พ.ศ .๒๔๘๕–๒๔๘๘
๔. พระครูรัตนปัญญาญาณ (สม ธมฺมธีโร ป.ธ.๔) พ.ศ. ๒๔๘๙–๒๕๐๔
๕. พระมหาเสน่ห์ ปภสฺสโร ป.ธ.๔ ศน.บ. พ.ศ. ๒๕๐๕–๒๕๐๘
๖. พระครูวินิจสุภาจาร (ไสว) พ.ศ. ๒๕๐๙–๒๕๑๔
๗. พระใบฎีกา ธวัชชัย ฐานิสฺสโร พ.ศ. ๒๕๑๕–๒๕๑๘
๘. พระเสน่ห์ รมณียจิตฺโต พ.ศ. ๒๕๑๙–๒๕๒๐
๙. พระครูมงคลศีลวงศ์ (กุศล คนฺธวโร) พ.ศ. ๒๕๒๐–๒๕๒๒ ปัจจุบัน เป็นพระเทพวิสุทธิคุณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่
๑๐. พระโพธิรังษี (พายัพ ฐิตปุญฺโญ ป.ธ.๖ ศน.บ.) ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ด ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๓-ปัจจุบัน และดำรงตำแหน่งทางปกครองคณะสงฆ์เป็นเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถได้โปรดให้ สำนักงานราชเลขาพระราชวัง ในพระองค์ ได้นำเครื่อง อุปโภค-บริโภค ข้าวสารอาหารแห้ง และเครื่องอัฐบริขาร สิ่งของพระราชทาน ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาถวาย แด่พระภิกษุ-สามเณร ที่อาศัยเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ณ วัดพระธาตุดอยสะเก็ด และได้พระบรมราชานุญาตให้วัดพระธาตุดอยสะเก็ด อัญเชิญตราสัญลักษณ์ งานเฉลิม พระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ ในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ มาประดิษฐานบนผ้าทิพย์ พระพุทธมหาปฏิมากรประทานพร เฉลิมพระเกียรติ

อนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ พ.ศ. ๒๕๕๐ พ.ศ. ๒๕๕๑ พ.ศ. ๒๕๕๒ และ พ.ศ. ๒๕๕๓ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงพระราชทานน้ำสรง และผ้าไตรพระราชทาน เพื่อสรงพระบรมธาตุ พระเกศาธาตุวัดพระธาตุดอยสะเก็ด อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

ปูชนียวัตถุของโบราณเก่าแก่ล้ำค่าของวัดพระธาตุดอยสะเก็ดมีมาก อาทิเช่น มีเจดีย์ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ อายุร่วม ๑,๐๐๐ ปี มีพระบรมสารีริกธาตุอันเป็นปูชนียวัตถุอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สักการะเคารพของชาวอำเภอดอยสะเก็ด ทุกปีในเดือน ๘ เป็ง (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖) ทางวัดจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ลงมาจากที่ประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนสรงน้ำ และจะมีปรากฏสิ่งอันเป็นปาฏิหาริย์ทุกครั้ง นอกจากนั้น ยังมีพระพุทธรูปบูชาทองคำ พระพุทธรูปทองสำริด อีกจำนวนมาก เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชาสืบไป.

สถานที่ตั้งและภูมิลักษณะของวัดพระธาตุดอยสะเก็ด

วัดพระธาตุดอยสะเก็ดได้รับการตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๑๕๕ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๑ มีที่ดินเป็นที่ตั้งวัดเนื้อที่ ๑๓๒ ไร่ ๓ งาน ๘๖ ตารางวา ตั้งอยู่ เลขที่ ๓๐๔ หมู่ ๓ ตำบลเชิงดอย ใจกลางอำเภอดอยสะเก็ด สถานที่เป็น ภูเขาสูง ประมาณ ๕๐๐ เมตร(จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ด้านทิศตะวันตก ติดกับตัวตลาดที่ว่าการอำเภอดอยสะเก็ด ทางด้านตะวันออก ติดกับเขาม่อนถ้ำและป่าไม้เบญจพรรณ ทิศเหนือและทิศใต้ ติดกับบ้านหนองบัว บ้านเขิงดอย บริเวณวัดเป็นหินปนดิน และเป็นป่าไม้ ที่ขึ้นตามธรรมชาติ ภูมิลักษณะอากาศ ฤดูร้อนไม่ร้อนจัด เพราะมีลมโชยจากทั้ง ๔ ทิศ ฤดูหนาวไม่หนาวจัดนัก ฤดูฝน มีความร่มรื่นมาก เพราะทางวัดได้อนุรักษ์ต้นไม้เพื่อให้เกิดความร่มเย็นตลอดปี

ความสำคัญของวัด

วัดพระธาตุดอยสะเก็ด เป็นวัดประจำอำเภอ และเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี ๒๕๔๓ เป็นศูนย์รวมจิตใจของพระสงฆ์ ประชาชนอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และพุทธศาสนิกชนทั่วสารทิศ ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

เจ้าอาวาสและจำนวนพระภิกษุ-สามเณร

เจ้าอาวาสชื่อ พระโพธิรังษี (พระมหาพายัพ ฐิตปุญฺโญ) อายุ ๖๓ พรรษา ๓๒ วิทย-ฐานะ น.ธ.เอก, ป.ธ.๖, ศน.บ.(รัฐศาสตร์ฯ) ศศ.ม.(กิตติมศักดิ์), พธ.ม. (กิตติมศัุกดิ์) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ เป็นเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด, เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ด, เจ้าสำนักศาสนศึกษาวัดพระธาตุดอยสะเก็ด ผู้จัดการโรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์

บุคคลากรของวัดพระธาตุดอยสะเก็ด ในปี พ.ศ.๒๕๕๔ มีจำนวนดังนี้.

