เครื่องทองเหลืองจะบังติกอหรือเครื่องทองเหลืองปัตตานีฝีมือสกุลช่างปัตตานี
ในอดีต เครื่องทองเหลืองเมืองปัตตานีเป็นหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงด้านความประณีต ความสวยงามและความมีเอกลักษณ์ ทั้งรูปแบบและลวดลายที่ผสมผสานหลายเชื้อชาติ ไม่ว่า ไทย จีน ชวา จาม อินเดีย ปากีสถาน อาหรับ และชาวมลายูท้องถิ่น อีกทั้งกรรมวิธีการผลิตเครื่องทองเหลืองแบบดั้งเดิม ต้องอาศัยเวลา ความอดทน ความชำนาญและความรู้เฉพาะทาง ประกอบกับความประณีตในงานหัตถศิลป์ ความคงทนของเนื้อวัสดุแสดงฐานะและสถานภาพของผู้คือครองอีกด้วย ความนิยมของเครื่องทองเหลืองมลายูมีมากว่าพันปี แต่ได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยมักนำมาทำเป็นเครื่องครัวต่าง ๆ เครื่องเชียน เช่น เชี่ยนหมาก เต้าปูน เครื่องให้แสงสว่าง เช่นตะเกียง หรือเครื่องประดับตกแต่งอาวุธ เช่น กริซ เป็นต้น หัตถกรรมเครื่องทองเหลืองปัตตานีไม่เพียงเป็นที่นิยมของชาวปัตตานีเองและเมืองใกล้เคียง รวมทั้งช่างปัตตานีบางส่วนได้ไปประกอบอาชีพในเมืองอื่น ๆ เช่น นครศรีธรรมราช กลันตัน แต่คนทั่วไปก็ยังเรียกว่า ช่างปัตตานี หรือเครืองทองเหลืองปัตตานี แหล่งผลิตเครื่องทองเหลืองปัตตานีแหล่งใหญ่ ได้แก่ จะบังติกอ ซึ่งเคยเป็นแหล่งศูนย์กลางการปกครองของเมืองปัตตานี ระหว่างปี พ.ศ.2388-2445 ใกล้กับวังเจ้าเมืองปัตตานีในยุคนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เครื่องทองเหลืองเสื่อมความนิยม เพราะวัตถุดิบหายากขึ้น ยุคข้าวยากหมากแพง ประกอบกับเกิดปัญหาจากแหล่งผลิตพื่นที่ผลิตเครื่องทองเหลืองได้ราคาถูกกว่า ปริมาณมากกว่า รวดเร็วกว่าออกมาตีตลาด ช่างท้องถิ่นจึงเลิกสานต่ออาชีพดั้งเดิม และเปลี่ยนอาชีพในทำงานอื่น หัหตถศิลป์งานเครื่องทองเหลืองปัตตานีจึงค่อย ๆ เลือนหายไป ปัจจุบันยังคงหลือผู้ผลิตเพียงครอบครัวเดียว คือครอบครัวของนายดือลาแม ฮะยียูโซ๊ะ ที่ยังคงสืบสานการทำเครื่องทองเหลืองปัตตานีในแบบเดิม แต่รับผลิตเพียงแค่แม่พิมพ์ขนมไข่ ตามที่มีผู้สั่งทำเท่านั้น เครื่องทองเหลืองปัตตานีจึงกลายเป็นเครื่องประดับตามบ้านเรือนที่เจ้าของหรือนักสะสมของเก่าเก็บรักษาไว้ เป็นการบ่งบอกถึงอดีตที่รุ่งเรืองของเมืองปัตตานี พร้อมกับชื่อเสียงที่ขจรไกลในการผลิตเครื่องทองเหลืองที่สำคัญของแหลมมลายู