พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริสร้างพระราชทานเป็นพระประจำจังหวัด เมื่อ พ.ศ.2508 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ นายช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ปั้นหุ่นพระพุทธนวราชบพิตร ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และทรงพระพุทธลักษณะด้วยพระองค์เองจนพอพระราชหฤทัยแล้ว จึงได้โปรดเกล้าให้เททองหล่อพระพุทธรูป เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2509
พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพุทธรูปปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 23 เซนติเมตร สูง 40 เซนติเมตร ที่บัวฐานด้านหน้าบรรจุพระพิมพ์์พระสมเด็จจิตรลดา ไว้อีกองค์หนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดประดิษฐานไว้ ณ ศาลากลางจังหวัดของทุกจังหวัด และเป็นพระพุทธรูปประจำหน่วยทหาร ประดิษฐานไว้ ณ กองบัญชาการหน่วยทหาร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานพระพุทธวราชบพิตรเป็นพระประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักรไทย ดังนี้
ข้าพเจ้ามาเยี่ยมท่านคราวนี้ได้นำ พระพุทธนวราชบพิตรมามอบให้ท่านด้วย พระพุทธนวราชบพิตรองค์นี้ ข้าพเจ้าสร้างขึ้นเพื่อมอบให้เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด ที่บัวฐาน ข้าพเจ้าบรรจุพระพิมพ์ (พระสมเด็จจิตรลดา) ไว้องค์หนึ่ง เป็นพระ (พระสมเด็จจิตรลดา) ที่ทำขึ้นด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งข้าพเจ้าได้มาจากทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักรมีผงจากองค์พระธาตุศรีสองรัก จังหวัดเลยนี้รวมอยู่ด้วย ข้าพเจ้าถือว่าพระพุทธนวราชบพิตร เป็นที่ตั้งแห่งคุณพระรัตนตรัยอันเป็นที่เคารพสูงสุดและเป็นที่หมายของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศไทย และคนไทยทั้งชาติจึงได้บรรจุพระพิมพ์ (พระสมเด็จจิตรลดา) ที่ทำด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว ให้เป็นพระพุทธรูปสำคัญ และนำมามอบให้ท่านด้วยตนเอง ท่านทั้งหลายจงรับพระพุทธนวราชบพิตรนี้ไว้ เพื่อเป็นสิริมงคลสำหรับจังหวัดและสำหรับตัว เป็นที่ยึดเหนี่ยวของจิตใจ ในการที่จะสมานสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันประกอบความดี และขอให้ระลึกไว้เสมอเป็นนิตย์ด้วยว่า ในการกระทำการงานทั้งปวงนั้น ทุกคนต้องมีความตั้งใจจริงและขยันหมั่นเพียร ประกอบด้วยความอะลุ้มอล่วย ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เมตตามุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต และความสามัคคี ถือเอาประโยชน์ร่วมกัน เป็นจุดประสงค์สำคัญ งานของท่านจึงจะสำเร็จผลได้โดยสมบูรณ์และจะช่วยให้ท่าน สามารถรวมกำลังกัน รักษาความเป็นปึกแผ่นมั่นคง ของจังหวัดของท่าน พร้อมกับพัฒนาให้เจริญรุดหน้าต่อไปในทุก ๆ ทางได้ ขออานุภาพแห่งพระรัตนตรัย พระธาตุศรีสองรัก และพระพุทธนวราชบพิตร จงปกปักรักษาท่านทั้งปวง ให้แผ้วพ้นจากทุกข์และภัยทุก ๆ ประการ บันดาลให้เกิดความสุขความสวัสดี และความสามัคคีอันมั่นคง ให้ทุกคนสามารถประกอบกรณียกิจน้อยใหญ่ในหน้าที่ สำเร็จลุล่วงได้ดังประสงค์ บังเกิดความเจริญรุ่งเรือง แก่จังหวัดเลย และแก่ประเทศชาติยิ่งสืบไป
สำนักพระราชวังได้ประกาศระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับพระพุทธนวราชบพิตรไว้ดังนี้
1. เมื่อจังหวัดใดได้รับพระราชทานไปแล้ว ให้ประดิษฐานพระพุทธรูปนั้นไว้ ณ ที่อันควรในศาลากลางจังหวัด
2. เมื่อทางจังหวัดมีงานพิธีใด ๆ ซึ่งต้องตั้งที่บูชาพระรัตนตรัย ก็ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานเป็นพระบูชาในพิธีนั้น ๆ ทั้งนี้ยกเว้นพิธีที่กระทำในโบสถ์ วิหาร หรือปูชนียสถานใด ๆ ซึ่งมีพระประธานหรือมีปูชนียวัตถุอื่นใดเป็นประธานอยู่แล้ว และยกเว้นพิธีซึ่งต้องใช้พระพุทธรูปอื่นเป็นประธานโดยเฉพาะ เช่น พระพุทธคันธารราษฎร์
3. เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดเพื่อทรงเป็นประธานพระราชพิธีหรือพิธีทางจังหวัดก็ดี ก็ให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระราชพิธีและพิธีนั้น ๆ ทุกครั้ง หากพระราชพิธีหรือพิธีนั้น ๆ กระทำในพระอาราม หรือในปูชนียสถาน ซึ่งมีพระประธานหรือปูชนียวัตถุอื่นใดเป็นประธานอยู่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรไปประดิษฐาน ณ ที่บูชาเป็นต่างหากอีกที่หนึ่ง เพื่อทรงนมัสการ
4. เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ณ จังหวัด ให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรไปประดิษฐานไว้ ณ ที่บูชา เพื่อทรงนมัสการในพลับพลาหรือที่ประทับซึ่งได้จัดไว้ ในกรณีนี้ หากท้องที่ที่เสด็จพระราชดำเนินนั้นห่างไกลจากกศาลากลางจังหวัด และเป็นที่ทุรกันดารไม่สะดวกแก่การคมนาคม หรือการเสด็จพระราชดำเนินนั้นเป็นการรีบด่วน หรือเพียงเป็นการเสด็จพระราชดำเนินผ่าน ทางจังหวัดจะพิจารณาให้งดเสียก็ได้ ตามแต่จะเห็นควร
5. เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ จังหวัด ให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานไว้ ณ ที่บูชา ในพลับพลาหรือในที่ประทับตลอดเวลาที่ประทับแรมอยู่ และให้อัญเชิญกลับไปยังศาลากลางจังหวัดเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว ในการนี้ ให้กองมหาดเล็กปฏิบัติเช่นเดียวกับระเบียบแบบแผนที่มีอยู่แล้วเกี่ยวกับพระชัยนวโลหะประจำรัชกาล
6. หากทางจังหวัดเห็นสมควรจะอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรออกให้ประชาชนได้นมัสการบูชาในงานเทศกาลใด ๆ ก็ให้กระทำได้ตามแต่จะเห็นควร อนึ่ง การปิดทองที่องค์พระพุทธรูปนั้น อาจทำให้พระพุทธรูปเสียความงามไปบ้าง ถ้าหากทางจังหวัดจะประดิษฐานพระพุทธนวราชบพิตรบนฐานซึ่งทำด้วยวัตถุอันอาจปิดทองได้อีกชั้นหนึ่งให้ประชาชนได้ปิดทองได้ ก็จะเป็นการเหมาะสมยิ่งขึ้น
http://th.wikipedia.org