จิตรกรรมฝาผนังในวิหารจตุรมุข วัดพระธาตุดอยสะเก็ด อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เป็นภาพปริศนาธรรม ให้ญาติโยมผู้พบเห็นได้พิจารณาถึงคติธรรมและคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ภายในวิหารจตุรมุข มีภาพปริศนาธรรมทั้งหมด ๑๗ ภาพ แต่ละภาพมีความสวยงาม ทั้งลายเส้น และสีสันสะดุดตา ตามแบบภาพวาดศิลปะร่วมสมัย ทั้งยังสื่อถึงความหมายอย่างลึกซึ้ง
นอกจากความหมายในทางปริศนาธรรมแล้ว ความงดงามของภาพปริศนาธรรมยังทำให้วิหารจตุรมุขแห่งนี้กลายเป็นแกลเลอรี่แสดงภาพจิตรกรรมฝาผนังแนวโมเดิร์นไปโดยปริยาย ให้ผู้ที่ชื่นชอบในศิลปะแวะเวียนไปสัมผัสอย่างใกล้ชิด ภาพปริศนาธรรมแนวโมเดิร์นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย พระมหาสงวน ภัททจิตตโต รองเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ด เล่าถึงที่มาของภาพปริศนาธรรมแนวใหม่ว่า ราว พ.ศ.๒๕๓๔ ท่านเจ้าคุณพระโพธิรังษี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ด มีความต้องการให้ญาติโยมและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาทำบุญ ได้ข้อคิดและคติธรรมติดตัวติดใจกลับบ้าน โดยไม่ต้องใช้เวลาในการบรรยายธรรมให้มากนัก จึงหารือกับ "ชัยวัฒน์ วรรณานนท์" ศิลปินอิสระ ผู้เคยบวชเรียนและเป็นลูกศิษย์ของท่านพุทธทาสภิกขุ
ภายหลังได้ข้อสรุปว่า จะวาดภาพปริศนาธรรมตามแบบศิลปะร่วมสมัย โดยหลีกเลี่ยงการสื่อความหมายการเอาชนะมารในแบบ "บุคลาธิษฐาน" ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นภาพมารที่ปรากฏในรูปที่ชัดเจน เพื่อให้เข้าใจง่าย เช่นที่ปรากฏในวัดอื่นๆ แต่ภาพปริศนาธรรมที่สร้างขึ้น จะใช้การสื่อความหมายแบบ "ธรรมาธิษฐาน" ซึ่งอธิบายถึงการเอาชนะมาร ในความหมายของกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง โดยมีธรรมะเป็นที่ตั้ง หรือที่เรียกว่าเอาชนะมารด้วยธรรม และด้วยใจของตนเอง
จากนั้น "ชัยวัฒน์ วรรณานนท์" จึงเริ่มลงมือวาดภาพ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณ โดยเฉพาะค่าสีจาก "ธีรศักดิ์ ไพโรจน์สถาพร" คหบดีชาวจังหวัดนครปฐม โดยใช้งบประมาณทั้งหมด ๒.๔ ล้านบาท และใช้เวลากว่า ๔ ปี จึงแล้วเสร็จทั้ง ๑๗ ภาพ
ทั้งนี้ พระมหาสงวน ได้ยกตัวอย่างภาพปริศนาธรรมทุกภาพ สื่อสารความหมายทางคติธรรมคำสอนอย่างลึกซึ้ง อาทิ ภาพ "พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า" สื่อถึงการสร้างพระพุทธรูปในสมัยโบราณ มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน ไม่ให้เผลอทำชั่ว ผิดศีลธรรม แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ความเชื่อหรือคติในการสร้างพระพุทธรูปก็เลือนหาย ทำให้คนบางคนมองไม่เห็นค่าขององค์พระพุทธรูป ภาพนี้จึงสื่อความหมายว่า "พระพุทธเจ้า" ที่แท้จริง คือ ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ซึ่งก็คือสาระของการกราบไหว้พระพุทธรูปที่แท้จริง
ภาพ "ผู้เข้าถึงสัจธรรมย่อมพ้นอารมณ์ที่ใฝ่หา" อธิบายถึงเรื่องไตรวัฏฏ์ วังวน หรือวงจร ๓ วน ของปฏิจจสมุปบาท ซึ่งหมุนเวียนสืบทอดต่อๆ กันไป ทำให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิด หรือวงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม วิบาก แทนความหมายด้วยรูปวงกลม ทั้งสามที่อยู่บนเรือนแก้ว ผู้ที่จะพ้นวัฏฏะทั้ง ๓ ได้นั้น ได้แก่พระอริยบุคคลผู้ได้ทำลายวงแห่งวัฏฏะสงสารได้เป็นที่เรียบร้อยแล้วเท่านั้นเอง ส่วนบุคคลนอกจากนี้ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีที่สิ้นสุด
