ยี่โถเป็นไม้พุ่มสูง เปลือกของลำต้นมีสีเทาเรียบ เมื่อตัดหรือเด็ดจะมีน้ำยางไหลออกมา ใบ เป็นใบเดี่ยวรูปร่างรี ปลายและโคนใบแหลม ขอบใบเรียบไม่มีจัก หนาแข็ง มีสีเขียวเข้ม ก้านใบสั้น ออกตามข้อของลำต้น ดอกมีสีชมพู ขาว ออกตามปลายของยอดลำต้นเป็นกระจุกหรือช่อ รูปร่างคล้ายกรวยหรือปากแตร เวลาบานกลีบจะมีกลิ่นหอม ดอกยี่โถสามารถออกดอกได้ทั้งปี ผลเกิดเมื่อดอกมีการผสมเกสรและร่วงหลุดไป จะเกิดผลเป็นฝัก 2 ฝัก ต่อ 1 ดอกยี่โถ 1 ดอก เมล็ดลักษณะคล้ายเส้นไหม
การปลูกยี่โถสามารถปลูกได้ทุกที่เนื่องจากขึ้นได้ในสภาพดินทุกชนิดได้ดี โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือการปักชำกิ่ง
ประโยชน์/โทษของยี่โถ
ในด้านสมุนไพรนั้น เนื่องจากน้ำยางของยี่โถตามส่วนต่างๆ ของลำต้นเป็นพิษต่อสัตว์และมนุษย์ จึงนำมาใช้ประโยชน์ทางยาได้จำกัดมาก มีรายงานว่าแพทย์แผนไทยนำใบยี่โถมาปรุงเป็นยาบำรุงหัวใจ ขับชีพจรให้เดินเป็นปกติ แต่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะมีรายงานว่าผู้ที่กินใบยี่โถเข้าไปจะเกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตาพร่า มองไม่ชัด เพ้อคลั่ง หัวใจเต้นอ่อน ความดันเลือดลดลง อาจเสียชีวิตได้ แม้แต่น้ำผึ้งจากดอกยี่โถก็ยังเป็นพิษด้วย ใบยี่โถใช้เป็นยาเบื่อหนู และยาฆ่าแมลงได้
ส่วนที่ใช้เป็นยาดอก ผล ใบ
สรรพคุณทางยา
ผลขับปัสสาวะ
ดอกแก้อักเสบ แก้ปวดศีรษะ
ใบใช้เป็นยารักษาโรคหัวใจ (มีความเป็นพิษสูงต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง)