ชื่อ กบไสไม้
ชื่อผู้ครอบครอง ด.ต. พิสิฐ เข็มทอง
ความหมายและความเป็นมา กบ เป็นเครื่องมือช่างไม้สำคัญอีกชนิดหนึ่ง เป็นเครื่องมือแปรรูปไม้ให้ผิวเรียบและได้รูปทรงตามต้องการ ประโยชน์ใช้สอยหลัก ๆ ของกบคือ ไสให้ผิวหรือหน้าไม้เรียบ การเรียกชื่อกบมักเรียกตามรูปร่างและลักษณะการใช้สอยเช่น กบคิ้ว กบโค้ง กบทวาย กบนาง กบบรรทัด กบบังใบ กบบัว กบราง
วัสดุที่ช้ เครื่องมือช่างไม้และเครื่องมือช่างชนิดต่าง ๆ ของช่างไทยนั้น นอกจากจะมีรูปทรงและทำด้วยวัสดุที่เหมาะสมกับการใช้งานแล้ว ยังแสดงถึงความคิดที่แยบยลในการสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ โดยเฉพาะช่างพื้นบ้านที่มักสร้างเครื่องมือใช้เอง ด้วยการเลือกสรรวัสดุเท่าที่หาได้และใช้งานได้ดีมาทำ เช่น การทำกบไสไม้ ช่างจะเลือกไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม่ใช้ไม้เนื้ออ่อน เพื่อให้ใช้งานได้ทนทาน ขณะเดียวกันก็ทำรูปทรงให้สอดคล้องกับการใช้งาน สิ่งเหล่านี้เป็นความคิดพื้นฐานในการออกแบบที่มีอยู่ในตัวช่าง เป็นประสบการณ์ในการทำงานที่หล่อหลอมให้เกิดความคิดในการสร้างรูปแบบต่าง ๆ ประหนึ่งเป็นทฤษฎีการออกแบบที่ศึกษากันในสถาบันการศึกษา เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านจึงเป็นสิ่งสะท้อนภูมิปัญญาของช่างไทย ได้ดีอีกอย่างหนึ่ง
ส่วนประกอบส่วนประกอบของกบมีดังนี้
ตัวกบ แต่เดิมทำด้วยไม้ก่อนจะทำด้วยเหล็ก นิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน เพราะแข็งและเหนียว ตัวกบมีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยม มีขนาดแตกต่างกัน เช่น กบนางขนาดยาวกว่ากบกระดี่ที่มีขนาดเล็กและสั้น ค่อนไปทางท้ายกบเจาะเป็นช่องให้เอียงไปด้านหลังเล็กน้อยสำหรับใส่ใบกบ ด้านหน้าเจาะเป็นช่องให้ขี้กบออกและช่องบังคับลิ่ม เรียก นม โบราณนิยมใช้เหล็กกลม ๆ สอดขวางบังคับลิ่มให้กระชับใบกบ เลยช่องใส่ใบกบทางท้ายเจาะรูกลมหรือรี สำหรับสอดไม้ให้ทะลุออกมาทั้งสองข้างเป็นมือจับ
ใบกบ แผ่นเหล็กบาง ๆ กว้างเท่ากับช่องตัวกบ ยาวมากกว่าความหนาของตัวกบ ปลายด้านหนึ่งเอียงลาดคมคล้ายคมสิ่ว ตอนบนมีช่องทะลุตามความยาวของใบสำหรับใส่สลักเกลียวจากฝาประกับเพื่อยึดให้แน่น