“ภาพปริศนาธรรมได้รับความสนใจจากพุทธศาสนิกชน รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ แวะเวียนมาเข้าชมไม่ขาดสาย และเพื่อให้ผู้เข้าชมได้เข้าถึงความหมายที่แท้จริงของแต่ละภาพ ทางวัดจึงได้จัดวิทยากรคอยอธิบายภาพ แต่ในตอนนี้ ยังขาดแคลนวิทยากรภาษาอังกฤษ เนื่องจากต้องใช้ภาษาให้เหมาะสมกับความหมายอันลึกซึ้ง ซึ่งวิทยากรจะต้องใช้ภาษาให้ตรงความหมาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากที่สุด” พระมหาสงวน กล่าวทิ้งท้าย
ตำนานการสร้างวัด
วัดพระธาตุดอยสะเก็ด เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๕๕ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๑ ตามตำนานได้บันทึกประวัติตำนานวัดพระธาตุดอยสะเก็ดไว้ว่า
ในสมัยพุทธกาล เมื่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมอันวิเศษแล้ว ได้นำเอาธรรมะออกเผยแผ่แก่ชาวชนบทน้อยใหญ่ในชมพูทวีป จนได้มีผู้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมเป็นจำนวนมาก
ในกาลนั้นแล พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์มาปรากฏกายทิพย์ ณ บนดอยแห่งนี้
ขณะนั้นได้ทอดพระเนตรไปทางทิศใต้ ได้พบหนองบัวอันกว้างใหญ่ไพศาล มีดอกบัวมากมาย ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาลูกเดียว ซึ่งในหนองน้ำแห่งนี้ เป็นที่อยู่ของพญานาคสองสามีภรรยา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จมาประทับอยู่บนภูเขาลูกนั้น และทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีให้พญานาคสองสามีภรรยา ซึ่งกำลังหากินอยู่ในบริเวณหนองน้ำแห่งนั้นได้เห็น
พญานาคทั้งสองได้เห็นเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงได้แปลงกายเป็นมนุษย์ เก็บดอกบัวในหนองน้ำนำไปถวายแด่พระพุทธองค์เป็นพุทธบูชา พระองค์ทรงรับเอาดอกบัวแล้วจึงทรงแสดงธรรมโปรด และประทานพระเกศาธาตุแก่พญานาคคู่นั้น
พญานาคจึงได้อธิษฐานสร้างเจดีย์หิน แล้วนำเอาพระเกศาธาตุบรรจุประดิษฐานไว้บนดอยแห่งนี้
ต่อมาได้มีนายพรานผู้แสวงหาของป่า ได้มาพบเห็นเจดีย์มีลักษณะสวยงาม จึงเกิดอัศจรรย์ใจ แล้วได้นำเอาก้อนหินมาก่อเป็นรูปเจดีย์ขึ้นอีก ตกกลางคืนได้นิมิตฝันว่า เจดีย์ที่ตนพบนั้นเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้บอกกล่าวชักชวนประชาชนในแถบนั้นให้ขึ้นไปสักการบูชา และเรียกชื่อภูเขาแห่งนี้ว่า “ดอยเส้นเกศ” บ้าง ทั้งนี้เพราะ คำว่า “ภูเขา” หรือ”เขา” ในภาษาพื้นเมืองนั้นเรียกว่า “ดอย”
อย่างไรก็ตาม มีผู้สันนิษฐานว่า คำว่า “ดอยสะเก็ด” น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “ดอยเส้นเกศ” หรืออีกนัยหนึ่ง พญานาคได้สละเกล็ด จำแลงกายเป็นมนุษย์ จึงเรียกว่า “ดอยสละเกล็ด” และได้เพี้ยนมาเป็น “ดอยสะเก็ด”
จากนั้นต่อมาได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งนามว่า “ครูบาเก๋” จากอำเภอเมืองน่าน มาสร้างวิหารและบูรณะเจดีย์ พร้อมทั้งสถาปนาขึ้นเป็นวัด เรียกว่า “วัดพระธาตุดอยสะเก็ด”
ต่อมาได้มีชาวบ้านอาศัยอยู่ในเขตเชิงดอย และใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก ทางราชการจึงได้จัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอ โดยใช้ชื่อว่า “อำเภอดอยสะเก็ด” ตามภาษาเรียกของชาวบ้าน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๕ เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน “ภาพปริศนาธรรมที่สร้างขึ้น จะใช้การสื่อความหมายถึงการเอาชนะมาร ในความหมายของกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง โดยมีธรรมะเป็นที่ตั้ง หรือที่เรียกว่าเอาชนะมารด้วยธรรม และด้วยใจของตนเอง”