ลิเกฮูลู หรือ ดิเกฮูลู มาจากคำว่า ลิเก หรือดิเก และฮูลู ท่านผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่าลิเกหรือดีเก มาจากคำว่า ซีเกร์ หมายถึง การอ่านทำนองเสนาะ ส่วนคำว่าฮูลู แปลว่า ใต้หรือทิศใต้ รวมความแล้วหมายถึงการขับบทกลอนเป็นทำนองเสนาะจากทางใต้ ลิเกฮูลู เป็นการละเล่นพื้นบ้านแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับความนิยมมากของชาวไทยมุสลิม มักจะใช้แสดงในงานมาแกปูโละ งานสุหนัด งานเมาลิด งานฮารีรายอ คำว่า "ลิเก" หรือ "ดิเกร์" เป็นศัพท์เปอร์เซีย มีความหมาย ๒ ประการ คือ
๑. เพลงสวดสรรเสริญพระเจ้า ซึ่งเรียกการสวดดังกล่าวนี้ว่า "ดิเกร์เมาลิด"
๒. กลอนเพลงโต้ตอบ นิยมเล่นกันเป็นกลุ่มคณะ เรียกว่า "ลิเกฮูลู" บ้างก็ว่าได้รับแบบอย่างมาจากคนพื้นเมืองเผ่าซาไก เรียกว่า มโนห์ราคนซาไก บ้างก็ว่าเอาแบบอย่างการเล่นลำตัดของไทยผสมเข้าไปด้วย
การตั้งวงคล้ายกับการตั้งวงลำตัดหรือเพลงฉ่อยของภาคกลาง คณะหนึ่งมีลูกคู่ประมาณ ๑๐ กว่าคน ผู้ร้องเพลงและขับร้องมีประจำคณะอย่างน้อย ๒ - ๓ คน และอาจมีนักร้องภายนอกวงมาสมทบร่วมสนุกอีกก็ได้ กล่าวคือ คนดูคนใดนึกสนุกอยากร่วมวงก็จะได้รับอนุญาตจากคณะลิเกคล้ายๆ กับการเล่นเพลงบอกภาคใต้ เวทีแสดงยกสูงไม่เกิน ๑ เมตร โล่งๆ ไม่มีม่านหรือฉาก ลูกคู่ขึ้นไปนั่งล้อมวงร้องรับและตบมือ โยกตัวเข้ากับจังหวะดนตรี ส่วนผู้ร้อง หรือผู้โต้กลอนจะลุกขึ้นยืนข้างๆ วงลูกคู่ ถ้ากรณีมีการประชันกันแต่ละคณะจะขึ้นนั่งบนเวทีด้วยกัน แต่ล้อมวงแยกกัน การแสดงก็ผลัดกันร้องทีละรอบ ทั้งรุกทั้งรับเป็นที่ครึกครื้นสบอารมณ์ผู้ชม