ฝาประกับ แผ่นเหล็กมีความกว้างและหนา ปลายด้านล่างโค้งเข้าหาใบกบ ตอนบนด้านหลังมีสลักเกลียวสำหรับยึดกับช่องใบกบเพื่อขันให้แน่น ฝาประกับจะบังคับไม่ให้ขี้กบติดค้างอยู่ในช่อง ทำให้ไสไม่สะดวก
ลิ่ม แผ่นไม้กว้างเท่าใบกบ ส่วนบนหนากว่าส่วนล่าง ใช้ตอกอัดช่องระหว่างฝาประกับกับนม ให้ฝาประกับกับใบกบขัดกันแน่นอยู่ในตัวกบ
มือจับ ไม้แท่งกลมหรือรี ด้านหนึ่งใหญ่ปลายเรียว ใช้สอดเข้าไปในตัวกบ ให้ยื่นออกด้านข้างทั้งสองข้าง ยาวพอให้จับได้สะดวก
ประโยชน์ใช้สอย แตกต่างกันตามลักษณะการใช้งานและความนิยมของช่าง กบสำหรับใช้งานทั่ว ๆ ไปที่น่าสนใจมีดังนี้
กบล้างไม้ เป็นกบสำหรับไสปรับผิวไม้ให้เรียบครั้งแรก ขณะที่ไม้ยังมีรอยคลองเลื่อยอยู่ เรียกว่า ไสลบคลองเลื่อย
กบกระดี่ ใช้ไสตกแต่งไม้บังใบบานประตูและบานหน้าต่าง ๆ หลังจากใช้กบบังใบไสแล้ว ถ้ายังไม่เรียบจึงใช้กบกระดี่ไสตกแต่งอีกครั้งหนึ่ง กบ
กระดี่ไสได้ทั้งสองด้าน เพราะใบกบมีความยาวเท่ากับความกว้างของตัวกบประมาณ 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 35 เซนติเมตร
กบคิ้ว ใช้สำหรับตกแต่งวงกบหรือกรอบประตูหน้าต่างที่ติดกับลูกฟักให้เป็นเส้นตื้นหรือลึก เพิ่มความงดงาม
กบโค้ง กบที่มีผิวหน้าโค้ง ใช้ไสปรับผิวไม้ให้มีความโค้งเฉพาะด้านในเท่านั้น
กบท้องโอน แบบท้องกลมใช้ไสไม้ที่เป็นราง แบบท้องเว้าโค้งขึ้น ใช้ไสไม้หลังเต่า
กบทวาย ใช้ไสแต่งผิวไม้รูปโค้ง โดยเฉพาะผิวด้านใน ตัวกบและส่วนประกอบทั้งหมดทำด้วยโลหะ
กบนาง ใช้ไสปรับผิวไม้ให้เรียบ หลังจากไสด้วยกบล้างไม้แล้ว เพื่อให้ผิวไม้ที่อาจยังเป็นคลื่น เป็นหลุมหรือขรุขระให้เรียบ ก่อนนำไปแปรรูปเป็นสิ่งต่าง ๆ ต่อไป
กบบรรทัด ใช้ไสปรับผิวไม้ให้เรียบและเป็นเส้นตรงได้ระดับเดียวกันตลอดความยาวของผิวไม้ กบชนิดนี้จึงยาวกว่ากบชนิดอื่น คือยาวประมาณ 45-60 เซนติเมตร
กบบังใบ ใช้สำหรับปรับแต่งขอบของพื้น ฝา เพื่อบากให้เข้ากัน และใช้ไสแต่งวงกบ กรอบบานประตู บานหน้าต่าง และช่องแสง เพื่อเข้าไม้ลูกฟัก หรือแผ่นกระจก หรือช่วยบังคับการเปิดปิดไม่ให้แสงลอดหรือน้ำรั่ว
กบบัว ใช้ไสปรับไม้ให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ตามต้องการ เช่น บัวคว่ำบัวหงาย ครึ่งวงกลม รูปเล็บมือ หน้ากบมีรูปร่างและขนาดตามขนาดของไม้ที่ต้องการไส
กบราง ใช้ไสทำรางตามวงกรอบประตู กรอบหน้าต่าง หรือลูกตั้งลูกนอนของฝาประกน หรือไสทำรางใส่กระจกหรือไม้ลูกฟัก