- พระภิกษุ จำนวน ๔๙ รูป
- สามเณร จำนวน ๕๖ รูป
- ศิษย์และคนอาศัยวัด จำนวน ๑๓ คน

รวมทั้งหมด จำนวน ๑๒๐ รูป/คน

วัดเป็นศูนย์รวมใจบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในปัจจุบัน

๑. เป็นที่ตั้งมูลนิธิแห่งความเมตตาและเอื้ออารีย์ ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอดส์ และ ผู้ได้รับผลกระทบจากเอดส์
๒. เป็นสำนักศาสนศึกษา และ เป็นศูนย์การศึกษาพระปริยัติธรรมอำเภอดอยสะเก็ด มีพระภิกษุ-สามเณรเข้ามาศึกษาเล่าเรียน ทั้ง ๓ แผนก คือ แผนกนักธรรม, แผนกบาลี, พระปริยัติธรรมแผนกสามัญ
๓. เป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เปิดสอน อบรมศีลธรรม วัฒนธรรมพื้นบ้าน แก่เด็ก เยาวชน ในเขตอำเภอดอยสะเก็ด และใกล้เคียง
๔. เป็นที่ตั้งศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ในวัดฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย ให้สามารถไปทำงานได้
๕. เป็นสถานที่อบรมค่ายคุณธรรม อบรมจริยธรรม แก่นักเรียนระดับประถมศึกษา, มัธยมศึกษา, และอุดมศึกษา ตลอดจนถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความสนใจ ในแต่ละปี มีผู้เข้ารับการอบรมประมาณ ๕๒ รุ่น ตลอดปีจะมีนักเรียนผ่านการอบรมจำนวน ๑๒,๐๐๐– ๑๕,๐๐๐ คน
๖. เป็นสถานที่ตั้ง ชมรมผู้สูงอายุอำเภอดอยสะเก็ด และกลุ่มหมอเมืองดอยสะเก็ด เพื่อเป็นสถานที่ทำกิจกรรมพบปะ ของผู้สูงอายุ และผลิตยาสมุนไพรจากภูมิปัญญา
๗. จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และสวนสมุนไพรฯ
๘. จัดเป็นสถานแสดงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน และศูนย์การเรียนรู้ชุมชน
๙. เป็นวัดส่งเสริมสุขภาพของกรมส่งเสริมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ปี ๒๕๔๗
๑๐. เป็นศูนย์เครือข่ายหมอเมือง (แพทย์แผนไทย)
๑๑. เป็นจุดกระจายเสียงวิทยุชุมชนฅนดอยสะเก็ด
๑๒. เป็นสำนักงานเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด

ในส่วนของเจ้าคณะอำเภอดอยสะเก็ด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

๑. พระครูรัตนปัญญาญาณ วัดรัตนปัญญารังสถิตย์ (พ.ศ. ๒๔๓๘–๒๔๗๑)
๒. พระครูมงคลคุณาทร (ครูบาหมื่น) วัดพระธาตุดอยสะเก็ด
(พ.ศ. ๒๔๗๒–๒๔๗๗)
๓. พระครูรัตนปัญญาญาณ (อินตา เกสโล) วัดเชตุพน (พ.ศ. ๒๔๗๘–๒๔๘๘) ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ที่ พระโพธิรังสี
๔. พระครูรัตนปัญญาญาณ (สม ธมฺมธีโร ป.ธ.๔) วัดถาวรรังษี
(พ.ศ. ๒๔๘๙–๒๕๐๕)
๕. พระครูวินิจสุภาจาร (ไสว) วัดศรีชยาราม (พ.ศ. ๒๕๐๕–๒๕๑๔)
๖. พระครูรัตนปัญญาญาณ (แปง อินทวํโส) วัดน้ำแพร่ (พ.ศ. ๒๕๑๕–๒๕๑๗)
๗. พระโพธิรังษี วัดพันตอง (รักษาการฯ พ.ศ. ๒๕๑๘)
๘. พระครูมงคลศีลวงศ์ (กุศล คนฺธวโร) วัดบุพพาราม (พ.ศ.๒๕๑๙–๒๕๓๔)ปัจจุบัน เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวิสุทธิคุณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่
๙. พระโพธิรังษี (พายัพ ฐิตปุญฺโญ ป.ธ.๖ ศน.บ.) วัดพระธาตุดอยสะเก็ด (พ.ศ.๒๕๓๕–ปัจจุบัน)

หมวดหมู่
ศาสนสถาน
สถานที่ตั้ง
วัดพระธาตดอยสะเก็ด
หมู่ที่/หมู่บ้าน 3 บ้านเชิงดอย
ตำบล เชิงดอย อำเภอ ดอยสะเก็ด จังหวัด เชียงใหม่
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
วัดพระธาตุดอยสะเก็ด
บุคคลอ้างอิง พระโพธิรังษี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ด
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอดอยสะเก็ด อีเมล์ ap_vanid03@hotmail.com
หมู่ที่/หมู่บ้าน 3 บ้านเชิงดอย
อำเภอ ดอยสะเก็ด จังหวัด เชียงใหม่ รหัสไปรษณีย์ 50220
โทรศัพท์ 053-865709 โทรสาร 053-865709
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่